MSN on February 25, 2019, 07:25:46 AM
บทบาทของอัยการต่อสิทธิสตรีในกระบวนการยุติธรรม





“นี่ถูกข่มขืนเพราะแต่งตัวล่อแหลมน่ะสิ” นายตำรวจหนุ่มกล่าวถึงผู้เคราะห์ร้ายวัยเพียง 12 ปีที่ถูกข่มขืน
…..
“หนูไม่รู้จะอธิบายให้คุณตำรวจเข้าใจได้ยังไง หนูถูกผู้ชายข่มขืน แล้วหนูยังต้องมาเล่ารายละเอียดให้ผู้ชายฟังอีก” เหยื่อที่ถูกข่มขืนอีกรายหนึ่งเล่า
…..
ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางเพศมักจะไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีเมื่อเข้ามาในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอาจเป็นเพราะขาดการฝึกอบรม ทัศนคติเกี่ยวกับเพศ หรือแม้แต่การใช้ภาษากฎหมายที่ทำให้ผู้หญิงต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำซ้อน นอกจากนี้ การที่กระบวนการยุติธรรมไม่มีบริการหรือการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมยังเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง

ด้วยความตระหนักในบทบาทของอัยการในฐานะผู้ดำเนินกระบวนการยุติธรรมในฝ่ายบริหารของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมพิจารณาสำนวนการสอบสวนแล้วสั่งวินิจฉัยคดีต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงความผิดในคดีที่เกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) พร้อมด้วย องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และอัยการภาค (Regional Public Prosecutors Department)ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง “บทบาทของอัยการต่อสิทธิสตรีในกระบวนการยุติธรรม” ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นอ่อนไหวที่เกี่ยวกับเพศและวิธีปฏิบัติสำหรับอัยการ

ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในสังคมนั้น เกิดจากทัศนคติเชิงวัฒนธรรมของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่และสามารถเห็นได้ชัดเจนในสังคมทุกระดับ แนวคิดนี้ทำให้ผู้ชายมีอำนาจมากกว่าผู้หญิง  ในด้านการปฏิบัติ ผู้ชายมักเป็นผู้ตีความระเบียบและกฎหมายที่กดขี่เพศหญิง แต่อีกแง่หนึ่งเราจะสังเกตเห็นว่า คนที่อยู่ในระบบยุติธรรมนั้นปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมกับเพศชาย



ท่านทูตอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษของ TIJ กล่าวว่า “การที่เราไม่ได้ตระหนักเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศและการเหยียดเพศ ทำให้เหยื่อในคดีล่วงละเมิดทางเพศนั้นตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงอันเนื่องจากทัศนะเจ้าหน้าที่ซึ่งมายาคติเกี่ยวกับเพศหญิง และเสี่ยงที่จะถูกละเมิดซ้ำในกระบวนการพิจารณาคดี”

ผู้หญิงที่ถูกทำร้ายหรือล่วงละเมิดทางเพศจำนวนมากที่ไม่ยอมแจ้งความหรือดำเนินคดีเพราะผู้หญิงมักจะไม่เชื่อมั่นหรือกลัวระบบยุติธรรม นอกจากความกลัวและความอายแล้ว ผู้หญิงยังถูกหมิ่นศักดิ์ศรีในกระบวนการยุติธรรมด้วย อัยการจึงมีบทบาทสำคัญในจุดนี้ ทั้งในการฟ้องคดี และการปกป้องเหยื่อจากการย่ำยีทั้งจิตใจและอารมณ์


