news on March 17, 2019, 01:16:02 PM
สวทช. จัดสัมมนาพัฒนานักออกแบบรุ่นใหม่พร้อมสร้างเครือข่าย อุตสาหกรรมออกแบบวงจรรวมนำประเทศไทยสู่ Thailand 4.0


พิธีเปิดการสัมมนา Thai Microelectronics Seminar 2019


ดร.นิภาพรรณ กลั่นเงิน และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย


(14 มีนาคม 2562 )กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดสัมมนา “Thai Microelectronics Seminar 2019”ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวมเพื่อสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการออกแบบวงจรรวม เป็นเวทีพัฒนานักออกแบบรุ่นใหม่ และสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวม (IC Design) ของประเทศไทยพร้อมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาครัฐกว่า 200 คน พบปะผู้เชี่ยวชาญและบริษัทชั้นนำด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ตั้งเป้าวางโรดแมปเริ่มต้นสร้างบุคลากร ก่อนจะรวมตัวเป็นConsortium หรือกิจการค้าร่วม พร้อมหนุนคนรุ่นใหม่สู่สตาร์ทอัพ IC Design ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์และการออกแบบวงจรรวม นำประเทศไปสู่ Thailand 4.0


ดร.นิภาพรรณ กลั่นเงินหัวหน้าโครงการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวมศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) เนคเทค-สวทช.
ระบุว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นเสาหลักสำคัญของภาคส่งออกไทย ปัจจุบันมีมูลค่าถึงร้อยละ 24 ของรายได้ส่งออก ติด 1 ใน 15 ของโลกแต่ส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำสร้างมูลค่าเพิ่มได้ต่ำ เน้นลงทุนกระบวนการผลิตมากกว่าการทำวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ แม้จะพัฒนากระบวนการและสั่งสมเทคโนโลยีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและผู้ผลิตบางส่วนได้เพิ่มศักยภาพด้านออกแบบเพื่อยกระดับจากการผลิตแบบ OEM เป็นODM ที่มีการออกแบบและพัฒนาสินค้าด้วยตนเองมากขึ้น แต่ยังถือเป็นส่วนน้อย ไม่เพียงพอต่อการช่วยผลักดันให้ประเทศไทยก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

“ในการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมุ่งเน้นเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้วยการสร้างนวัตกรรมบนระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ที่ให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้การวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับไปสู่อุตสาหกรรมระดับต้นน้ำ ได้แก่ การออกแบบวงจรรวม (IC Design) การผลิตเวเฟอร์วงจรรวม (Wafer Fabrication) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุตสาหกรรมกลางน้ำขั้นสูง เช่น การบรรจุภัณฑ์วงจรรวม (IC Packaging) และการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งสามารถสร้างงานและรายได้ขั้นสูง เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน โดยโครงการตั้งเป้าวางIC Design Roadmap ในเฟสแรกจะเน้นพัฒนาคนก่อนจากนั้นจะรวมตัวให้เกิดเป็น consortium เพื่อที่จะวางโรดแมปในระยะยาวพร้อมส่งเสริมให้เกิดโปรเจคท์ IC Design ที่สามารถตอบโจทย์ประเทศจากการรวมตัวครั้งนี้รวมถึงจะสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพด้านออกแบบวงจรรวมขึ้นมา ซึ่งในการออกแบบและผลิตจะแยกกัน เนื่องจากคนออกแบบจะเป็นส่วนหนึ่ง คนผลิตเป็นอีกส่วนหนึ่งได้ จุดนี้สตาร์ทอัพจะใช้เป็นช่องทางเข้าสู่วงการได้คาดจะเกิดในอีก 2-3 ปีข้างหน้า วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคส่วนมารวมตัวกัน”ดร.นิภาพรรณ กลั่นเงิน กล่าว


ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. กล่าวว่า อุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น การแพทย์ หุ่นยนต์ ยานยนต์ การเกษตร อาหาร และพลังงาน เป็นต้น ซึ่งSmart Electronics หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะต่างๆ จะเข้ามามีบทบาทยิ่งขึ้นอาทิ IoT Device เซนเซอร์ ซอฟต์แวร์ซึ่งการจะสร้างความเข้มแข็งและมุ่งขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0 ต้องเน้นในเรื่องการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม (Designand Innovate) รวมถึงต้องสร้างให้เกิดระบบนิเวศของอุตสาหกรรม Fabless ที่มีสัดส่วนของการออกแบบวิจัยและพัฒนามากกว่าการรับจ้างผลิตเพียงอย่างเดียวเช่นที่ผ่านมาด้วยการอาศัยความร่วมมือของทั้ง 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ที่จะยกระดับเป็นผู้ผลิตที่มีการออกแบบและพัฒนาด้วยตนอง ภาคการศึกษา ที่ช่วยกันถ่ายทอดองค์ความรู้ และภาครัฐ ที่เป็นรากฐานสำคัญสนับสนุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนา ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น พร้อมสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น และการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งอาจรวมตัวเป็นเครือข่ายหรือConsortium เพื่อผลักดันประเทศไทยให้เกิดระบบนิเวศ IC Design Ecosystem ต่อไป


ด้านผู้ประกอบการนายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (SIC) กล่าวเสริมว่าในการผลักดันอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ควรเน้นสร้างให้เกิดคลัสเตอร์ของ IC Design ที่รวมตัวผู้ประกอบการอย่างเป็นทางการ เพื่อให้บุคลากรหรือนักศึกษาที่มีความสนใจด้านนี้มีอาชีพหลังจบ และสามารถต่อยอดความคิดและนวัตกรรมที่เขาฝันจะทำได้ จุดนี้ทุกภาคส่วนทั้งเอกชนและรัฐบาลต้องจับมือร่วมกัน เพื่อบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเป็นสตาร์ทอัพในอนาคตในเรื่องของ design รวมถึงสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศของประเทศด้วยการมีโจทย์หรือสร้างอุปทานของการพัฒนาในประเทศได้เอง ตลอดจนสนับสนุนในเรื่องทุนหรือfunding ต่างๆ เหล่านี้จะช่วยให้สตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการที่เข้ามาสู่ในวงการช่วงเริ่มต้นสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และสามารถเดินหน้าการออกแบบวงจรรวมให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์จริงได้ต่อไป

ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานจากภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐกว่า 200 คน ประกอบด้วยอาจารย์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และฟิสิกส์ ภาคเอกชน ตลอดจนบุคลลทั่วไปที่สนใจด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับทราบและเข้าใจในอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์และการออกแบบวงจรรวม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรคนรุ่นใหม่ที่เป็นระดับนักศึกษามีความสนใจเข้าร่วมทำงานในอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวมมากขึ้น รวมถึงช่วยผลักดันให้เกิดนักออกแบบรุ่นใหม่และสร้างเครือข่ายอุตสาหกรรมการออกแบบวงจรรวมของประเทศ ภายในงานนอกจากปาฐกถาและเสวนาเกี่ยวกับการร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้วยอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ยังพบกับนิทรรศการผลงานวิจัยด้านการออกแบบวงจรรวม โดยหน่วยงานภายใต้ สวทช. มหาวิทยาลัยชั้นนำ และภาคเอกชน อาทิ ผลงาน Chipเพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยนักศึกษาปริญญาโทห้องวิจัยด้านการออกแบบวงจรรวมและระบบบูรณาการพลังงานต่ำแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(KLICS)เป็นต้น





ผลงาน Chip เพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยนักศึกษา ป.โท KLICS


การเสวนาภายในงานสัมมนา




บรรยากาศการสัมมนา
« Last Edit: March 17, 2019, 01:21:23 PM by news »