news on October 16, 2018, 01:29:42 PM

ภาพข่าวผู้บริหารร่วมถ่ายภาพ


ภาพข่าวน้องๆ ทีมลมพระยากลุ่ม 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศ


สจล. เผยเทรนด์พลิกโฉม ธุรกิจ-อุตสาหกรรมไทย ให้รอด ! ย้ำเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” – “บิ๊กดาต้า” ใครไม่พร้อมเตรียมจอด


ภาพระบุปัญหา


ภาพแต่ละบริษัทกำลังให้โจทย์น้อง ๆ




ภาพน้อง ๆ กำลัง Brainstrom


น้องๆ กำลังพรีเซนท์ผลงาน


ภาพบรรยากาศวันประกาศผล


กรุงเทพฯ 16 ตุลาคม 2561- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เดินหน้าเสริมสร้างศักยภาพบัณฑิตไทยเทียบชั้นนานาชาติ รุดสร้างองค์ความรู้และทักษะรับยุคดิจิทัล 4.0 ตอกย้ำความสำเร็จงาน ไอเอสทีเอส 2018 ระดมมันสมองหัวกระทิ 5 ชาติ แก้โจทย์เพิ่มประสิทธิภาพกระตุ้นการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมเผยผลงานออกแบบโมบายแอปพลิเคชันส่งเสริมการทำธุรกิจท่องเที่ยว จากทีมลมพระยา กลุ่ม 2 ได้รับรางวัลชนะเลิศรับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


   ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
เปิดเผยว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและองค์ความรู้ในยุคดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของคนเราในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการดำเนินธุรกิจและกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วโลก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เรียกว่า “เทคโนโลยี ดิสรัปชั่น” ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องพลิกโฉมระบบการดำเนินงานตลอดจนรูปแบบการให้บริการขององค์กรธุรกิจ เพื่อให้เท่าทันการแข่งขันและตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ สจล. ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย จึงเห็นถึงความสำคัญในการสร้างบัณฑิตยุคใหม่ให้มีความพร้อม ทั้งในด้านองค์ความรู้วิชาการและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น ถือเป็นสร้างโอกาสการแข่งขันและการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศให้ทัดเทียมนานาชาติได้ในอนาคต

   ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สจล. ได้เร่งพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ควบคู่ไปกับการเปิดหลักสูตรใหม่ให้สอดรับสถานการณ์และความต้องการของตลาดแรงงาน อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (สหวิทยาการ) วิศวกรรมระบบการผลิตขั้นสูง (นานาชาติ) การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (นานาชาติ) นวัตกรรมการจัดการอุตสาหกรรมการบินและการบริการ และนวัตกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ เป็นต้น ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบุคลากรระหว่างกัน โดยครั้งนี้ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาแห่งชาติด้านเทคโนโลยีประเทศญี่ปุ่น (NIT หรือ KOSEN) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะงะโอะกะ (NUT) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโทโยฮาชิ (TUT) จัดการแข่งขันประกวดนวัตกรรมเพื่อธุรกิจระดับนักศึกษาขึ้นผ่าน “โครงการการจัดการประชุมนานาชาติ หรือ ไอเอสทีเอส 2018 (ISTS - International Seminar on Technology for Sustainability 2018)” ร่วมด้วย 5 องค์กรธุรกิจ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทเรือเร็วลมพระยา จำกัด บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ออโต้เดสก์ และเอดับบลิวเอส เอ็ดดูเคชั่น ร่วมให้โจทย์ปัญหาทางธุรกิจแก่ผู้เข้าแข่งขัน

   “กิจกรรมทางการศึกษา ไอเอสทีเอส 2018  เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วโลกร่วมคิดค้นและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจ มุ่งเน้น 5 ด้านสำคัญ ได้แก่ Smart Home & Smart City, Drone, Financial, Artificial Intelligence, Virtual Reality/Augmented Reality  อันสอดรับกับสถานการณ์ในปัจุบันที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อองค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังช่วยให้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันจะพบว่าสถาบันทางการเงินต่างเร่งพัฒนาเทคโนโลยี สำหรับจัดการฐานข้อมูลให้การทำธุรกรรมสะดวกรวดเร็วและแม่นยำในเสี้ยววินาที โดยเฉพาะการพิจารณาสินเชื่อหากใครทำได้เร็วยิ่งได้เปรียบ ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็มีความตื่นตัวในการพัฒนาระบบตอบรับและรับจองให้รวดเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งการใช้เทคโนโลยีโลกกึ่งเสมือนจริง (AR) มาสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่เพิ่มอรรถรสและความประทับใจ เป็นต้น” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว 

   ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า
ไฮไลท์สำคัญคือการแข่งขันแก้ปัญหาในสถานการณ์เสมือนการทำงานจริง ผู้แข่งขันต้องร่วมกันวางแผนการจัดการเวลา การทำงานกับเพื่อนร่วมทีมต่างชาติ เพื่อแก้โจทย์ที่ได้มาจากภาคเอกชน ในรูปแบบแฮ็คคาธอน (Hackathon) ซึ่งเป็นการบูรณาการกิจกรรมแฮคกิ้ง (Hacking) และการประชุมเชิงปฏิบัติการทางเทคนิค (Technical workshops) แบบมาราธอน 7 วัน ภายใต้ธีม “Innovation Hackdiator: Solution for Sustainability Challenge” โดยมีนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 30 ทีม จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย แต่ละทีมจะได้รับโจทย์ปัญหาทางธุรกิจจาก 5 องค์กรธุรกิจ ที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ประกอบด้วย 1. นวัตกรรมเพื่อธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ 2. ระบบแสดงผลข้อมูลสำหรับสิ่งแวดล้อม 3. แชทบอทปัญญาประดิษฐ์เพื่อบ้านอัจฉริยะ 4. เทคโนโลยีที่ทำให้กลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ เปลี่ยนไป และ 5. โดรนเพื่อการบริหารจัดการแวร์เฮาส์ ทั้งนี้ สำหรับผลการแข่งขัน ทีมที่ชนะเลิศได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ ทีมลมพระยากลุ่ม 2 ผลงานออกแบบโมบายแอปพลิเคชันส่งเสริมการทำธุรกิจท่องเที่ยวที่สามารถให้บริการนักท่องเที่ยวจบภายในแอปฯเดียว ตั้งแต่การจองตั๋วจนถึงจบการเดินทาง ซึ่งทีมนี้มีสมาชิกเป็นนักศึกษาของ สจล. 2 คน คือ นางสาวพรรษชล ฉัตรอุทัย สาขาวิชาการจัดการวิศวกรรมและเทคโนโลยีนานาชาติ และนางสาวพัชรธัญ สุทธิชาติ จากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ร่วมทีมอยู่ด้วย


   ด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ตามที่ธนาคารได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม NEXT Lab กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา การสนับสนุนการจัดงาน ไอ เอส ที เอส ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวแรกและก้าวถัดไปที่ได้เริ่มทำภารกิจที่สำคัญในการส่งเสริมวิจัยด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งธนาคารในฐานะผู้สนับสนุนหลักมีความยินดี และประทับใจในความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหา การระดมความคิด วิธีการแก้ปัญหาในรูปแบบใหม่ ของผู้เข้าแข่งขัน ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน 7 วัน 6 คืนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังได้เห็นความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจนสำเร็จของนักศึกษาจาก 5 ประเทศ และ ความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจของเหล่าพี่เลี้ยงที่มาจากหลากหลายประเทศ ซึ่งบุคคลคนเหล่านี้คือต้นแบบ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมของประเทศไปสู่ระดับสากล  ตลอดจนนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ให้เกิดขึ้นเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม

   พิธีปิดและมอบรางวัลกิจกรรม ไอ เอส ที เอส 2018 จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กรุงเทพฯ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://ists2018.kmitl.ac.th

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับบรรณาธิการ
ผลการแข่งขันทั้ง  7 ประเภทรางวัล มีผู้ชนะรางวัลในประเภทต่างๆ ได้แก่
•   The Grand Winner Award - ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (H.R.H PRINCESS MAHA CHAKRI SIRINDHORN's Cup) ได้แก่ ทีมลมพระยา กลุ่ม 2
•   รางวัลดีเด่นด้านการตลาด (Best Commercialization Award) – ได้รับถ้วยรางวัลจากนายกสภาสถาบันฯ สจล. ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์  (KMITL Councilor’s Cup) ได้แก่ ทีมลมพระยา กลุ่ม 1 
•   รางวัลดีเด่นด้านเทคโนโลยี (Best Technicality Award) - ได้รับถ้วยรางวัลจากอธิการจากสถาบันโคเซ็น (NIT President’s Cup) ได้แก่ ทีมเคทีบี กลุ่ม 4
•   รางวัลดีเด่นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Best Sustainability Award) – ได้รับถ้วยรางวัลจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยคุมาโมะโตะ (NIT Kumamoto College President’s Cup) ได้แก่ ทีมเอดับบลิวเอส กลุ่ม 2
•   รางวัลดีเด่นด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ (Best Innovation Award) – ได้รับถ้วยรางวัลจากอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL President’s Cup) ได้แก่ ทีมออโต้เดสก์ กลุ่ม 3
•   Most Popular Award presented by JAL – ได้รับรางวัลจากสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (Jal) ได้แก่ ทีมเคทีบี กลุ่ม 1
•   Best Case Award - ได้รับรางวัลจาก 5 บริษัท
-   รางวัลกรุงไทย อวอร์ด (Krungthai Award) ได้แก่ ทีมเคทีบี กลุ่ม 4
-   รางวัลอเมซอน เอดับบลิวเอส อวอร์ด (Amazon AWS Award) ได้แก่ ทีมเอดับบลิวเอส กลุ่ม 2
-   รางวัลพีทีที ดิจิตอล อวอร์ด (PTT Digital Award)ได้แก่ ทีมพีทีที กลุ่ม 4
-   รางวัลออโต้เดสก์ อวอร์ด (Autodesk Award) ได้แก่ ทีมออโต้เดสก์ กลุ่ม 3
-   รางวัลลมพระยา อวอร์ด (Lomprayah Award) ได้แก่ ทีมลมพระยา กลุ่ม 3
« Last Edit: October 16, 2018, 01:38:46 PM by news »

news on October 16, 2018, 01:31:37 PM
International Seminar on Technology for Sustainability (ISTS 2018)

•   ISTS - International Seminar on Technology for Sustainability คืองานสัมมนาที่เปิดโอกาสให้กับนักศึกษาจากทั่วโลกที่มีใจรักในการแบ่งปันและเรียนรู้การแก้ปัญหาทางเทคนิคและการจัดการข้ามวัฒนธรรมของในโลกธุรกิจ ดังนั้น ISTS เป็นกิจกรรมทางการศึกษาที่จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาได้ลองคิดและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่ตอบโจทย์ปัญหาทางธุรกิจ

•   ในปีนี้ งาน ISTS 2018 จัดขึ้นในประเทศไทย โดยมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ณ กรุงเทพฯและพัทยา  ระหว่างวันที่ 7-13 ตุลาคม 2561 โดยการร่วมมือของ 4 สถาบันการศึกษา ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) สถาบันการศึกษาแห่งชาติด้านเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น (NIT หรือ KOSEN) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนะงะโอะกะ (NUT) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีโทโยฮาชิ (TUT) 

•   โดยในปีนี้จัดกิจกรรมในรูปแบบ แฮ็คคาธอน (Hackathon) ซึ่งเป็นการบูรณาการกิจกรรมแฮคกิ้ง (Hacking) และ การประชุมเชิงปฏิบัติการทางเทคนิค (Technical workshops) เป็นการแข่งขันในสถานการณ์ที่เสมือนชีวิตการทำงานจริงในการวางแผนการจัดการเวลา การทำงานเป็นทีม ปรับเปลี่ยนคิดค้นแก้ปัญหา หรือ Hack ปัญหา ติดต่อกันแบบมาราธอน (Marathon) ภายใต้ธีม “Innovation Hackdiator: Solution for Sustainability Challenge”  โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขันแต่ละทีมจะได้รับโจทย์ปัญหาทางธุรกิจจาก 5 บริษัท ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย บริษัทเรือเร็วลมพระยา ออโต้เดสก์ ปตท.ดิจิทัล และเอดับบลิวเอส เอ็ดดูเคชั่น ซึ่งปีนี้มีผู้ร่วมแข่งขัน จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น 54 คน สิงคโปร์ 16 คน ฮ่องกง 20 คน อินโดนีเซีย 12 คน และไทย 50 คน แบ่งเป็น 30 ทีม โดยโจทย์จะเน้นใน 5 ด้านจาก Sustainability Development Goals (SDGs) ตามนโยบายขององค์การสหประชาชาติ และสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทางด้านนวัตกรรม การดูแลสุขภาพ ปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจและช่วยกระตุ้นการเติบโตทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น

•   รางวัลที่ได้รับ แบ่งเป็น  7 ประเภทรางวัล ได้แก่
-   The Grand Winner Award - ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (H.R.H PRINCESS MAHA CHAKRI SIRINDHORN's Cup)
-   Best Commercialization Award – ได้รับถ้วยรางวัลจากนายกสภาสถาบันฯ สจล. ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์  (KMITL Councilor’s Cup)
-   Best Technicality Award - ได้รับถ้วยรางวัลจากอธิการจากสถาบันโคเซ็น (NIT President’s Cup)
-   Best Sustainability Award – ได้รับถ้วยรางวัลจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยคุมาโมะโตะ (NIT Kumamoto College President’s Cup)
-   Best Innovation Award – ได้รับถ้วยรางวัลจากอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL President’s Cup)
-   Most Popular Award presented by JAL – ได้รับรางวัลจากสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ (Jal)
-   Best Case Awards - ได้รับถ้วยรางวัลจาก 5 บริษัท ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย บริษัทเรือเร็วลมพระยา ออโต้เดสก์ ปตท.ดิจิทัล และเอดับบลิวเอส เอ็ดดูเคชั่น

news on October 16, 2018, 01:32:37 PM
โครงการการจัดการประชุมนานาชาติ International Seminar on Technology for Sustainability (ISTS 2018)

1. หลักการและเหตุผล
การจัดการประชุมนานาชาติ International Seminar on Technology for Sustainability (ISTS) จัดขึ้นครั้งแรก ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) ปี 2012 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) และสถาบันการศึกษาทางเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Technology - NIT) ประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีการตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน โดยนอกจากจะคำนึงถึงหลักการทางด้านเทคนิคด้วยการออกแบบและแก้ปัญหาทางวิศวกรรมแล้ว ยังควรตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน และการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตในภูมิภาคที่มีความแตกต่างกัน จากประวัติในการจัดการประชุมนานาชาติ International Seminar on Technology for Sustainability สถาบันการศึกษาทางเทคโนโลยีแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น จะหาเจ้าภาพร่วมที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศทั่วโลกเพื่อเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมนานาชาติดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย และเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของตนเองได้ฝึกทักษะในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษอีกด้วย โดยสถาบันการศึกษาทางเทคโนโลยีแห่งชาติจะให้ข้อเสนอแนะของรูปแบบและภาพรวมของกิจกรรม สนับสนุนให้นักศึกษาสถาบันการศึกษาทางเทคโนโลยีแห่งชาติของตนเองทั่วประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมงาน และเป็นพี่เลี้ยงให้แก่มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศทั่วโลกดำเนินการจัดงานได้อย่างราบรื่น
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน International Seminar on Technology for Sustainability (ISTS 2018) ในระหว่างวันที่ 7-14 ตุลาคม 2561 ณ โรงแรม A-one the royal cruise อำเภอพัทยา จังหวัดชลบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้มีลักษณะเป็นแบบ Hackathon กล่าวคือ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีทักษะที่หลากหลายร่วมกันทำงานเป็นทีม เพื่อแก้โจทย์ที่ได้มาจากภาคเอกชนที่มีความต้องการที่ชัดเจนและสามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ทันที โดยจะมีการระดมกำลังสมอง วิเคราะห์และค้นหาแนวทางการแก้ปัญหา รวมทั้งออกแบบและประดิษฐ์เครื่องต้นแบบให้ทันภายในเวลาที่กำหนด พร้อมทั้งนำเสนอให้กับคณะกรรมการได้ฟัง และจะมีการตัดสินเพื่อหาทีมชนะเลิศในงาน ISTS 2018 ซึ่งจะมีการมอบรางวัลถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระเทพฯ และรางวัลถ้วยและเหรียญชนะเลิศประเภทต่าง ๆ รวม 11 รางวัล ในวันที่ 13 ตุลาคม 2561 อีกด้วย การจัดกิจกรรมในรูปแบบนี้เป็นการส่งเสริมแนวทางการสร้างบุคลากรตามแนวทาง Master of Innovation ที่ทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังได้ตั้งไว้ อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ศักยภาพของสถาบันฯ ให้เป็นที่ประจักษ์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชียอีกด้วย

ผู้เข้าร่วมงาน ISTS 2018 รวมทั้งสิ้นประมาณ 260 คน ประกอบไปด้วยนักศึกษาไทยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้มีนักศึกษาต่างชาติจากสถาบันการศึกษาทางเทคโนโลยีแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยอื่นๆ จากประเทศสิงค์โปร์ ฮ่องกง และอินโดนีเซีย รวมทั้งผู้บริหารของสถาบันฯ คณาจารย์ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่สนับสนุนการประชุมนานาชาติฯ

