news on November 17, 2018, 12:33:57 PM


นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. คว้ารางวัล นักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์


(ซ้าย) ดร.ณมุรธา สถิรจินดา พอลสัน จากศูนย์เอ็มเทค สวทช. รับมอบรางวัลจาก รศ.ดิลก ศรีประไพ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ มจธ.และ รศ.ดร.กอบบุญ หล่อทองคำ นายกสมาคมฯ


(ซ้าย) ดร.ณมุรธา สถิรจินดา พอลสัน จากศูนย์เอ็มเทค สวทช. รับมอบรางวัล พร้อมกับ ผู้รับรางวัลนักโลหวิทยาฯ ท่านอื่นๆ


นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. คว้ารางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ประเภทอุตสาหกรรม ประจำปี 2560 (Young Outstanding Metallurgist Award 2017) หลังจากพัฒนาชุดทดสอบการกัดกร่อนแบบเร่งสำหรับหลากหลายสภาวะการใช้งาน เพื่อศึกษาการกัดกร่อนที่สอดคล้องกับสภาวะการใช้งานจริงและสร้างระบบข้อมูลสำหรับทำนายอัตราการกัดกร่อนของโลหะได้แม่นยำมากขึ้น

(15 พฤศจิกายน 2561) ที่โรงแรม เดอะ เฮอริเทจ พัทยา บีช รีสอร์ทจังหวัดชลบุรี: รศ.ดิลก ศรีประไพ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องมือและวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ รศ.ดร.กอบบุญ หล่อทองคำ นายกสมาคมการกัดกร่อนโลหะและวัสดุไทย เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นและรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์แก่นักวิจัยดีเด่น 3 ท่าน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติที่สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ในการประชุมวิชาการทางโลหวิทยาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 11 (TMETC11) ที่จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "Metallurgy for Thailand 4.0” เมื่อวันที่ 15-16 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ เป็นเจ้าภาพในการจัดงานครั้งนี้

สำหรับรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่น พิจารณาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมได้รับรางวัล 3 รางวัล ได้แก่ นักโลหวิทยาดีเด่น และรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ประเภทวิชาการและอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ผู้ได้รับรางวัลนักโลหวิทยาดีเด่นรุ่นเยาว์ประเภทอุตสาหกรรม ประจำปี 2560 ได้แก่ ดร.ณมุรธา สถิรจินดา พอลสัน จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค สวทช.) โดยผลงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาความเสียหายและการกัดกร่อนในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ชุดทดสอบการกัดกร่อนแบบเร่งสำหรับหลากหลายสภาวะการใช้งาน เช่น การใช้งานในสิ่งแวดล้อมระบบของไหล และสิ่งแวดล้อมบรรยากาศเขตร้อนชื้น อันเนื่องมาจากปัญหาการกัดกร่อนของโครงสร้างและชิ้นส่วนโลหะ ที่เกิดจากการเลือกใช้วัสดุและระบบการป้องกันการกัดกร่อนที่ไม่เหมาะสม ทำให้เป็นที่มาของการพัฒนาชุดทดสอบดังกล่าวเพื่อศึกษาการกัดกร่อนที่สอดคล้องกับสภาวะการใช้งานจริงเพื่อสร้างระบบข้อมูลสำหรับทำนายอัตราการกัดกร่อนของโลหะได้แม่นยำมากขึ้น

นอกจากนี้ ดร.ณมุรธา ยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ความเสียหายของวัสดุและเทคโนโลยีการกัดกร่อนจากผลงานต่างๆ เช่น ระบบประเมินระดับความเสี่ยงจากการกัดกร่อนในหน่วยกลั่นน้ำมันดิบอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ชุดอุปกรณ์ทดสอบการกัดกร่อนเฉพาะที่ของวัสดุภายใต้ความเค้นแรงดึงเพื่อตรวจประเมินการกัดกร่อนภายใต้แรงเค้นอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนกันยายน 2559 ชุดตรวจติดตามพฤติกรรมการกัดกร่อนของท่อโลหะใช้งานกับการไหลของสารละลายสำหรับชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในหน่วยผลิตไฟฟ้าอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนกันยายน 2560 และเครื่องจำลองการทดสอบการกัดกร่อนในบรรยากาศแบบเร่งเพื่อสร้างระบบข้อมูลในการเลือกใช้วัสดุ และประเมินอายุของโครงสร้างและชิ้นส่วน เช่น ระบบขนส่งทางราง และชิ้นส่วนยานยนต์ ใช้งานในบรรยากาศในเขตร้อนชื้น โดยเครื่องดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการยื่นจดสิทธิบัตรเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
« Last Edit: November 17, 2018, 12:36:01 PM by news »