activity on February 27, 2019, 03:07:14 PM
เทรนด์การแบ่งปันยานพาหนะร่วมกัน-ระบบอัตโนมัติ พลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2573

•   ขนาดของกำลังแรงงานในสายการประกอบ ตัวถัง และสีรถยนต์จะลดลงกว่าครึ่ง หลังระบบอัตโนมัติและยานพาหนะประเภทใหม่ถูกผลิตขึ้น

•   บทบาทของพนักงานที่ดูแลระบบโลจิสติกส์ภายในพื้นที่หน้างานจะลดลงประมาณ 60% หลังถูกแทนที่ด้วยพาหนะลำเลียงอัตโนมัติ

•   ความต้องการวิศวกรข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในโรงงานบางประเภท และมากถึง 80% ในบางแห่ง ขณะที่วิศวกรซอฟต์แวร์จะเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มขึ้นถึง 90%

•   ยานพาหนะที่สามารถแบ่งปันและใช้ร่วมกันได้ จะมีสัดส่วนคิดเป็น 30% ของตลาดในยุโรป


กรุงเทพฯ, 27 กุมภาพันธ์ 2562 – บริษัท Strategy&  ของ PwC คาดการใช้ยานพาหนะร่วมกันและระบบอัตโนมัติจะเข้ามาปฏิวัติวงการยานยนต์ทั่วโลก โดยจะเปลี่ยนโฉมหน้าการผลิตและกำลังแรงงานของอุตสาหกรรมนี้ภายในปี 2573 โดยยานยนต์ที่ถูกออกแบบเฉพาะความต้องการของบุคคลและเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีจะยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น


นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงาน Transforming vehicle production by 2030: How shared mobility and automation will revolutionize the auto industry  ที่จัดทำโดยบริษัท Strategy& (สแตร็ดติจี้ แอนด์) ของ PwC ว่า ได้คาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงผู้ใช้ยานพาหนะในระยะข้างหน้า

รายงานระบุว่า ภายในปี 2573 การผลิตยานพาหนะจะถูกแบ่งออกเป็นการผลิตเพื่อใช้จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะถูกผลิตออกมาแบบเรียบง่าย และผลิตตามความต้องการ (Cars on demand) ซึ่งรถยนต์ในลักษณะนี้จะถูกนำไปใช้ให้เช่าเพื่อการเดินทางในแต่ละครั้ง (Journey-by-journey) ในขณะที่อีกส่วนจะเป็นการผลิตยานพาหนะที่ออกแบบขึ้นมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้ที่ยังคงต้องการเป็นผู้ขับขี่ หรือเป็นผู้นั่งในยานพาหนะของตัวเอง

นางสาว วิไลพร กล่าวว่า แนวคิดการแบ่งปันยานพาหนะร่วมกัน (Shared mobility) และระบบอัตโนมัติดังกล่าว จะทำให้ผู้ประกอบการที่รับจ้างผลิตสินค้าหรือชิ้นส่วนให้กับค่ายรถยนต์ (Original Equipment Manufacturers: OEMs) ต่างต้องเร่งพัฒนารูปแบบของโรงงาน 2 ประเภท ประกอบด้วย 1) โรงงานที่มุ่งเน้นไปที่การผลิตยานพาหนะที่เป็นแบบมาตรฐาน สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์และทำงานได้อย่างอัตโนมัติ (Plug and play vehicles) เพื่อดึงดูดผู้ใช้รถในเมืองที่มีอายุน้อย และ 2) โรงงานที่ผลิตยานพาหนะตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับตลาดรถหรูในปัจจุบัน

นอกจากนี้ รายงานยังคาดว่า แนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงต่อกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพราะหุ่นยนต์ได้เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้นทั้งในส่วนของสายการประกอบและในด้านของการวิจัยและพัฒนา โดยคาดว่า 40% ถึง 60% ของแรงงานที่มีทักษะร่วมสมัยจะเป็นที่ต้องการเพื่อประจำการในพื้นที่หน้างาน ขณะที่จำนวนความต้องการวิศวกรข้อมูลและวิศวกรซอฟต์แวร์จะเพิ่มขึ้นถึง 90%

“อุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ได้เห็นเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญมาเป็นเวลานานแล้ว นับตั้งแต่สายการผลิตของรถยนต์ฟอร์ดเปิดตัวไปเมื่อกว่าศตวรรษที่ผ่านมา” นาย ไฮโค เวเบอร์ หุ้นส่วนบริษัท Strategy& ของ PwC ประเทศ เยอรมนี กล่าว “อย่างไรก็ดี เราหวังว่าจะเห็นกระแสของการเปลี่ยนแปลงอีกมากเริ่มทยอยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป”

