happy on November 05, 2018, 06:14:34 PM
“ประยูร “ รับเผือกร้อนฟันธง “อีทิคเก็ต”
ชี้ขืนเดินหน้าต้องจ่ายค่าโง่วันละ 4 แสน


จับโกหก ”ณัฐชาติ” ประธานบอร์ด ขสมก.ลักไก่สื่อมวลชนอ้างไม่มีวาระแจ้งเพื่อทราบแก้สัญญาอี-ทิคเก็ต ทั้งๆที่เรื่องจริงถกกันเครียดตั้งแต่บ่ายโมงยัน 3 ทุ่ม ฟันธงขืนปล่อยผ่านมีแต่ความเสียหายคนใช้น้อยเกินไปไม่คุ้มค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เอกชน ชี้ยกเลิกสัญญาโครงการไปก่อนง่ายกว่าเยอะ ขืนดันทุรังแก้สัญญาเสี่ยงคุกเปล่าๆ ด้านคณะกรรมการฯหรือบอร์ดขสมก.โบ้ยโยนเผือกร้อนให้ “ประยูร” ใช้อำนาจผู้อำนวยการ ตัดสินใจเองได้ไม่ต้องตีกลีบมาที่บอร์ดอีก ขณะที่เพจดังถามจี้ใจ “บิ๊ก ขสมก.”ที่ดิ้นรนเดินหน้าแก้สัญญาให้ได้เป็นเพราะโดนบีบหรือคาดหวังอะไรกันแน่ อย่าดูถูกคนไทยไม่โง่หากยังดันทุรังเดินหน้าต่อ ขสมก.ต้องเฉือนเนื้อตัวเองจ่ายค่าเช่าวันละ 4แสนหรือเดือนละ 12 ล้าน ถามใครมีเอี่ยวเค็กก้อนนี้บ้าง?

ล่าสุดเมื่อบ่ายวานนี้ ( 5 พ.ย. )เพจดัง “สืบจากข่าว” โดยนายสุวิทย์ บุตรพริ้ง บรรณาธิการฯได้ไลฟ์สดเปิดโปงขบวนการฉ้อฉลภายใน ขสมก.ว่า ภายหลังจากบอร์ด ขสมก.มีการประชุมวาระเร่งด่วนในวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา วันรุ่งขึ้นปรากฏข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ กรณีนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก.ให้สัมภาษณ์ว่า ยังไม่ได้นำเรื่องการแก้สัญญาโดยตัดเครื่องหยอดเหรียญ “แคชบ็อกซ์” (Cash Box) ออกจากสัญญาเดิมแจ้งให้ที่ประชุมบอร์ดทราบ ตนขอเรียนว่า นายณัฐชาติ กำลังโกหกประชาชนอีกแล้วคล้ายกับเมื่อครั้งลักไก่มติบอร์ดจัดซื้อรถเมล์ เอ็นจีวี 489 คันที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน จึงขอตั้งข้อสังเกตเป็นประเด็นๆดังนี้

ประเด็นที่ 1.การประชุมบอร์ด ขสมก.วันที่26 ตุลาคมเริ่มตั้งแต่ช่วงบ่ายมีการถกเกยงกันอย่างเคร่งเครียดจนถึงสามทุ่มวันเดียวกัน โดยเฉพาะวาระเรื่องการขอมติบอร์ดแก้ไขสัญญาตัดอุปกรณ์ แคชบ็อกออกจากสัญญาเดิมที่ ขสมก.ได้ทำไว้กับคู่สัญญา บริษัท ช ทวี จำกัด ตั้งแต่มิถุนายน 2560 ซึ่งในสัญญาและข้อกำหนดใน ทีโออาร์.ระบุการส่งมอบไว้อย่างชัดเจนว่า งวดที่ 1.บริษัท ช ทวี ต้อง ติดตั้งระบบ E - Ticket จำนวนไม่น้อยกว่า 100 คัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์เพื่อให้ระบบ E - Ticket สามารถใช้งานได้ตั้งแต่อุปกรณ์บนรถโดยสารประจำทาง ( Tier 1) ระบบคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศที่อู่โดยสาร ( Tier 2) และระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลางและระบบสารสนเทศ ( Tier 3)  ส่งมอบภายในระยะเวลา 120 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา ข้อนี้ เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า บริษัท ช ทวี ไม่สามารถส่งมอบอุปกรณ์และระบบต่างๆได้ งวดที่ 2.ติดตั้งระบบ E - Ticket จำนวนไม่น้อยกว่า 700 คัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์เพื่อให้ระบบ E - Ticket สามารถใช้งานได้เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับระบบสารสนเทศตามมาตรฐานตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม ( Tier 4)  ส่งมอบ ภายในระยะเวลา 180 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา ข้อนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า บริษัท ช ทวี ไม่สามารถส่งมอบอุปกรณ์และระบบต่างๆได้ และงวดที่ 3.ติดตั้งระบบ E - Ticket สำหรับรถโดยสารประจำทาง จำนวนที่เหลือทั้งหมดจนครบ 2,600 คัน รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและอุปกรณ์ทั้งหมดที่นำเสนอในโครงการนี้ให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ ส่งมอบ ภายในระยะเวลา 365 วัน นับถัดจากวันลงนามในสัญญา เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่า บริษัท ช ทวี ไม่สามารถส่งมอบงานได้ตรงตามสเปคและตามกำหนดเวลาได้เลย แต่ ขสมก.ยังฝืนเดินหน้าโครงการต่อไปเพื่ออะไร ทั้งๆที่ ขสมก.ได้รับความเสียหายมานานข้ามปี

นายสุวิทย์กล่าวต่อไปว่า “ บริษัท ช ทวี ไม่สามารรถส่งมอบอุปกรณ์และระบบสารสนเทศสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับรายได้หลักของ ขสมก.ได้อีกทั้งยังทำให้ ขสมก.ไม่สามารถเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูเพื่อแก้ปัญหาหนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาทได้ โดยเฉพาะเรื่องการลดค่าจ้างโดยลดจำนวนพนักงานเก็บค่าโดยสารลง อีกทั้งยังส่งผลให้สหภาพฯขสมก.ได้รับความเดือดร้อนเรียกร้อง ขสมก.ให้จ่ายค่าตอบแทน 5 และ 10เปอร์เซนต์แก่พนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารที่ไม่ได้รับมานานจากการฉีกคูปองของ บริษัท ช ทวี แทนค่าโดยสาร ผลกระทบดังกล่าวสร้างความเสียหายให้ ขสมก.อย่างมากแต่แทนที่ผู้บริหารจะดำเนินการกับเอกชนตามสัญญาและระเบียบปฏิบัติกลับหาทางช่วยเหลือเอกชนรายนี้ตลอดเวลา”

ประเด็นที่ 2.ที่ประชุมบอร์ด ขสมก.ยังเน้นย้ำไม่ให้บรรจุเรื่องการแก้ไขสัญญาดังกล่าวเข้ามาในที่ประชุมอีกหลังจากมีความพยายามยัดเยียดนำเข้ามาไม่ต่ำกว่า 3 รอบ ในครั้งนี้ที่ประชุมบอร์ดมีมติไม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่โยนเผือกร้อนให้นายประยูร ช่วยแก้ว ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.ตัดสินใจเองได้โดยตำแหน่งผู้อำนวยการ เช่นเดียวกับกรณีที่ นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.คนก่อนหน้าที่ใช้อำนาจในฐานะผู้อำนวยการ ขสมก.ยกเลิกสัญญาจัดซื้อรถโดยสาร เอ็นจีวี 489 คันมูลค่า 3 พันกว่าล้านบาทจากบริษัทเบสทริน โดยไม่นำเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดเพื่อขอมติยกเลิกสัญญาแต่ใช้วิธียกเลิกสัญญาก่อนแล้วจึงไปแจ้งให้ที่ประชุมบอร์ดรับทราบในภายหลัง ทั้งๆที่ บริษัทเบสทริน ได้วางเงินประกันภาษีต่อศุลกากรเพื่อนำรถออกมาส่งมอบให้ ขสมก.แถมยังได้ส่งมอบและโอนเป็นกรรมสิทธิ์ของ ขสมก.ไปแล้วถึง 292 คันนอกจากนี้ ขสมก.ยังมีข้อตกลงการส่งมอบรถโดยสารได้ครบจำนวน 489 คันกับคณะกรรมการตรวจรับที่มี นายสมควร นาสนม เป็นประธานกรรมการตรวจรับก่อนหน้าที่ นายสมศักดิ์ จะยกเลิกสัญญาโดยมิชอบด้วยกฏหมายเป็นเหตุให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ ขสมก.ต้องจ่ายเงินค่าโง่หรือค่าชดเชยให้เอกชนถึง 1 พันกว่าล้านบาท แต่กรณีของบริษัทเบสทรินยังมีข้อแตกต่างจากกรณีของบริษัท ช ทวี ไม่เหมือนกัน เนื่องเพราะ บริษัท ช ทวี ไม่สามารถจัดส่งอุปกรณ์อีทิคเก็ตและแคชบ็อกได้ตามสเปกที่กำหนดไว้ใน ทีโออาร์.แม้แต่เครื่องเดียวแถมยังล่วงเลยระยะเวลาส่งมอบมาแล้วนานข้ามปี

