news on January 18, 2019, 07:49:26 AM

งานประชุม Dissemination Workshop for Newton Rice Initiative


สวทช. ร่วมกับ สถานทูตอังกฤษ และ BBSRC จัดเวทีประชุมความร่วมมือวิจัยและพัฒนาข้าวภายใต้กองทุนนิวตัน


รางวัลโปสเตอร์งานวิจัยดีเด่น Mr. Eric Belfield, University of Oxford สหราชอาณาจักร


รางวัลโปสเตอร์งานวิจัยดีเด่น Mr. Tran Dang Khanh, Agricultural Genetics Institute เวียดนาม


รางวัลโปสเตอร์งานวิจัยดีเด่น น.ส.พัณณ์ชิตา เวชสาร กรมการข้าว ประเทศไทย


(18 มกราคม 2562) กรุงเทพฯ : พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติร่วมงาน Dissemination Workshop for Newton Rice Initiative หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปความร่วมมือวิจัยและพัฒนาข้าวภายใต้กองทุนนิวตัน พร้อมมอบรางวัลโปสเตอร์งานวิจัยดีเด่นแก่นักวิจัยจำนวน 3 ท่าน จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และ UK Biotechnology and Biological Sciences Research Council (BBSRC) ระหว่างวันที่ 16 - 18 มกราคม 2562 ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล พลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีประชุมหารือในกลุ่มนักวิจัยที่ได้รับทุนวิจัยหัวข้อด้านข้าว ภายใต้โครงการ Newton Fund และเปิดโอกาสให้หน่วยงานให้ทุนวิจัยได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการร่วมทุนวิจัย การบริหารจัดการโครงการ และการติดตามประเมินผลโครงการ โดยมีนักวิจัยที่ได้รับทุนและหน่วยงานให้ทุนวิจัยจาก 5 ประเทศ ได้แก่ สหราชอาณาจักร จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย กว่า 100 คน เข้าร่วมงาน


พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี
กล่าวว่า การวิจัยเรื่องข้าว เป็นหนึ่งในหัวข้อการวิจัยที่สำคัญที่รัฐบาลได้มุ่งสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทย ยังมีประโยชน์ในระดับนานาชาติด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ต้านทานต่อโรคและแมลง ทนทานและเหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น ตลอดจนมีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภค อาทิ ข้าวพันธุ์ กข 41 และพันธุ์ กข 47 ที่ทนต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ข้าวพันธุ์ กข 61 ที่เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และระบบชลประทานไม่สมบูรณ์ ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนาความก้าวหน้าโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีด้านชีวโมเลกุล เพื่อช่วยลดระยะเวลาในการพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ให้สั้นลงได้ โดยได้ลักษณะพันธุ์ข้าวที่มีคุณลักษณะที่ดีได้ง่ายขึ้นไม่เพียงแต่การวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โรค หรือแมลงศัตรูข้าวที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่เท่านั้น ยังจำเป็นต้องวิจัยและพัฒนาวิธีการเพาะปลูก การแปรรูป และการพัฒนาพันธุ์ที่มีคุณภาพดีตามความต้องการของผู้บริโภค และมีศักยภาพในการแข่งขันด้วย ซึ่งประเทศไทยได้มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง ที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในตลาดโลกและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ ข้าวพันธุ์สินเหล็ก ข้าวพันธุ์ปิ่นเกษตร และข้าวพันธุ์ กข 43

“ผมขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศทุกท่าน สถานเอกอัครราชทูต สหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และ Newton Fund สหราชอาณาจักร ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศเวียดนาม และสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่สนับสนุนโครงการวิจัยและเข้าร่วมการนำเสนอรายงานความก้าวหน้าในครั้งนี้รัฐบาลไทยพร้อมที่จะสนับสนุน และให้ความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยด้านต่างๆ ร่วมกับ Newton Fund ตลอดจนหน่วยงานวิจัยต่างๆ กับสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าและเกิดการพัฒนาด้านการวิจัยที่ยั่งยืนร่วมกันในทุกๆ ประเทศ”


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุลผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ความร่วมมือการวิจัยข้าวระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรครั้งนี้ เป็นการร่วมกันศึกษาวิจัยพัฒนาองค์ความรู้โดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงด้านจีโนม ด้านฟีโนมิกซ์และชีวสารสนเทศศาสตร์ โครงการวิจัยทั้งสามโครงการที่ได้รับการคัดเลือกมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาให้ได้องค์ความรู้พื้นฐานที่จะเกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำหรือทนแล้งของข้าว เช่น การศึกษาลักษณะราก จำนวนและลักษณะของปากใบ เป็นต้น โดยองค์ความรู้พื้นฐานที่ได้จะนำมาค้นหายีนที่ควบคุมลักษณะดังกล่าว และพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลมาใช้ในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนแล้งในระยะต่อไป รวมทั้งการพัฒนาโมเดลการระบาดวิทยาของเชื้อสาเหตุโรคเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีการปรับปรุงโดยการรวมยีนต้านทานหรือการใช้ยีนเดี่ยวได้อย่างยั่งยืนในการควบคุมโรคขอบใบแห้ง ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาข้าวของประเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการผลิตข้าวให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิตและคุณภาพที่ดีในสภาวะแวดล้อมที่วิกฤติ ทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย เป็นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งโดยตรงจากการส่งออกข้าว และโดยอ้อมจากการลดความสูญเสียของผลผลิต นอกจากนี้การทำงานวิจัยร่วมกับต่างประเทศจะทำให้นักวิจัยไทยเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทัดเทียมในระดับนานาชาติได้”





บรรยากาศงานประชุม Dissemination Workshop for Newton Rice Initiative 


ทั้งนี้ ภายในงานประชุมเชิงปฏิบัติการสรุปความร่วมมือวิจัยและพัฒนาข้าวภายใต้กองทุนนิวตัน มีการมอบรางวัลBest Scientific Poster หรือรางวัลโปสเตอร์งานวิจัยดีเด่นแก่นักวิจัยจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ Mr. Eric Belfield, University of Oxford สหราชอาณาจักรจากโครงการที่ได้รับทุนคือ โครงการ Super-Rice: a UK-China Collaboration to Improve Rice Nitrogen Use Efficiency (NUE) (UK-China) Mr. Tran Dang Khanh, Agricultural Genetics Instituteประเทศเวียดนาม จากโครงการที่ได้รับทุนคือ โครงการ Exploiting a Cyanobacterial CO2 Concentrating Mechanism to Increase Photosynthesis and Yield in Rice (UK- China)และ น.ส.พัณณ์ชิตา เวชสาร กรมการข้าว ประเทศไทย จากโครงการที่ได้รับทุน คือ โครงการ Rhizo-Rice: a novel ideotype for deeper roots and improved drought tolerance (UK-Thailand)




ภาพตัวอย่างโปสเตอร์บริเวณงาน
« Last Edit: January 20, 2019, 01:48:06 PM by news »