“ผู้ประกอบการโออีเอ็มต้องเริ่มสร้างกำลังแรงงานที่ตัวเองจะต้องการในอีก 10 ปีข้างหน้าตั้งแต่ตอนนี้ ทั้งการจ้างบุคลากรที่มีทักษะที่ใช่ การรักษาทาเลนต์ และการฝึกอบรมทักษะเดิมของพนักงานที่มีอยู่ โดยภายในปี 2573 จำนวนความต้องการวิศวกรข้อมูลจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในโรงงานที่ผลิตรถยนต์ตามความต้องการเฉพาะของลูกค้า และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 80% ในโรงงานที่ผลิตรถยนต์ประเภทปลั๊ก แอนด์ เพลย์ และเช่นเดียวกัน ความต้องการวิศวกรซอฟต์แวร์จะเพิ่มขึ้นถึง 90% ในโรงงานที่ผลิตรถยนต์ตามความต้องการเฉพาะของลูกค้าและ 75% ในโรงงานผลิตประเภทปลั๊ก แอนด์ เพลย์ ตามลำดับ” นาย เวเบอร์ กล่าว

ทั้งนี้ รายงานยังชี้ว่า กระแสของการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่นๆ จะมีให้เห็นด้วยเช่นกัน เช่น ระยะเวลาระหว่างการทำวิจัยและพัฒนากับการผลิตจะสั้นลงเหลือแค่ 2 ปี เปรียบเทียบกับปัจจุบันที่ราว 3 ถึง 5 ปี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการผลิตแบบโออีเอ็มจะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทด้านเทคโนโลยีที่เข้ามาให้บริการระบบขนส่งเคลื่อนที่ (Mobility-as-a-Service: MaaS) ทั้งในลักษณะของการบริการยานยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติเชิงพาณิชย์ และบริการระบบขนส่งมวลชนเคลื่อนที่ให้แก่ลูกค้าได้โดยตรง

ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตแบบโออีเอ็มจะได้รับแรงกดดันในการต้องสร้างกระบวนการผลิตให้เกิดคุ้มค่ามากขึ้นกว่าเดิม เพื่อรองรับกับรูปแบบของยวดยานพาหนะและการออกแบบที่มีความหลากหลายมากขึ้น

“อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะเกิดการปฏิวัติครั้งสำคัญ ซึ่งการจัดการข้อมูลและความสามารถในการปรับตัวจะมีความสำคัญมากต่อการอยู่รอด” นาย เวเบอร์ กล่าว “ผู้ประกอบการผลิตแบบโออีเอ็มจำเป็นต้องปรับตัวตั้งแต่ตอนนี้ โดยเลือกสิ่งที่ใช่ที่สุดสำหรับรูปแบบการผลิตและกำลังแรงงานในอนาคตของตน” เขา กล่าวเสริม

ด้าน นางสาว วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานการผลิตและประกอบยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่สำคัญของโลก ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการผลิตยานพาหนะที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ (Connected car) รวมไปถึงการผลิตยานพาหนะตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภค และการเป็นผู้ให้บริการธุรกิจเคลื่อนที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะพลิกโฉมรูปแบบการผลิตยานยนต์รวมถึง Mindset ในการเดินทางขนส่งให้เปลี่ยนไปจากเดิม

“วันนี้ภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังจะเปลี่ยนไป ด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ระบบขับขี่อัตโนมัติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดเรื่อง MaaS ที่จะทำให้ธุรกิจด้านงานบริการมีแนวโน้มที่จะเข้ามามีบทบาทเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตยานยนต์มากยิ่งขึ้น หรือผู้ผลิตยานยนต์อาจลงเข้าสู่ตลาดด้วยตนเองทั้ง Ride Sharing และ Car Sharing ที่กำลังเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในตลาดยุโรป ดิฉันมองว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน แต่สิ่งที่ยังเป็นความท้าทายคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะขั้นสูง เช่น วิศวกรข้อมูลและหุ่นยนต์ และเรายังคงต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มการใช้ยานพาหนะที่กำลังจะเปลี่ยนไป นอกจากนี้ ยังจำเป็นที่จะต้องวางโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต กฎระเบียบในการใช้ท้องถนน รวมถึงความปลอดภัยของข้อมูลให้สอดคล้องกับการใช้งานยานพาหนะในอนาคตด้วย”

เกี่ยวกับ Strategy&
Strategy& คือทีมงานในการวางยุทธศาสตร์ระดับโลกที่มุ่งมั่นในการช่วยให้คำปรึกษา แก้ปัญหา และเสาะหาโอกาสให้แก่ภาคธุรกิจ ด้วยประสบการณ์ในธุรกิจให้คำปรึกษาและวางกลยุทธ์ให้แก่ภาคอุตสาหกรรมกว่า 100 ปีผนวกกับความรู้ความสามารถของ PwC เครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก ปัจจุบัน เรามีเครือข่ายไปใน 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 250,000 ราย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.strategyand.pwc.com

เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า  เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 250,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com

PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2019 PwC. All rights reserved.