MSN on February 12, 2019, 07:50:01 AM
นักวิชาการ นักวิจัย และเกษตรกร ย้ำไร้วิธีการและสารทดแทน พาราควอต


ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย


นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง


นักวิชาการ นักวิจัย และเกษตรกร เผยหลักฐาน สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ไม่ได้เป็นสารธรรมชาติ ย้ำข้อเท็จจริง ไม่มีแนวทางใดสามารถแก้ไขปัญหาวัชพืชในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรได้ การใช้สาร พาราควอต ยังคงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด

นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เปิดเผยว่า “ตามที่หน่วยงานภาครัฐและเอ็นจีโอหลายหน่วยงาน ได้เสนอแนะแนวทางการใช้สารชีวภัณฑ์ขึ้นมาทดแทนการใช้สารเคมี พาราควอต นั้น จึงได้นำ สารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ที่มีจัดจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดมาดำเนินการทดสอบโดยกรมวิชาการเกษตร ตรวจสอบสารชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืช ล่าสุดเมื่อ 11 มกราคม ที่ผ่านมา พบว่า สารชีวภัณฑ์ดังกล่าว มิได้เป็นสารธรรมชาติแต่อย่างใด ทว่าเป็นสารที่มีส่วนผสมของสารเคมีเช่นเดิม เป็นการแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบัน ไม่สามารถหาสารธรรมชาติหรือวิธีการอื่นใดมากำจัดวัชพืชในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรได้ ดังนั้นผู้ เสนอให้ใช้สารชีวภัณฑ์ ควรจะนำผลการทดสอบทั้งด้านประสิทธิภาพ ราคา ต้นทุน และความปลอดภัยออกมาเปิดเผยสู่สาธารณะ ว่าสารชีวภัณฑ์เหล่านั้นกำจัดวัชพืช และทดแทนสารพาราควอตได้จริงหรือไม่

นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวสนับสนุนว่า “ปัจจุบัน ยังไม่มีสารเคมี หรือสารชีวภัณฑ์ตัวอื่นมาทดแทนสารพาราควอตได้ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ยืนยันกับคณะกรรมการที่มีท่านรัฐมนตรีสุวพันธ์เป็นประธาน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนข้อเสนอแนะให้ใช้แรงงานคนและเครื่องจักรขนาดเล็กในการกำจัดวัชพืชนั้น เป็นไปไม่ได้ทางปฏิบัติ โดยเฉพาะแรงงานคน เนื่องจากจำนวนพื้นที่เกษตรในภาคอุตสาหกรรมนั้น มีจำนวนนับสิบไร่ ร้อยไร่ การใช้แรงงานคนต่อการกำจัดวัชพืช 1 ไร่ ใช้มากถึง 5 คน เมื่อคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายต่อไร่ตามค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ใช้เงินมากถึง 1,500 บาทต่อไร่ รวมทั้งแรงงานในภาคเกษตรกรรมปัจจุบัน แทบจะไม่มีเหลือ คนเลิกทำอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ดังนั้น การใช้แรงงานคน เหมาะสำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่จำนวนน้อยไม่กี่ไร่ ส่วนการใช้เครื่องจักรขนาดเล็ก เหมาะสมกับพืชบางชนิดเท่านั้น รวมทั้งไม่สามารถใช้งานได้ในช่วงฝนตก หรือหลังฝนตก เพราะอาจทำความเสียหายให้แก่พืชหลักที่ต้องการปลูกได้ และที่สำคัญ เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอสำหรับการซื้อหรือเช่าเครื่องจักรได้”

นอกจากนี้ การใช้พืชคลุมดินในการบริหารปัญหาวัชพืชนั้น เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เกษตรกรไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ เนื่องจาก การใช้พืชคลุมดินนั้น เป็นการเพิ่มต้นทุนและเวลาในการทำงาน อาทิ ค่าเมล็ดพันธ์พืชคลุมดิน ค่าสารกำจัดวัชพืช ค่าปลูกพืชคลุมดิน ค่าไถกลบพืชคลุมดิน และอื่น ๆ

“คนที่เสนอให้เลิกใช้สารพาราควอต คุณต้องไปหาวิธี ทำการทดสอบ ทำให้เกษตรกรยอมรับวิธีเหล่านั้น ไม่ใช่ออกมาพูดลอย ๆ และต้องพร้อมรับผิดชอบต่อความเสียหายของพี่น้องเกษตรกร อย่าไปปัดภาระให้รัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐ”

ปัจจุบัน สารพาราควอต ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในกว่า 80 ประเทศ รวมทั้งในอเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินโนนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียนั้นเคยยกเลิกใช้ แต่รัฐบาลได้มีการพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนกลับมาใช้ได้อีก ศาสตราจารย์ ดร. รังสิต สุวรรณมรรคา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “โดยหลักการแล้ว สารชีวภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิต ได้แก่ สารจากธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ที่ ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และไม่มีฤทธิ์ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเหมือนสารเคมี ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีสารชีวภัณฑ์ตัวใดที่จะมาใช้แทนสารพาราควอตได้ ทั้งนี้ การใช้พาราควอตในประเทศไทย ใช้ในพืชไร่ ไม้ผล พืชทั่วไป โดยฉีดลงไปตรง ๆ ที่หญ้า ไม่ได้ฉีดลงบนพืชหลัก พาราควอต ยังคงเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมกับการเกษตรบริบทของประเทศไทยดีที่สุด”

ด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสารพาราควอตนั้น มีข้อกล่าวอ้างที่ขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์มากมาย อาทิ พาราควอตทำให้ดินแข็ง ซึ่งไม่มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่าเป็นเช่นนั้น เนื่องจาก คุณสมบัติของพาราควอตทำลายเฉพาะส่วนที่เป็นสีเขียวของวัชพืชเหนือดิน ไม่ทำลายระบบรากใต้ดิน ในทางกลับกัน การใช้พาราควอตมีส่วนช่วยในการรักษาหน้าดินและลดการสูญเสียน้ำในดิน เพราะซากวัชพืชจะช่วยคลุมดินไว้ ขณะเดียวกัน พาราควอตไม่สะสมในดิน เนื่องจากพาราควอต จะสลายตัวโดยแสงและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดิน หากมีการสะสมในดินจริง วัชพืชคงไม่เติบโตขึ้นในพื้นที่เดิมที่เคยใช้สารพาราควอต เช่นเดียวกัน มีความเข้าใจผิดว่า พาราควอต ปนเปื้อนลงแหล่งน้ำ ทำให้น้ำนั้นเป็นอันตราย แต่ความจริงแล้ว พาราควอตไม่เจือปนในน้ำ เพราะจะถูกดูดยึดไว้กับอนุภาคดิน และตะกอนดินในน้ำและถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในที่สุด
« Last Edit: February 12, 2019, 08:37:56 AM by MSN »