news on October 30, 2018, 03:42:27 PM


มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และ สวทช. ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์ฯจัดบรรยายพิเศษ “การวิจัยขั้วโลก”


ภาพบรรยากาศบรรยายพิเศษการวิจัยขั้วโลก


มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย จัดบรรยายพิเศษ เรื่องการวิจัยขั้วโลก (Polar Research) ในวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2561 เวลา 14.00 - 16.00 น. ภายในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 44 ณ ห้องประชุม GH202 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ โดยเชิญนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่างๆ ที่มีการวิจัยขั้วโลกทั้งขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ร่วมบรรยายพิเศษ ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และนอร์เวย์ รวมถึงประเทศไทย เพื่อรับฟังข้อมูลงานวิจัยและประสบการณ์ทำวิจัยที่ขั้วโลกของนักวิจัยแต่ละประเทศ รวมถึงความร่วมมือกับนักวิจัยไทยในการไปศึกษาวิจัยที่ขั้วโลก เพื่อเป็นข้อมูลเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก อาทิ ภาวะโลกร้อน ขยะพลาสติก อันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป


ภายในงาน ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน และคณะผู้ร่วมบรรยาย ประกอบด้วยDr. Yang Huigen, Director General, Polar Research Institute of China / Prof. Dr. Satoshi Imura, Vice Director-General, National Institute of Polar Research, Japan / Dr. HyoungChul Shin, Korea Polar Research Institute / Prof. Dr. Kim Holmén, International Director, Norwegian Polar Instituteและ รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยมี รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ


รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปว่า การบรรยายพิเศษในครั้งนี้ได้เชิญผู้แทนประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี นอร์เวย์ รวมทั้งประเทศไทยมาร่วมนำเสนอว่าในแต่ละประเทศมีโครงการศึกษาวิจัยที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้อย่างไรเพื่อจะได้เปิดมุมมองที่กว้างขึ้นว่าประเทศอื่นทำกันอย่างไร เพราะประเทศไทยอยู่ในช่วงกำลังเริ่มต้นศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลก เพราะฉะนั้นเราสามารถที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆที่ประเทศเหล่านี้ได้เรียนรู้มาแล้วและจากการที่ทีมนักวิจัยไทยได้มีโอกาสไปทั้งขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ในช่วงประมาณเกือบๆสิบปีที่ผ่านมา พบว่ามีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อย่างการไปวิจัยขั้วโลกใต้ที่แอนตาร์กติก เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศสูงขึ้น ทำให้สิ่งที่พบต่อมาคือในเรื่องของการเกิดพยาธิบนตัวปลามากขึ้นซึ่งอันนี้เป็นสาเหตุมาจากการที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั่งนักวิจัยไทยได้มีโอกาสไปช่วยนักวิจัยของญี่ปุ่นหรือจีนนับจำนวนอัตราการรอดของนกเพนกวินโดยพบว่าอัตราการรอดของนกเพนกวินน้อยลงปกติอัตราการรอดอยู่ที่ประมาณ50% แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงแค่10%เท่านั้น



ภาพการศึกษาวิจัยที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้


ภาพเรือสำรวจของจีนในการศึกษาวิจัยที่ขั้วโลก


ขณะที่การไปวิจัยที่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยเราเพิ่งกลับมาจากการศึกษาที่ขั้วโลกเหนือ พบว่าเนื่องจากภาวะโลกร้อนมีผลกระทบอย่างมาก ทำให้พฤติกรรมการกินอาหารของสัตว์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเช่น หมีขาว ซึ่งปกติจะกินอาหารพวกแมวน้ำ แต่เนื่องจากปัจจุบันอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้น้ำแข็งละลาย การหาอาหารของหมีขาวจึงยากขึ้นไม่สามารถที่จะไปเจอแมวน้ำได้ แล้วเรายังมีภาพที่เป็นหลักฐานเห็นชัดว่าหมีขาวบางตัวเปลี่ยนพฤติกรรมไม่กินแมวน้ำแล้วแต่ไปกินพวกหญ้าหรือมอสส์แทน ซึ่งอาจจะไม่ดีนักเพราะหญ้าหรือมอสส์ไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารที่สูงเท่าใดนัก หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่เราพบ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นทำให้สัตว์ทะเลหรือสิ่งมีชีวิตต่างๆเปลี่ยนแปลง เราพบเห็นพวกแมงกะพรุนหรือพวกหวีวุ้นมากขึ้น ซึ่งจุดนี้เป็นดัชนีชี้วัดให้เห็นว่า เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลที่นั่นสูงขึ้นมีผลทำให้เกิดการอพยพของสัตว์ใหม่ๆมากขึ้นด้วย

“ในการไปศึกษาวิจัยที่ขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ของนักวิทยาศาสตร์ไทยเราไม่สามารถทำหมดได้ทุกหัวข้อ สิ่งที่สามารถทำได้คือ เราเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งที่จะต่อเติมภาพทำให้เห็นภาพกว้างและมากขึ้นว่าในปัจจุบันที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร อย่างการไปที่ขั้วโลกเหนือ นักวิจัยได้เน้นไปศึกษาวิจัยดำน้ำเพื่อดูการเปลี่ยนแปลง ซึ่งประเทศอื่นยังไม่ค่อยได้มีโอกาสไปดำน้ำที่นั่น เพราะฉะนั้นการที่เราไปสังเกตและเก็บข้อมูลถึงใต้น้ำจึงสามารถที่จะเป็นจิ๊กซอว์เสริมเข้าไปได้ว่า ถ้าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแล้วจะมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลเป็นอย่างไร ซึ่งหลายคนคิดว่าเราไปศึกษาวิจัยที่ขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ทำไม ห่างไกลจากประเทศไทยตั้งหมื่นกิโลเมตร แต่จริงๆแล้วมีความสำคัญมาก เพราะในปัจจุบันเราทราบแล้วว่ากิจกรรมมนุษย์ที่ทำอยู่ ณ ขณะนี้ที่ประเทศไทยสามารถส่งผลไปถึงที่ขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ได้เช่น เรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เราปล่อยในประเทศไทยในตอนนี้เราพิสูจน์แล้วว่าก๊าซไปตกที่ขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ทำให้บริเวณนั้นอุณหภูมิของบรรยากาศสูงขึ้น น้ำแข็งละลายมากขึ้น หรือล่าสุดที่เราได้พบคือการทิ้งขยะของเรา ผลสุดท้ายไปพบว่าที่ขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้มีการสะสมของขยะในปริมาณที่สูงมาก ทั้งๆที่ไม่มีผู้คนอยู่อาศัยฉะนั้น จึงเป็นบทเรียนว่าการกระทำของเราไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตามจะมีผลกระทบต่อขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ เพราะฉะนั้นคงถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมด้วยช่วยกันที่จะอนุรักษ์โลกใบนี้ของเราให้สามารถที่จะอยู่ได้อีกยาวนาน” รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในการศึกษาวิจัยขั้วโลก มีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
ความร่วมมือกับญี่ปุ่น : ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยขั้วโลกของประเทศไทยภายใต้โครงการส่งนักวิจัยไทยไปขั้วโลกใต้ครั้งที่ 1 ของ สวทช. ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันแห่งชาติเพื่อการวิจัยขั้วโลกญี่ปุ่น ให้นักวิจัยไทยร่วมเดินทางไปศึกษากับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกญี่ปุ่นรุ่นที่ 46

ความร่วมมือกับจีน : สวทช. รับสนองพระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อสานงานวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศ โดยมีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักบริหารอาร์กติกและแอนตาร์กติก ที่ดูแลงานด้านนโยบายการศึกษาวิจัยขั้วโลก ทำให้มีนักวิจัยไทยสามารถเข้าร่วมกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกแห่งจีน ต่อมามีการลงนามในบันทึกความเข้าใจด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีลงนาม

ความร่วมมือกับเกาหลี : ประเทศเกาหลีมีส่วนในการสนับสนุนให้ประเทศไทยได้มีการทำวิจัยที่แอนตาร์กติก โดยเฉพาะการส่งนักวิจัยไทยไปทำการดำน้ำสำรวจวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกในปี พ.ศ. 2557 ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นสมาชิกของเครือข่ายการทำงานวิจัยที่ทวีปแอนตาร์กติกด้วย

ความร่วมมือกับนอร์เวย์ :สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนหมู่เกาะสวาลบาร์ด และทรงมีพระราชกระแสรับสั่งว่า “ประเทศไทยควรเข้าร่วมศึกษาวิจัยขั้วโลกเหนือต่อเนื่องจากการที่ประเทศไทยมีโครงการขั้วโลกใต้ตามพระราชดำริฯ เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว” ต่อมาคณะทำงานฝ่ายไทยได้เดินทางไปหารือกับมหาวิทยาลัย The University Centre in Svalbard และลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการศึกษาวิจัยขั้วโลกกับจุฬาลงกรรณ์มหาวิทยาลัย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ณ วังสระปทุม จากนั้นคณะนักวิจัยไทยได้เดินทางสำรวจขั้วโลกเหนือภายใต้โครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศในทะเลและชายฝั่งหมู่เกาะสวาลบาร์ด
« Last Edit: October 30, 2018, 03:46:31 PM by news »