happy on February 12, 2019, 01:17:53 PM
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯแนะทางแก้ปัญหา
และความท้าทายสาธารณสุขไทย เรื่อง วัณโรคและฝุ่นละออง PM 2.5

                       ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยแนะทางแก้ปัญหาและความท้าทายสาธารณสุขไทยเร่งแก้วัณโรค เนื่องจากไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง โดยมีคนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ปีละ 1.2 แสนคน และเรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 แนะทางแก้ป้องกันความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด


                       ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงนี้ปัญหาและความท้าทายสาธารณสุขไทย ในเรื่องของวัณโรคและฝุ่นละออง PM 2.5 กำลังเป็นสิ่งสำคัญมาก ประชาชนทั้งประเทศยังไม่ทราบว่า วัณโรคนั้น  ยังเป็นปัญหาของประเทศไทยในระดับชาติ และยังมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อไขข้อกระจ่างและขยายผลโอกาสสุ่มเสี่ยงเป็นโรคร้ายอย่างมะเร็งปอดและวัณโรค รวมถึงปัญหามลพิษทางอากาศก็เช่นกัน ในช่วงนี้ประเทศไทยเกิดปัญหาฝุ่นละอองที่เรียกว่า PM 2.5  ซึ่งส่งผลกระทบกับปอดของมนุษย์โดยตรง เมื่อมนุษย์สูดผ่านรวมเข้าไปกับลมหายใจ สามารถผ่านลึกจนถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอด ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอยและถุงลม และเล็ดลอดผ่านผนังถุงลม แล้วไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ และมีโอกาสสุ่มเสี่ยงเป็นโรคร้าย อาทิ โรคมะเร็งปอด ดังนั้นราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อ.นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และคณะทำงานฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มาอธิบายข้อเท็จจริงต่าง ๆ


อ.นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์

                       อ.นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  คนไทยส่วนใหญ่รู้ถึงอันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่น้อยคนรู้จะรู้ว่าคนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ปีละ 1.2 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 4,500 คน และเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมากปีละ 400 คน คนไทยตายจากวัณโรคปีละ 14,000 คน เทียบกับไข้หวัดใหญ่แต่ละปีตายไม่กี่สิบคน ในปีพ.ศ. 2558 องค์การอนามัยโลกจัดให้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง ประเทศไทยได้บรรจุปัญหาวัณโรคเป็นวาระสำคัญระดับชาติในปีพ.ศ. 2560 ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติปีพ.ศ. 2560-2564 และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมากเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในปี พ.ศ. 2561 ถ้าผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาจะถูกกักบริเวณเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่น

                       วัณโรคติดต่อทางการหายใจ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคพูด ไอ หรือจาม เชื้อวัณโรคจะลอยออกมาในอากาศ เชื้อวัณโรคมีขนาดเล็กมากเหมือนฝุ่น PM2.5 สามารถเข้าสู่ถุงลม ผ่านเข้าหลอดเลือดกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ วัณโรคจึงเป็นได้ทุกอวัยวะยกเว้นเส้นผมและเล็บ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นที่ปอด วัณโรคติดต่อกันง่ายมากไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค การหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อในบ้าน ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า รถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน โรงภาพยนตร์ เรือนจำ และโรงพยาบาล ที่น่ากลัวที่สุด คือการอยู่ในเรือนจำ ที่เสี่ยงได้รับเชื้อวัณโรคมากที่สุด อัตราการติดเชื้อป่วยเป็นวัณโรคในเรือนจำจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าด้านนอกถึง  8 เท่า ซึ่งหลังออกจากเรือนจำก็มีสิทธิ์ที่จะนำเชื้อไปแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ ดังนั้นต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อและมีห้องแยกในโรงพยาบาล








                       ผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องใส่หน้ากาก N95 เพื่อป้องกันการรับเชื้อ ต้องควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในบ้าน ชุมชนและสถานพยาบาล ถ้าอยู่ที่บ้านควรเปิดประตูหน้าต่างให้ลมพัดเอาเชื้อโรคออกนอกบ้าน เพื่อให้รังสียูวีในแสงแดดฆ่าเชื้อโรค

                       ในปัจจุบันแพทย์ต้องส่งตรวจยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรคและทดสอบความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาทุกราย เพื่อให้การรักษาวัณโรคดื้อยาได้ถูกต้อง แพทย์สามารถเข้าถึงการวินิจฉัยที่รวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การตรวจหายีนดื้อยาโดยวิธีอณูชีววิทยา ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องรีบอนุมัติยารักษาวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงมากขนานใหม่ ๆ เข้าประเทศไทยให้เร็วที่สุดเพื่อให้แพทย์นำไปใช้รักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา และภาครัฐต้องสนับสนุนงบประมาณสำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการและค่ายารักษาให้มากขึ้น


                       สำหรับค่ายารักษาผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่ดื้อยา 3 พันบาท/คน ถ้าดื้อยาหลายขนาดเพิ่มเป็น 2 แสนบาท/คน และถ้าดื้อยาหลายขนาดชนิดรุนแรงมากเพิ่มอีกเป็น 1.2 ล้านบาท/คน ดังนั้นประมาณการเฉพาะค่ายารักษาผู้ป่วยวัณโรคของทั้งประเทศจะเท่ากับ 360+900+480=1,740 ล้านบาท สำหรับการรักษาผู้ป่วยทั้งสามกลุ่ม ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานมีโอกาสรักษาสำเร็จร้อยละ 75 ในขณะที่ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมากมีโอกาสรักษาสำเร็จเพียงร้อยละ 50 แต่สำนักงานประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสปสช.ได้จัดสรรงบประมาณในปี 2560 สำหรับดูแลรักษาวัณโรคทั้งประเทศ 434 ล้านบาทต่อปี ไม่เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาแน่นอน การลดอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรคไทย 172 ต่อแสนประชากรให้เหลือเพียง 10 ต่อแสนประชากรต่อปีในปี พ.ศ. 2578 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกเป็นเรื่องที่ท้าทาย และคงจะทำได้ยาก


รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล

                       ด้านรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และคณะทำงานฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า PM 2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซ สามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยอยู่รอบตัวเราได้ในปริมาณสูง ทำให้เกิดเป็นหมอกควันที่ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ คนทั่วไปที่สูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะมีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด จะทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้ ส่วนในระยะยาวอาจก่อมะเร็งปอดและทำให้สมรรถภาพปอดของเยาวชนถดถอย

                       ในระยะนี้ทุกคนต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศเมื่อไหร่ก็ตามที่ดัชนีคุณภาพอากาศเป็นสีส้ม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้มีโรคเรื้อรังข้างต้น เด็ก ผู้สูงอายุ และ สตรีมีครรภ์ ควรงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ถ้าเป็นสีแดง ขอให้ทุกคนทั้งหมดหลีกเลี่ยง กรณีคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N95 หรืออย่างน้อยเป็นหน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น โดยไม่ว่าจะใช้หน้ากากชนิดใดต้องสวมใส่ให้กระชับใบหน้า และจำกัดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด