news on October 31, 2018, 09:31:40 PM


สวทช. นำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้ง พัฒนาปรับใช้กับฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อความยั่งยืน


สวทช. และมูลนิธิชัยพัฒนา MOU ความร่วมมือโครงการพัฒนากิจกรรมการเลี้ยงกุ้งขาวของฟาร์มทดสอบ


(30 ต.ค. 2561) ณ อาคารสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา- ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาโครงการพัฒนากิจกรรมการเลี้ยงกุ้งขาวของฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” มูลนิธิชัยพัฒนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและประสิทธิภาพที่มีอยู่ของฟาร์มสร้างแนวทางการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนให้กับฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” นับเป็นการนำผลงานวิจัยที่เข้มแข็งไปประยุกต์ใช้และสนับสนุนอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน


ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.
กล่าวว่า สวทช. โดยเฉพาะศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือไบโอเทค มีงานวิจัยด้านสัตว์น้ำตั้งแต่การปรับปรุงพันธุ์ การใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์เพื่อพัฒนาอาหารและสารเสริมภูมิคุ้มกัน ระบบการเพาะเลี้ยง รวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคและสุขภาพสัตว์น้ำ ซึ่งได้มีความร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งและหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำผลงานวิจัยที่เข้มแข็งไปประยุกต์ใช้และสนับสนุนอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับโครงการพัฒนากิจกรรมการเลี้ยงกุ้งขาวที่ฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ” ที่จะดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาเริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่างนักวิจัย สวทช. และชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฏร์ธานีมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างแนวทางการเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืนให้กับฟาร์มทดสอบและสาธิตมีนเกษตร “สองน้ำ”  โดยนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีมาพัฒนาและปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและประสิทธิภาพที่มีอยู่ของฟาร์ม เช่น การเลี้ยงกุ้งในบ่อดินเชิงพาณิชย์ โดยคำนึงถึงความสมดุลกับสภาพแวดล้อม เน้นการควบคุมคุณภาพน้ำโดยสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างของเสียที่เกิดขึ้นในบ่อกับความสามารถของระบบบำบัดธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ การเสริมสร้างสุขภาพกุ้ง และระบบการตรวจติดตามเชื้อก่อโรคที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้แก้ไขก่อนจะมีการระบาดของโรค เป็นต้น และในอนาคตจะเชื่อมโยงผลงานวิจัยจากศูนย์แห่งชาติอื่นๆ ของ สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรเพิ่มเติม

“โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ สวทช. จะสามารถนำเทคโนโลยีต่างๆ จากการวิจัยและพัฒนามาทดลองใช้งานให้เกิดประโยชน์ ซึ่งผลงานของความร่วมมือนี้จะเป็นต้นแบบระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สามารถขยายผลให้เกษตรกร และสร้างเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกันอย่างเข้มแข็งเป็นลำดับ และสามารถพัฒนาความร่วมมือกับกิจกรรมหรือโครงการอื่นๆ ของมูลนิธิชัยพัฒนาได้ต่อไปในอนาคต”ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าว


ด้าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวเสริมว่า “ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ควรต้องมีงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนและเกษตรกรได้เพราะหากยังยึดติดอยู่กับการแก้ปัญหาด้วยสภาพเดิมๆ แล้วจะไม่เพียงพอ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้จากความร่วมมือดังกล่าวยังสามารถขยายผลต่อไปยังประชาชนได้”