MSN on May 18, 2019, 11:07:37 AM
ข่าวประชาสัมพันธ์ ตรวจเช็ก 4 เรื่องไทรอยด์ที่ควรรู้







โรคไทรอยด์...โรคของต่อมไร้ท่อที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ หลายคนอาจรู้จักโรคไทรอยด์แต่ไม่ได้ใส่ใจมากนักเพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ที่น่าสนใจคือ หลายคนไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคไทรอยด์! ซึ่งหาก รู้ตัวเร็ว รักษาเร็ว ย่อมช่วยให้รับมือได้ทันท่วงทีและดูแลรักษาสุขภาพได้ถูกต้องในระยะยาว เนื่องในวันไทรอยด์โลก (World Thyroid Day 2019) ที่ตรงกับวันที่ 25 พฤษภาคมของทุกปี การตระหนักและรู้เท่าทันคือสิ่งที่ไม่ควรละเลย

นพ.ณัฐนนท์ มณีเสถียร อายุรแพทย์โรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง ต่อมไทรอยด์ ทำหน้าที่ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด ส่งไปตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของต่อมใต้สมอง(Pituitary gland) และต่อมไฮโปธาลามัส(Hypothalamus) โดยร่างกายจะมีระบบควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์เพื่อรักษาระดับไทรอยด์ฮอร์โมนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะความสำคัญของไทรอยด์ฮอร์โมนคือ การกระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายทำงาน เช่น หัวใจ สมอง นอกจากนี้ ยังควบคุมระบบการเผาผลาญของเซลล์ต่างๆ  รวมถึงระดับไขมันในเลือด ระบบย่อยอาหาร ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อ และมีผลต่อความแข็งแรงของผิวหนัง ผม เล็บ เมื่อมีความผิดปกติของไทรอยด์เกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกายตามมาได้

4 เรื่องไทรอยด์ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ควรรู้ คือ 1)อุบัติการณ์ของโรคไทรอยด์ในปัจจุบัน ยิ่งในพื้นที่ที่มีการขาดไอโอดีนมักพบว่า มีคนไข้เกิดคอพอกมากขึ้น ส่วนในพื้นที่ที่มีการบริโภคไอโอดีนเพียงพอ ส่วนใหญ่จะพบอาการโรคไทรอยด์ในกลุ่ม Autoimmune Disease ซึ่งเป็นสาเหตุของทั้งไทรอยด์เป็นพิษหรือไทรอยด์ทำงานต่ำ และมักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 4 : 1  2)ภาวะนอนไม่หลับกินไม่อิ่มแสดงว่าเป็นโรคไทรอยด์ อาการของโรคไทรอยด์จะแตกต่างกันตามแต่ละโรคที่เป็น เช่น ถ้ามีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปจะมีอาการท้องผูก ขี้หนาว เหนื่อยง่าย เพลีย น้ำหนักเพิ่ม ถ้าไทรอยด์ทำงานมากเกินไปจะมีอาการใจสั่น  มือสั่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด หิวบ่อย เป็นต้น 3)ไทรอยด์ป้องกันได้หรือไม่ สำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคควรมีการเพิ่มการบริโภคไอโอดีน เช่น การใช้เกลือไอโอดีนในการปรุงอาหาร จะเป็นการป้องกันการเกิดคอพอกได้ หรือการรับประทานอาหารทะเลให้พอเพียง ส่วนการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือน้อยเกินไปยังไม่มีวิธีป้องกันโรค เพราะฉะนั้นถ้าคนไข้มีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคไทรอยด์ควรมาเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัยไทรอยด์ฮอร์โมน 4)อย่าละเลยตรวจเช็กไทรอยด์ ในคนที่มีอาการแสดงดังต่อไปนี้ควรเข้ารับการตรวจระดับไทรอยด์ฮอร์โมน อาทิ คอโตขึ้น คลำเจอก้อนบริเวณคอด้านหน้า มีอาการอันเนื่องมาจาก ไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Hypothyroidism) เช่น เหนื่อยง่าย เพลียง่าย ขี้หนาว  ท้องผูก น้ำหนักขึ้นง่าย หรือ มีอาการไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Hyperthyroidism) เช่น มือสั่น ใจสั่น น้ำหนักลดลง โดยที่ยังทานอาหารเป็นปกติหรือมากกว่าปกติ วิตกกังวล หงุดหงิดมากกว่าปกติ ตาโปนโตกว่าปกติ คอโตขึ้น ลำไส้เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ขับถ่ายบ่อยขึ้น เหงื่อออกมาก

นพ.ณัฐนนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันไทรอยด์โลก ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคไทรอยด์ที่มีผลกระทบต่อร่างกายหลายอย่างโดยที่บางคนอาจมองข้ามไป เช่น ภาวะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น หรือขี้เกียจ บางคนอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วคนนั้นอาจมีภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ เพราะภาวะไทรอยด์สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยแม้ในเด็กแรกเกิดก็มีความเสี่ยงอาจมีภาวะไทรอยด์ได้” การสังเกตและใส่ใจสุขภาพตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว