news on January 20, 2019, 12:13:51 PM
เชฟรอน และ สวทช. ผนึกกำลังเมกเกอร์ สร้างปรากฏการณ์ใน ‘Maker Faire Bangkok 2019’ มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมกเกอร์เนชั่น


ผู้สนัสนุนจากองค์กรภาครัฐและเอกชน ร่วมถ่ายภาพในงาน Maker faire Bangkok 2019


ทีมผู้ชนะเลิศทั้งสายอาชีวะและสายสามัญ ในโครงการ Young Makers Contest 3 ขึ้นรับรางวัล


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสวทช. มอบรางวัลชนะเลิศให้ทีมจากโรงเรียนสตรีพัทลุง ผู้ชนะจากสายสามัญ รับเงินรางวัลมูลค่า 5แสนบาทพร้อมสิทธิ์ไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา


นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนฯ มอบรางวัล 5 แสนบาท ให้ทีมชนะเลิศสายอาชีวะ จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานีพร้อมสิทธิ์ไปดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา


เปิดงานเมกเกอร์แฟร์บางกอก2019


ผู้สนับสนุนงาน จากหน่วยงานต่างๆ


(ซ้าย)นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนฯ และ(ขวา) ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช. เปิดงาน Maker Faire Bangkok2019


กรุงเทพฯ – 19 มกราคม 2562 – บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตรและกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จัดงาน “Maker Faire Bangkok 2019: WE ARE ALL MAKERS ปล่อยพลังเมกเกอร์ในตัวคุณ” มหกรรมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของสุดยอดเมกเกอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกขบวนผลงานของเมกเกอร์จากประเทศไทยและนานาประเทศมาเต็มความจุพื้นที่กว่า 70 บูธ พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อป DIY ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสวัฒนธรรมเมกเกอร์ด้วยตัวเอง เพื่อจุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับคนไทย และสานต่อความสำเร็จของงานเมกเกอร์แฟร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็น “เมกเกอร์เนชั่น” หรือประเทศแห่งนักพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 20 มกราคม 2562 เวลา 14.00 – 20.00 น. ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. มีหน้าที่ในการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 และขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในหลายปีที่ผ่านมา “วัฒนธรรมเมกเกอร์” มีบทบาทในการส่งเสริมการเรียนในสาขาสะเต็ม (การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำการทดลอง และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่นำไปต่อยอดเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สวทช. เห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมเมกเกอร์นักสร้างสรรค์นวัตกรรม ฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพของคนในชาติ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี เกิดเป็น “เมกเกอร์เนชั่น” จึงมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และหน่วยงานพันธมิตร ผ่านการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต โดยนอกจากจะเป็นพื้นที่ให้เหล่าเมกเกอร์ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ยังเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเมกเกอร์ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยมีความเป็นเลิศทางด้าน วทน. และก้าวเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ได้อย่างมั่นคงต่อไป”


นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “เป็นที่ยอมรับว่า ‘เมกเกอร์’ หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ ผลงานของเมกเกอร์สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นบ่อเกิดของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในสังคมให้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ประเทศต่างๆ จึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนวัฒนธรรมเมกเกอร์ รวมถึงประเทศไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น ‘เมกเกอร์เนชั่น’ หรือ ‘เมืองแห่งนักพัฒนา’ ซึ่งเชฟรอนยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์นี้ โดยร่วมกับ สวทช. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย และองค์กรพันธมิตร ภายใต้โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ส่งเสริมการพัฒนาของวัฒนธรรมเมกเกอร์ในสังคมไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ เพื่อเป็นเวทีให้เมกเกอร์ได้แสดงผลงานและแนะนำวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้กลายเป็นงานเมกเกอร์แฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีผู้สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน และการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของเมกเกอร์เยาวชนสายสามัญและอาชีพ ในโครงการ Young Makers Contest ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน โดยมีเยาวชนส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวม 399 ผลงาน นอกจากนั้นผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนไม่น้อยยังมีศักยภาพสามารถนำไปผลิตและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้จริง สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ หรือมีความเป็นเมกเกอร์อยู่ในตัวสูงมาก นับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง”


ผลงานชนะเลิศสายสามัญ


สำหรับไฮไลต์สำคัญ ในงานมีการประกาศผลและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศใน โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปีที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อโลกสีเขียว” ของนักเรียนสายสามัญและอาชีวะ ซึ่งปีนี้ ผู้ชนะเลิศสายสามัญ ได้แก่ ผลงาน หุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จาก โรงเรียนสตรีพัทลุง จ.พัทลุง ผลงานดังกล่าวออกแบบลักษณะคล้ายเรือที่ลอยบนผิวน้ำ มีกลไกเครื่องจักรที่ช่วยดึงและขจัดคราบน้ำมันที่ลอยอยู่บนผิวน้ำได้ ออกแบบการใช้งานได้อย่างดีเยี่ยมและนำใช้งานจริงแล้ว


ทีมชนะเลิศสายอาชีวะ


ตัวอย่างผลงานเครื่องล้างหอยนางรม จากทีมชนะเลิศสายอาชีวะ


ส่วน ผู้ชนะเลิศสายอาชีวะ ได้แก่ ผลงาน คลีน ฮอยสเตอร์ (CLEAN OYSTER) จาก วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี ได้ออกแบบเครื่องล้างหอยนางรม เพื่อลดแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย โดยใช้วิธีธรรมชาติของหอยนางรมเอง โดยใช้น้ำทะเลสะอาดมาใช้ทำความสะอาด รวมถึงดึงเมือกของเสียและแบคทีเรีย ด้วยเครื่องโปรตีนสกิมเมอร์ สำหรับน้ำที่ใช้สามารถแล้ว ยังสามรถนำกลับมาใช้ได้อีก ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ และได้นำไปใช้จริงแล้วในสถานประกอบการ โดยทั้ง 2 ทีมได่รับรางวัลมูลค่าทีมละ 500,000 บาท และได้สิทธิ์ไปร่วมงาน Maker Faire Bay Area ณ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา และรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท








อย่างไรก็ตามงาน Maker Faire Bangkok 2019 จัดขึ้นระหว่าง 19-20 มกราคม 2562 ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา กรุงเทพฯ ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรีตลอดงาน โดยภายในงานมีทั้งการสาธิตผลงานบนเวทีกลางและลานกิจกรรม เข้าร่วมกิจกรรมเสวนา รวมทั้งการแสดงผลงานของเมกเกอร์ชาวไทยและต่างประเทศกว่า 70 บูธ อาทิ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ระบบสมองกลฝังตัว ดนตรี อาหาร ศิลปะ งานไม้ งานโลหะ งานผ้า เป็นต้น ซึ่งผลงานที่ได้จัดแสดงทั้งหมด

ได้รับการคัดเลือกจาก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. และกลุ่มเมกเกอร์ นอกจากนี้ ยังมีขบวนอิเลคทริคพาเหรดที่มาในธีมกลองยาวเป็นครั้งแรก พร้อมด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อป DIY มากมายที่จะมาจุดประกายการเป็นเมกเกอร์ให้กับทุกคน และที่สำคัญก็คือ งานเมกเกอร์แฟร์ในปีนี้ถูกจัดขึ้นด้วยแนวคิดในการรณรงค์ลดการใช้วัสดุพลาสติกและกระดาษ การผลิตสิ่งของด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงพื้นที่การจัดงานในลานกว้างเพื่อใช้พลังงานแสดงจากธรรมชาติ

เกี่ยวกับโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”
โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ 
« Last Edit: January 20, 2019, 12:32:37 PM by news »