กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รณรงค์การใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานแห่งชาติ
27 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09.00 น.พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นประธานการแถลงข่าวโครงการรณรงค์การใช้ภาชนะหมุนเวียนในเขตอุทยานแห่งชาติ ณ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพมหานคร
พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีพันธกิจหลักในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ควบคุมการจัดสรร และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างคุณค่าที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ที่ดำเนินการโดยการประสานกับเครือข่ายภาคีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เมื่อกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยทั่วไปในช่วงเวลานี้ ประชาชนมักจะให้ความสนใจและความสำคัญกับการเข้าไปท่องเที่ยวและพักผ่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
อุทยานแห่งชาติเป็นรูปแบบหนึ่งของพื้นที่คุ้มครอง ซึ่งอุทยานแห่งชาติทั้ง 154 แห่ง (ทางบก 128 แห่ง,ทางทะเล 26 แห่ง) ที่ประกาศจัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ในพื้นที่ ให้คงสภาพดั้งเดิมไว้ เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน โดยมีการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2505 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการประกาศอุทยานแห่งชาติแล้ว จำนวน 132 แห่ง และยังมีพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติอีก 22 แห่ง รวมเป็นพื้นที่มากกว่า 70,000 ตารางกิโลเมตร โดยที่อุทยานแห่งชาติเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรธรรมชาติอันสวยงาม โดดเด่น จึงเป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรการท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ที่รัฐบาลนำไปส่งเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวแล้วพบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นมาโดยตลอด มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 19 ล้านคนในรอบปีที่ผ่านมา เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว พักแรม หรือประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ก็ย่อมหลีกเลี่ยงปัญหาที่ตามมาจากการท่องเที่ยวไม่ได้ นั้นก็คือ ปัญหาขยะมูลฝอย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการตาม Road Map การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ซึ่งมีแนวทางและมาตรการต่าง ๆ ในการลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป การลดและคัดแยกขยะมูลฝอยที่ต้นทาง การจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม และกำจัดโดยเทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบผสมผสานเน้นการแปรรูปเป็นพลังงานหรือทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งสร้างวินัยของคนในชาติสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทางจนถึงการกำจัดขั้นสุดท้าย สำหรับในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเองก็มีการรณรงค์ในเรื่องการจัดการขยะมูลฝอยมาโดยตลอด และในปี พ.ศ.2558 เริ่มมีการดำเนินการโครงการอุทยานแห่งชาติสีเขียว หรือ Green National Park ที่กระตุ้นให้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ให้มีการกำหนดนโยบายในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน มีการให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ ให้มีการดูแลจัดการเรื่องน้ำเสียและขยะมูลฝอยและพบว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดจากนักท่องเที่ยวลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่นิยมใช้อย่างยิ่ง เพราะสะดวกในชีวิตประจำวัน แต่เนื่องจากถุงพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ยาก ทำให้มีปริมาณขยะประเภทถุงพลาสติกสะสมและตกค้างเป็นจำนวนมาก ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12% ของปริมาณขยะ หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน สามารถนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อน อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว (ประมาณ 80% หรือ ประมาณ 1.2 ล้านตัน)
ด้านนายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ในส่วนของกรมอุทยานแห่งชาตฯ ได้ดำเนินตามโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม” ตามแนวคิด 3 Rs คือ การใช้น้อย ใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ (Reduce Reuse Recycle : 3Rs) พร้อมทั้งจัดรณรงค์ลดบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน-ส้อม ที่ทำจากพลาสติก ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 พร้อมกันในอุทยานแห่งชาติ 154 แห่งทั่วประเทศ”
นอกจากนี้ “อุทยานแห่งชาติทุกแห่ง ยังได้นำหลักการจัดการขยะแบบเหลือศูนย์มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้การจัดการขยะในอุทยานแห่งชาติ ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นต้นแบบในการจัดการขยะ ทั้งนี้ยังได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการบริเวณภายนอกเขตอุทยานแห่งชาติ ทั้งชุมชน ร้านค้า ตลาด และท่าเทียบเรือ รอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ในการร่วมโครงการดังกล่าวด้วย” โดยได้สั่งการให้ทุกอุทยานแห่งชาติจัดกิจกรรมโครงการ “ทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม”กิจกรรมการลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและงดใช้โฟมบรรจุอาหารในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 พร้อมกันทั่วประเทศ คือ การรณรงค์ไม่นำกล่องโฟมบรรจุอาหารเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ และการณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน-ส้อมที่ทำจากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง อย่างน้อย 3 ล้านใบ/ชิ้น และมีผู้เข้าร่วมโครงการ อย่างน้อย 10 ล้านคน โดยทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการจัดกิจกรรมให้ยืมถุงผ้าหรือบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ไว้คอยให้บริการ และจัดกิจกรรมโครงการรณรงค์นำขยะคืนถิ่น / มัดจำขยะ การจัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาดและขยะใต้ทะเล (ทางทะเล และแหล่งน้ำ) อีกทั้งขอความอนุเคราะห์ให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการลดราคาเครื่องดื่ม เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวหวังให้ลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ขวดน้ำที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด หลอด และช้อน-ส้อม ที่ทำจากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างน้อย 3 ล้านใบ/ชิ้น และเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการร้านค้า เยาวชน และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมโครงการฯ อย่างน้อย 10 ล้านคน ในปีนี้