ก.ท่องเที่ยว ชี้!! มาตรฐานความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางทะเลของไทย
จากกรณีสื่อโซเชียลมีเดียของจีน ตั้งคำถามถึง “มาตรฐานความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางทะเลในประเทศไทยว่า มีการปรับปรุงหรือไม่ เนื่องจากในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวจีนประสบอุบัติเหตุทางน้ำและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก หลังเกิดเหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวจีนประสบเหตุเรือล่มที่บริเวณใกล้เกาะเสม็ด จ.ระยอง ทำให้นักท่องเที่ยวต้องลอยคอกลางทะเลนานนับชั่วโมง และเหตุการณ์เรือล่มในทะเลที่ จ.ภูเก็ต เป็นอุบัติเหตุเรือล่มที่เกิดขึ้น 2 ครั้งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น
นายสันติ ป่าหวาย รองปลัดฯ และโฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ว่า “นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่งในด้านการท่องเที่ยว ในส่วนของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ที่ผ่านมามีการจัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทางทะเล ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการท่องเที่ยว มีข้อตกลงกันว่า ผู้ประกอบการเรือจะต้องตรวจสภาพอากาศก่อนที่จะออกเรือ, เรือที่จะออกจากฝั่งจะต้องได้มาตรฐาน, กัปตันเรือ - ลูกเรือ จะต้องมีความพร้อม และได้รับการอบรมให้มีความรู้ในด้านภาษา ทักษะการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว การสาธิตการใช้อุปกรณ์ต่างๆ และนักท่องเที่ยวต้องสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง
ที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกองมาตรฐานและกำกับความปลอดภัยนักท่องเที่ยว ได้ฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับไลฟ์การ์ด การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การทำ CPR ความรู้เกี่ยวกับทักษะการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ ให้แก่อาสาสมัครช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Life Guard) ที่มีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่อยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่ได้รับความนิยม เช่น ภูเก็ต พังงา สงขลา รวมถึง การฝึกอบรมด้านภาษา เพื่อให้สามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ ป้ายเตือนต่างๆ เช่น ธงแดง พร้อมทั้ง ทำคลิปประชาสัมพันธ์เรื่องความปลอดภัย เพื่อเผยแพร่ผ่านทางทีวีบนรถนำเที่ยว หรือตามสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย
“ขอให้เชื่อมั่นถึงมาตรการในการให้ความช่วยเหลือของไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน ในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ซึ่งกระทรวงฯ มีศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (Tourist Assistance Center : TAC) ทั้งหมด 78 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อทำหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ให้ข้อมูลคำแนะนำด้านการท่องเที่ยวและการป้องกันภัยจากการท่องเที่ยว รับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ จากนักท่องเที่ยว และประสานกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับนักท่องเที่ยว โดยในแต่ละศูนย์จะมีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในการสื่อสารภาษาที่สาม เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฝรั่งเศส รัสเซีย สเปน หรือภาษาอื่นๆ” รองปลัดฯ สันติ กล่าวทิ้งท้าย