depa ผนึกกำลัง ATSI และเหล่าพันธมิตร เปิดงาน "Thailand Software Fair 2018"
ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเติบโต แข็งแกร่ง รับยุทธศาสตร์ชาติในยุคดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) จับมือสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย หรือ ATSI และพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว. หรือเอสเอ็มอี ดีแบงค์) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) จัดงาน "Thailand Software Fair 2018" การแสดงผลงานซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ และอุตสาหกรรมทั่วไป หวังยกระดับการขับเคลื่อนบุคลากรในองค์กรและภาคการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังซอฟต์แวร์ไทยให้เติบโต แข็งแกร่ง รองรับยุทธศาสตร์ชาติในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐนตรี ประธานในพิธีกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "พลังซอฟต์แวร์ไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล" ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) อย่างเต็มรูปแบบ การเชื่อมโยงดิจิทัลถือเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วน จะต้องตื่นตัวกับการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานที่มีทั้งความรู้และทักษะเพื่อการเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ประกอบกับโลกในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในหลายๆด้าน ทั้งการพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบโจทย์ตลาดแรงงานในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะเป็นแนวทางในการช่วยยกระดับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ก้าวสู่ระดับสากล รวมทั้งการพัฒนาทางด้านหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ๆ ที่กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิต โดยภาครัฐจะสนับสนุนเชิงนโยบายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยว่าปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล คือ "ทรัพยากรบุคคล" ซึ่งจะต้องได้รับการส่งเสริมและเตรียมความพร้อมเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยปัจจุบันนี้ประเทศไทยยังถือว่าขาดแคลนบุคลากรดิจิทัลที่มีทักษะความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่ง depa ได้มุ่งส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัลในทุกระดับเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง การที่ depa มีส่วนร่วมในการจัดงาน "Thailand Software Fair 2018" ไม่เพียงแต่แค่เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลเท่านั้น แต่เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะได้รับฟังเสียงสะท้อนจากภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และอีกหลายภาคส่วน เพื่อการนำไปสู่การพัฒนานโยบายตลอดจนแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนดิจิทัลให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง นายทินกร เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่า การจัดงาน "Thailand Software Fair 2018" ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อแสดงผลงานซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐและอุตสาหกรรมทั่วไป เพื่อให้ผู้ประกอบการมีข้อมูลในการใช้ซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยภายในงานได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากประสบการณ์มาร่วมให้ความรู้ในงานและยังได้รวบรวมเทคโนโลยีซอฟต์แวร์พื้นฐานเพื่อธุรกิจทุกระดับ และนวัตกรรมเด่น ผลงานคนไทย มาจัดแสดงภายในงาน อาทิ Digital Transformation Solution สำหรับ SMEs by AIS, บทบาท E-TAX Invoice กับ Business Transformation ของ SMEs ไทย โดย บริษัท อินเทอร์เน็ต ประเทศไทย จำกัด, ทางออกเรื่องเงินทุนสำหรับ SME ด้วยโครงการเงินกู้ พร้อมดอกเบี้ยพิเศษ เป้ารวม 100 ล้านบาท จาก ธพว. หรือเอสเอ็มอี ดีแบงค์, SMEs รับสิทธิส่วนลดสำหรับการซื้อซอฟต์แวร์มูลค่าสูงสุด 10,000 บาท ในโครงการ depa Mini-Transformation Voucher จำนวน 400 ทุน มูลค่ารวม 4 ล้านบาท และยังมีตัวอย่างความสำเร็จของการปรับตัวเข้าสู่การเป็น Leadership Digital Entrepreneur รวมถึงมีการจัดอบรมเชิงปฎิบัติการ "Coding Skill ทักษะแห่งศควรรษที่ 21" โดยโครงการ Coding Thailand สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เพื่อส่งต่อแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเยาวชนในศควรรษที่ 21