ขสมก.ปิดข่าวยกเลิกสัญญา “อีทิคเก็ต”
จับตาเตะถ่วงขึ้นบัญชีดำ “ช ทวี” ทิ้งงาน
เรื่องราวฉาวโฉ่ภายใน ขสมก.ยังคงมีปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดบอร์ด ขสมก. ปิดข่าวเงียบหลังยกเลิกสัญญาโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็คทรอนิคส์พร้อมอุปกรณ์ มูลค่ากว่า 1.6 พันล้าน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากที่ผู้บริหาร ขสมก.ใช้ความพยายามซื้อเวลานานข้ามปีดิ้นรนทุกช่องทางโอบอุ้มช่วยเหลือเอกชนรายนี้เพื่อไม่ให้ถูกยกเลิกสัญญาและถูกขึ้นบัญชีดำโทษฐานเป็นผู้ทิ้งงานและจะกลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหมดโอกาสยื่นเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐต่อไปได้อีก ล่าสุดข่าวการยกเลิกสัญญาดังกล่าวถูกเปิดเผยขึ้นโดยเพจดัง “สืบจากข่าว” ที่เจาะลึกเกาะติดความเคลื่อนไหวการจัดซื้อจัดจ้างของ ขสมก.ทุกโครงการมาตลอด โดยนายสุวิตร บุตรพริ้ง บก.สืบจากข่าวกล่าวว่า “เมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีความเคลื่อนไหวของบริษัทเอกชนคู่สัญญาของ ขสมก.ออกมาเคลื่อนไหวในทำนองเตรียมรับมือหากถูก ขสมก.ยกเลิกสัญญาเช่นอาจจะฟ้องร้อง ขสมก.ถ้าถูกยกเลิกสัญญาทั้งหมดทั้งอีทิคเก็ตและแคชบ็อกเพราะได้ส่งมอบอุปกรณ์บางส่วนและ ขสมก.ได้นำไปใช้ประโยชน์แล้ว หรือถ้ายกเลิกเฉพาะแคชบ็อก ก็ไม่เป็นไรเพราะเคยพูดคุยหาทางออกร่วมกับผู้บริหาร ขสมก.แล้ว” บก.สืบจากข่าว กล่าวต่อไปว่า น่าสงสัยที่จู่ๆเอกชนออกมาให้สัมภาษณ์ทำไมในเมื่อสาธารณชนรู้กันมาตลอดว่า อุปกรณ์เก็บค่าโดยสารทั้ง 2 ประเภทของ บริษัท ช ทวี ไม่สามารถใช้งานได้จริงและไม่สามารถส่งมอบงานได้เลย โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่คณะกรรมการตรวจรับมีมติไม่รับมอบตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ส.ค.เหตุเพราะไม่เคยใช้งานได้จริงแม้แต่ครั้งเดียว และพร้อมใจลงชื่อไม่รับมอบเป็นเอกฉันฑ์นำเสนอ รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.ให้ยกเลิกสัญญาและขึ้นบัญชีดำตามระเบียบแต่เรื่องกลับเงียบทั้งๆที่หมดสัญญาไปนานแล้ว เป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า ผู้บริหาร ขสมก.มีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตและเอื้อผลประโยชน์ให้กับเอกชนผู้รับสัญญา จากนั้นได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวภายใน ขสมก.แจ้งว่าช่วงบ่ายวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ด ขสมก.มีมติยกเลิกสัญญาโครงการดังกล่าวทั้งฉบับ เพราะหมดหนทางที่จะตรวจรับงานหรือปล่อยผ่านไปได้ เพราะจะขัดต่อ พรบ.จัดซื้อจัดจ้างมาตรา 109 ถ้าไม่ยกเลิกสัญญาเจ้าหน้าที่รัฐก็จะต้องถูกตั้งหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ได้ ถึงแม้จะเสี่ยงต่อการถูกเอกชนฟ้องร้องในภายหลังก็ตาม แต่ก็น่าแปลกใจมติยกเลิกสัญญาดังกล่าวระหว่า ขสมก.กับ ช ทวี กลับไม่ปรากฏเป็นข่าวเลยทั้งๆที่ความล้มเหลวของโครงการนี้สร้างความเสียหายให้แก่ ขสมก.และภาครัฐอย่างใหญ่หลวงแต่เรื่องกลับเงียบ นายสุวิตรกล่าวต่ออีกว่า การปกปิดข่าว ขสมก.ยกเลิกสัญญากับเอกชนรายนี้ ขอให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องจับตากันให้ดี เพราะ ขสมก.คงกลัวผลกระทบที่จะเกิดกับการรับมอบรถโดยสาร NGV. ล็อตที่เหลือที่จะส่งมอบกลางเดือนมีนาคมเพราะเอกชนรายดังกล่าวยังเป็นคู่สัญญากับ ขสมก.อีกและยังมีผลผูกพันสัญญาว่าจ้างงานซ่อมบำรุงรถ NGV. 489 คันต่อไปอีก 10 ปี หากปล่อยให้ข่าวหลุดรั่วออกไปปัญหาจะตามมาอีกหลายเรื่องเช่น เรื่อง 2 มาตราฐานกรณีการยกเลิกสัญญาจัดซื้อจัดจ้างรถโดยสาร NGV.489 คันกับบริษัทเบสทรินที่ถูก นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.ในขณะนั้นฉีกสัญญาทิ้งทั้งๆด้วยเหตุผลส่งมอบรถให้ ขสมก.