แอนนา-คาริน แจทฟอร์ส รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก UN Women อ้างอิงผลจากรายงานการศึกษาเรื่อง คดีข่มขืน ความเข้าใจเรื่องการตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อความรุนแรงทางเพศในไทยและเวียดนาม ว่า “ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศหรือการข่มขืนเผชิญอุปสรรครอบด้านในการเข้าถึงความยุติธรรม ไม่เพียงมีความยากลำบากในการเข้าถึงความช่วยเหลือต่าง ๆ แต่ยังรวมถึงทัศนคติ และอคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายตุลาการด้วย” รวมทั้งกล่าวต่อว่า “แม้แต่ในกรณีที่เจ้าหน้าที่เคารพสิทธิของผู้หญิง แต่อาจไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรในเรื่องนี้ เช่น การบันทึกข้อมูลระหว่างตำรวจและอัยการไม่ประสานงานกัน เหยื่อต้องพูดคุยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้พวกเธอเจ็บปวดมากขึ้น บางรายมีระยะเวลาในการยืดคดีที่ยาวนาน เรื่องที่เล่าจากปากคำของผู้เสียหายอาจแตกต่างออกไป หรือเมื่อต้องเจอคำถามที่ต่างออกไป อาจทำให้เรื่องที่เหยื่อเล่ากลายเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือได้"


นางสมศรี วัฒนไพศาล อธิบดีอัยการภาค กล่าวว่า “ผู้ปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรม จะต้องเข้าใจว่าการกระทำรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กนั้นรุนแรงขึ้นทุกวัน กระบวนการทางกฎหมายต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมผู้เคราะห์ร้ายมากขึ้นไปอีกทางอารมณ์”

จากสถิติของ UN Women พบว่า ร้อยละ 91 ของคดีข่มขืนในประเทศไทยเป็นการกระทำของคนที่รู้จักกัน และมักเกิดขึ้นในบ้านหรือห้องพักในโรงแรม ร้อยละ 44 ของผู้หญิงที่เป็นเหยื่อการทำร้ายร่างกายหรือล่วงละเมิดทางเพศถูกกระทำโดยคู่ครองของตน  นอกจากนี้ การศึกษาในจังหวัดนครสวรรค์ พบว่า มีเพียงร้อยละ 46 ของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายเท่านั้นที่กล้าบอกเล่าให้คนอื่นฟัง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นจริงอาจจะดูย้อนแย้งกัน คือ ในกรณีที่ผู้เคราะห์ร้ายกล้าที่จะแจ้งความหรือเล่าเรื่องที่ถูกทำร้ายร่างกายหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ผู้บังคับกฎหมายมักมีแนวโน้มที่จะถือว่ากรณีเหล่านี้เป็นเรื่องในครอบครัวหรือ “ผัวเมียตีกัน” และปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันเอง หรือโน้มน้าวไม่ให้ผู้หญิงเอาความ

ทางออกในระยะยาวทางหนึ่งคือการเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า เพราะหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัว ดังนั้น เรื่องในครอบครัว ควรต้องเก็บไว้ในครอบครัว นอกจากนี้ ในสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ อำนาจของสามีและภรรยามักไม่สมดุลกัน และนำไปสู่ทัศนคติที่ว่าสามีเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในบ้านและใช้อำนาจนั้นเหนือภรรยาและลูก ๆ

ดังนั้น จำเป็นต้องมาปรับเปลี่ยนกันที่การศึกษา ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญในการสร้างทัศนคติและวัฒนธรรมใหม่  ในยุคปัจจุบันสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องของความสัมพันธ์คือ “การยินยอม”  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระหว่างคู่สมรส
เพื่อน หรือแฟนก็ตาม ผู้ชายไม่มีสิทธิ์เหนือผู้หญิง ความเสมอภาคทางเพศจะเกิดขึ้นเมื่อผู้หญิงมีสิทธิที่จะอนุญาตหรือปฏิเสธการมีสัมพันธ์ทางเพศได้

และเมื่อเกิดการละเมิดหรือความรุนแรงใด ๆ ขึ้นและเรื่องราวถูกนำสู่กระบวนการยุติธรรม อัยการไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่การปฏิบัติหน้าที่ทางกฎหมายเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีท่าทีการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้ที่ถูกละเมิดหรือทำร้าย  เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเหยื่อจะไม่ถูกละเมิดซ้ำสองเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
« Last Edit: February 25, 2019, 03:16:52 PM by MSN »