MSN on February 21, 2019, 08:55:14 AM
PwC เผยความเชื่อมั่นซีอีโออาเซียนต่อเศรษฐกิจ-รายได้ปี 62 ชะลอตัว ห่วงความขัดแย้งทางการค้า-การเมือง

กรุงเทพ, 21 กุมภาพันธ์ 2562 – PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจ Global CEO Survey พบซีอีโออาเซียนเกือบครึ่งมองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้จะเติบโตลดลง ฉุดความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ให้ลดลงตามไปด้วย สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ซบเซาของซีอีโอทั่วโลก หลังเผชิญกับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้า ความไม่แน่นอนทางการเมือง และสภาพเศรษฐกิจขาลงของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ โดยผู้นำธุรกิจอาเซียนตระหนักว่า เอไอจะเข้ามาปฏิวัติธุรกิจของพวกเขาในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่ก็ยอมรับว่า ยังไม่พร้อมนำเอไอเข้ามาใช้งานเนื่องจากขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และมีช่องว่างทางทักษะภายในองค์กร PwC แนะให้ซีอีโอเร่งเพิ่มพูนทักษะใหม่และอบรมทักษะเดิมให้แก่พนักงาน โดยเฉพาะทักษะทางด้านดิจิทัล เพื่อจัดทัพองค์กรให้พร้อมทำงานร่วมกับเอไอตั้งแต่วันนี้


นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจซีอีโอทั่วโลก ครั้งที่ 22 ประจำปี 2562 (PwC’s 22nd Annual Global CEO Survey) ที่ใช้ในการประชุมสมัชชาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ณ กรุง ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 1,378 รายใน 91 ประเทศ โดยในจำนวนนี้ เป็นซีอีโอจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จำนวน 78 รายว่า ซีอีโออาเซียนเชื่อว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัวจากปีก่อน คล้ายคลึงกันกับมุมมองของซีอีโอโลก โดยพบว่า ซีอีโออาเซียนถึง 46% เชื่อว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปีนี้จะลดลงจากปีก่อน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีเพียง 10% ขณะที่ซีอีโอโลก 28% ก็เชื่อว่า เศรษฐกิจโลกปีนี้จะชะลอตัว เปรียบเทียบจากปีก่อนที่ 5%

ทั้งนี้ พบว่า 5 อันดับปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในสายตาของซีอีโออาเซียนในปี 2562 ได้แก่ ความขัดแย้งทางการค้า (83% เทียบกับโลกที่ 70%) ความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง (81% เทียบกับโลกที่ 75%) ความไม่แน่นอนของนโยบาย (78% เท่ากับโลก) กฎระเบียบข้อบังคับที่มากและเข้มงวดเกินไป (77% เทียบกับโลกที่ 73%) และ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก (73% เท่ากับโลก)

“ผลสำรวจในปีนี้สะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วงขาลง โดยซีอีโอมองประเด็นเรื่องของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ความไม่แน่นอนทางการเมืองในหลายๆ ประเทศ รวมถึงสภาพแวดล้อมของกฎระเบียบและนโยบายต่างๆ ที่มีความเข้มงวดหรือมีมากเกินไปเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันการเติบโต โดยในปีนี้ เปอร์เซ็นต์ของซีอีโออาเซียนที่มีมุมมองในเชิงลบยังมีมากกว่าซีอีโลกด้วย ซึ่งแตกต่างจากปีก่อนๆ ที่ผู้บริหารในฝั่งเอเชียมักมีความเชื่อมั่นมากกว่าซีอีโอจากฝั่งตะวันตก” นาย ศิระ กล่าว

นาย ศิระ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งผลให้ซีอีโออาเซียนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์ในการเติบโต โดย 29% มีการปรับกลยุทธ์ในการบริหารห่วงโซ่อุปทานและจัดหาวัตถุดิบ โดยหันไปส่งออกและหาแหล่งวัตถุดิบจากประเทศอื่นแทน รวมถึง ชะลอการใช้จ่ายด้านการลงทุนออกไปก่อนเพื่อรอดูสถานการณ์ และคาดหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถเจรจากันได้ และอีก 17% เลือกที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์ไปเติบโตในตลาดอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียอย่าง อินโดนีเซีย และ เวียดนาม

ในส่วนของความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ (Revenue growth) ของซีอีโออาเซียนในปีนี้ ผลสำรวจระบุว่า เปอร์เซ็นต์ความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้านั้น ลดลงจาก 44% ในปีก่อนเหลือ 33% ในปีนี้ ขณะที่ 39% ของซีอีโออาเซียนเชื่อมั่นว่า รายได้ในอีก 3 ปีข้างหน้าจะเติบโต ลดลงจากปีก่อนที่ 53%

สำหรับ อุปสรรคสำคัญ 3 อันดับแรกที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจของซีอีโออาเซียน ได้แก่ 1. การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ (82%) 2. ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (81%)  และ 3. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (72%)

“การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทักษะทางด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จะส่งผลให้บริษัทสูญเสียโอกาสหลายๆ อย่าง ทั้งความสามารถทางการแข่งขัน การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมไปถึงการขยายสู่ตลาดใหม่ๆ อีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจในอาเซียน” นาย ศิระ กล่าว

ผู้นำธุรกิจอาเซียนยังมองด้วยว่า 3 อันดับตลาดน่าลงทุนที่จะช่วยผลักดันให้บริษัทของพวกเขาเติบโตได้ในปีนี้ ได้แก่ จีน (42%) รองลงมาคือ อินโดนีเซีย (24%) และอันดับที่สาม คือ สหรัฐอเมริกา (21%) ตามลำดับ

อาเซียนพร้อมใช้ “เอไอ” ปฏิวัติธุรกิจแล้วหรือยัง?

นาย ศิระ กล่าวต่อว่า ผู้นำธุรกิจต่างตระหนักดีว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ เอไอ กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจทั่วโลก โดย 72% ของซีอีโออาเซียนคาดว่า การปฏิวัติของเอไอจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อโลก ยิ่งกว่าการปฏิวัติทางอินเทอร์เน็ตซึ่งเคยเกิดขึ้นในช่วงกลางของยุค 90s และ 87% ยังเห็นด้วยว่า เอไอจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจของตนอย่างมีนัยสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า

แต่อย่างไรก็ดี ผลสำรวจกลับพบว่า ธุรกิจอาเซียนเกือบ 40% ยังไม่มีการนำเอไอเข้ามาใช้งานในปัจจุบัน ขณะที่อีก 32% มีแผนที่จะนำเอไอเข้ามาใช้งานในอีก 3 ปีข้างหน้า 28% มีการใช้งานเอไอในวงจำกัด และมีเพียง 4% ที่มีการใช้เอไออย่างกว้างขวางและเป็นพื้นฐานในการปฏิบัติงานในองค์กร

“เรามองว่า สาเหตุสำคัญที่ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังคงไม่ตื่นตัวในการพัฒนา หรือลงทุนเพื่อนำเอไอเข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำงานอย่างจริงจัง แม้ว่าจะตระหนักถึงความสำคัญในจุดนี้น่าจะเป็นเพราะช่องว่างทางทักษะของแรงงาน ที่มีความรู้ไม่เพียงพอในการใช้งานเอไอ” เขา กล่าว

“ช่องว่างทางทักษะ” จุดบอดการใช้เอไอ

ทั้งนี้ ช่องว่างทางทักษะ (Skills gap) ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล เพราะปัจจุบันหลายธุรกิจประสบปัญหาการมีแรงงานที่มีทักษะในการทำงานน้อยกว่าที่คาด หรือมีคุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดย 58% ของซีอีโออาเซียนยังมองว่า ปัญหานี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้องค์กรของพวกเขาไม่สามารถใช้งานเอไอได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและสูญเสียโอกาสในการแสวงหาตลาดใหม่ๆ โดยผลกระทบรองลงมา คือ ทำให้ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่สูงเกินกว่าที่คาด และมีผลต่อคุณภาพ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

“ในยุคที่หุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่นเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างเช่นทุกวันนี้ ภาครัฐ ผู้นำองค์กร รวมถึงพวกเราทุกคนควรต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเองด้วยการเพิ่มพูนทักษะใหม่และฝึกฝนอบรมทักษะเดิมอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทักษะทางด้านดิจิทัล การคิดวิเคราะห์ข้อมูล และการใช้เหตุผล ซึ่งผมมองว่า เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของทุกฝ่าย ส่วนตัวยังเชื่อว่า การเข้ามาของเอไอจะเป็นไปในลักษณะของ “เพื่อนร่วมงาน” ที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานประเภทที่ต้องทำซ้ำๆ และเปิดโอกาสให้แรงงานคนได้ไปใช้ทักษะในด้านอื่นมากกว่าเข้ามาแย่งงาน แต่นั่นแปลว่า เราก็ต้องรู้จักวิธีที่จะสามารถทำงานร่วมกับเอไอได้อย่างเต็มประสิทธิภาพด้วย สถาบันการศึกษาเองควรส่งเสริมหลักสูตรสะเต็มศึกษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้เกิดการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ให้แก่บุคลากรที่กำลังจะถูกป้อนออกสู่ตลาดแรงงาน โดยไม่ลืมที่จะปลูกฝังทักษะทางด้านอารมณ์ควบคู่กัน” นาย ศิระ กล่าวสรุป

เกี่ยวกับ PwC
ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า  เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 250,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี หากคุณต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ของเราได้ที่ www.pwc.com

เกี่ยวกับ PwC ประเทศไทย
PwC ประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 60 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรมากกว่า 2,000 คนในประเทศ

PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2019 PwC. All rights reserved
« Last Edit: February 21, 2019, 03:14:59 PM by MSN »