ไม่ทันเวลาตามกำหนดในสัญญาไม่ถึง 14 วันอีกทั้งๆที่มีบันทึกข้อตกลงการส่งมอบกับคณะกรรมการตรวจรับใหม่เรียบร้อยแล้ว แต่ในครั้งนั้นนายสมศักดิ์ ตัดสินใจยกเลิกสัญญาเองโดยไม่นำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ดแถมสั่งอายัดเงินค้ำประกันมูลค่า 330 กว่าล้านเข้า ขสมก.ตามด้วยประกาศให้บริษัทเบสทรินหมดอนาคตตกเป็นผู้ทิ้งงานถูกกรมบัญชีกลางประกาศขึ้นบัญชีดำหมดสิทธิ์เข้าร่วมประมูลกับภาครัฐในทันที ต่างจากกรณีของ บริษัท ช ทวี ราวฟ้ากับเหว ที่ ขสมก.ใช้สารพัดข้ออ้างหาเหตุช่วยเหลือเอกชนรายนี้แม้กระทั่ง บอร์ด ขสมก.มีมติยกเลิกสัญญาแล้ว นายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนายการ ขสมก.กับเงียบเป็นเป่าสากพยายามปิดข่าว ตนจึงขอให้สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องจับตาต่อไปว่า นายประยูร จะอายัดเงินค้ำประกันและประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัท ช ทวี หรือไม่? เพราะถ้าไม่ตนเชื่อว่า คงมีเอกชนหรือบริษัทฯจองกฐินจ้องร้องเรียน ขสมก.หลายรายอย่างแน่นอน ที่สำคัญผู้บริหาร ขสมก.ต้องออกมาตอบให้ได้ว่า ยังจะจ้างบริษัทนี้บริษัทที่ไร้ความสามารถถูกขึ้นบัญชีดำเป็นคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างและซ่อมบำรุงรถ NGV.489 คันผูกพันอีก 10 ปีต่อไปได้อย่างไร?และการส่งมอบรถกับการตั้งเบิกจ่ายค่ารถ NGV. ล็อตนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร? หรือใช้วิธีเตะถ่วงซื้อเวลาโดยการปิดข่าวเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ นายวีระศักดิ์ ยอดอาจ นักกฏหมายผู้ชำนาญด้านการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐและกฏหมายปกครอง ให้ความเห็นว่า เมื่อเอกชนคู่สัญญากับภาครัฐไม่สามารถปฏิบัติส่งมอบงานได้ตามสัญญานั่นหมายความว่า ก่อเกิดความเสียหายให้แก่คู่สัญญาและภาครัฐอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กรณีนี้อ้างถึงข้อกฏหมายที่เกี่ยวข้องตาม พรบ.จัดซื้อจัดจ้างมาตรา 109 หมายถึงผู้ประมูลงานรัฐแล้วไม่ปฏิบัติตามสัญญา (3) เมื่อปรากฏว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาของหน่วยงานรัฐ กระทำการอันมีลักษณะเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตให้ถือว่าเป็นผู้ทิ้งงานและกลายเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการยื่นเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐต่อไป” หากกรณีที่ ขสมก. บอกเลิกสัญญาแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะต้องออกคำสั่งการขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงานบกพร่องจนก่อเกิดความเสียหายต่อรัฐ ไม่สมควรที่จะมาค้าขายกับรัฐจนกว่าจะมีการปลดหรือถอดชื่อออกจากบัญชีดำ สำหรับโครงการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็คทรอนิคส์พร้อมอุปกรณ์ ขสมก.ลงนามสัญญาจัดจ้างบริษัท ช ทวี เมื่อ15 มิ.ย. 60 ให้ดำเนินการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) รวมทั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) หรืออีทิคเก็ตบนรถเมล์จำนวนทั้งหมด 2,600 คัน โดย ขสมก.จะจ่ายค่าเช่าเป็นระยะเวลา 5 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,665 ล้านบาท มีกำหนดระยะเวลาการส่งมอบติดตั้งระบบ 100 คัน ระยะเวลา 120 วัน 700 คัน ระยะเวลา 180 วัน และ 1,800 คัน ระยะเวลา 360 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา ครบกำหนดการส่งมอบทั้งหมด 2,600 คัน ในวันที่ 10 มิถุนายน 2561ที่ผ่านมา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่าทั้งการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญ (Cash Box) รวมถึงเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ไม่เคยผ่านการตรวจรับจากคณะกรรมการตรวจรับ สร้างความเสียหายให้แก่ ขสมก.และประชาชนผู้ใช้รถโดยสาร แต่ ขสมก. ยังยื้อเวลาทั้งที่เลยกำหนดส่งมอบตามที่ระบุในสัญญามาเป็นระยะเวลานานข้ามปี