ประเด็นที่ 3. ตามที่นายณัฐชาติ อ้างว่า ในวันที่ 26 ตุลาคม ไม่มี “วาระแจ้งเพื่อทราบต่อบอร์ด” กรณีวาระแก้ไขสัญญาอีทิคเก็ต นั่นชัดว่ามีการโกหกประชาชน เพราะมีวาระแก้ไขสัญญาและเป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องเชิญบอร์ดเข้าประชุมนัดพิเศษ แต่ไม่สามารถโน้มน้าวหว่านล้อมบอร์ดทุกคนได้ การที่นายณัฐชาติออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ไม่มีวาระแจ้งเพื่อทราบต่อบอร์ด”จริงๆแล้วเป็นการแก้เกี้ยวต่อสื่อมวลชน เมื่อบอร์ดไม่เล่นด้วยจึงหวังจะใช้วิธีกดดันหรือหว่านล้อมนายประยูร ให้ลงนามแก้ไขสัญญาดังกล่าวแล้วจึงรายงานให้บอร์ดรับทราบในภายหลัง เช่นเดียวกับกรณีนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ฉีกสัญญาจัดซื้อรถจากบริษัทเบสทรินทิ้งแล้วถึงไปแจ้งให้บอร์ดรับทราบในภายหลัง

ประเด็นที่ 4.นายสุวิทย์ เผยต่อไปว่า ในที่ประชุมมีบอร์ดท่านหนึ่งได้เปรียบเทียบความคุ้มค่าของอุปกรณ์อีทิคเก็ต โดยใช้ตารางรายงานการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามที่นางพณิดาทองสุข ประธานกรรมการตรวจรับฯระบุว่าปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิวันละ 10,000 คนนำมาคูณด้วยอัตราค่าโดยสาร 6.50 บาท/คน ขสมกจะมีรายได้ 65,000 บาท/วัน หรือ 1,950,000 บาท/เดือน ซึ่งถือว่าน้อยมากและเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเช่าอุปกรณ์อีทิคเก็ต บริษัทเอกชนคิดค่าเช่าวันละ 190 บาท/คัน ตามสัญญาทั้งหมดคือ 2,600 เครื่อง ขสมก.ต้องจ่ายค่าเช่าถึงวันละ 494,000 บาทในขณะที่ ขสมก.มีรายได้เฉลี่ยเพียงวันละ 65,000 บาท ขสมก.จะต้องแบกรับค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้เอกชนถึง 429,000 บาท/วันหรือ 12,870,000 บาท/เดือน ถ้าเป็นเช่นนี้หากนายประยูร ยังดันทุรังยินดีที่จะจ่ายค่าโง่วันละ 4 แสนกว่าบาทต่อไป คงต้องถามตรงๆว่าใครมีเอี่ยวเค็กก้อนนี้บ้าง?

นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ต้องทวงถามไปพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่า ตามที่ท่านได้ลั่นวาจาไว้กับชาวบ้านในระหว่างลงพื้นที่จังหวัดพะเยาไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ว่า  “ได้กำชับทุกกระทรวงไปดูในทุกโครงการที่ทำอยู่ มีโครงการไหนทุจริตหรือไม่ หากมีและผลสอบว่าผิด ทุจริตจริง ต้องโดนลงโทษหมด ผมไม่เว้น ตำรวจ ทหาร พลเรือน ต้องเอาออก ไล่ออกให้หมด หรือกรณีนี้ท่านจะยกเว้น ขสมก.หรืออย่างไร? ทั้งๆที่เรื่องราวฉาวโฉ่ของ ขสมก.ต้องจัดให้เป็น ทอร์คออฟเดอะทาวน์ โด่งดังมากภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช.”

ความล้มเหลวแบบยับเยินพังไม่เป็นท่า ขสมก.ไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่โครงการเดียว ชี้ให้เห็นถึง ฝีมือการบริหารของนายประยูร ช่วยแก้ว รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.กับนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก.ไปแล้วว่า ไร้ความสามารถขาดประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิง แถมยังนำพาองค์การขสมก.เข้าระเข้าพง พบกับความหายนะมีคดีความถูกฟ้องร้องและร้องเรียนมาตลอด คงต้องถามรัฐมนตรีไพรินทร์ ชูโชติถาวร ว่าผลงานเพื่อนซี้ที่มาจาก ปตท.ด้วยกันมีแค่นี้เองหรือ หรือว่าท่านคิดจะหาทางแก้ไข โดยแสวงหาคนดีมีฝีมือตรงไปตรงมาเข้ามาช่วยคลี่คลายปลดล็อคให้ ขสมก.ได้เดินหน้าต่ออย่างสมศักดิ์ศรีได้หรือไม่? บก.สืบจากข่าวกล่าวในที่สุด