สำหรับโจทย์ที่จะมุ่งเน้นในงาน ISTS 2018 จะมุ่งเน้น 5 ด้าน ได้แก่ Smart Home & Smart City, Drone, Financial, Artificial Intelligence, Virtual Reality/Augmented Reality โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้สนับสนุนหลัก โจทย์ที่จะมอบให้นักศึกษาผู้เข้าร่วมงานแก้ปัญหามาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอกชนอื่นที่ร่วมเป็น partners ในการให้โจทย์ปัญหาอีก 4 บริษัท ได้แก่ Amazon Web Services Inc., Autodesk Inc., บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด และบริษัทเรือเร็วลมพระยา จำกัด ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทั้ง 5 บริษัทดังกล่าวเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจระดับประเทศและระดับนานาชาติเกี่ยวกับประเด็นที่งานนี้มุ่งเน้นทั้ง 5 ด้าน รายละเอียดของโจทย์ปัญหาทั้ง 5 โจทย์ มีดังต่อไปนี้

1) นวัตกรรมเพื่อธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ - Innovative Lending System for Banking (ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน))
ที่มาและรายละเอียด: ระบบการกู้เงินในประเทศไทยปกติจะต้องไปติดต่อธนาคารด้วยตนเอง รวมถึงต้องใช้เอกสารมากมายเมื่อนาคารได้รับเอกสารมาแล้ว ก็ต้องเอาไปตรวจเช็คความถูกต้องของข้อมูลก่อนที่จะอนุมัติ หลังจากเอกสารที่เกี่ยวข้องผ่านการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว ทางธนาคารก็จะต้องทำการประมวลผลจากข้อมูลที่ลูกค้าให้มาเพื่อยืนยันและดำเนินการต่อไปอีก
เป้าหมาย: ระบบการทำธุรกรรมทางการเงินนี้จำเป็นจะต้องใช้การสื่อสารระหว่างธนาคารและลูกค้าอย่างมาก เราจะสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำให้ขั้นตอนเหล่านี้ง่ายและรวดเร็วขึ้นได้อย่างไร?
2) ระบบแสดงผลข้อมูลสำหรับสิ่งแวดล้อม - Environmental Data Visualizer (Amazon Web Services Inc.)
ที่มาและรายละเอียด: ข้อมูลถือเป็นกุญแจสำคัญเบื้องหลังการขับเคลื่อนของเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) การจัดการกับข้อมูลที่ไม่มีการจัดเรียงจำนวนมหาศาล เราจำเป็นจะต้องใช้กำลังคนเพื่อมาจัดการเพื่อให้ข้อมูลสามารถนำไปใช้ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีในการแสดงผลข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
เป้าหมาย: เราจะสามารถออกแบบวิธีการจัดการข้อมูลจำนวนมากด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร? เช่น การเก็บข้อมูลสิ่งแวดล้อมแล้วนำมาวิเคราะห์สภาพของสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น เป็นต้น
3) แชทบอทปัญญาประดิษฐ์เพื่อบ้านอัจฉริยะ - AI Empowered Smart Home Gadget to Improve Daily Lives (Autodesk Inc.)
ที่มาและรายละเอียด: ไม่ว่าใครก็ต้องอยากมีเลขาส่วนตัว ในขณะที่แชทบอทกำลังพัฒนาและแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่ปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นตามเว็บไซต์และแอพพลิเคชันต่างๆ เทคโนโลยีนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในสถานะการณ์หรือปัญหาต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในชีวิตประจำวันของมนุษย์ และช่วยจัดการงานยิบย่อยต่างๆ  ให้เป็นเรื่องง่ายดาย
เป้าหมาย: เราจะสามารถออกแบบและสร้างสรรค์แชทบอทปัญญาประดิษฐ์เพื่อบ้านอัจฉริยะ เพื่อทำให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราในด้านต่าง ๆ ง่ายขึ้นได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา เป็นต้น
4) เทคโนโลยีที่ทำให้กลยุทธ์การตลาดแบบเดิมๆ เปลี่ยนไป - Technology to improve user experience (บริษัทเรือเร็วลมพระยา จำกัด)
ที่มาและรายละเอียด: บริษัทลมพระยาดำเนินธุรกิจให้บริการเรือเร็วเฟอร์รี่ในแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากบริษัทลมพระยาแล้วยังมีอีกหลายบริษัทที่ให้บริการเรือเร็วเฟอร์รี่เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะให้บริษัทลมพระยามีความแตกต่างและโดดเด่นจากบริษัทอื่น จึงต้องการมีการวางแผนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาธุรกิจโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการคัดกรองมาอย่างดี และสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้
เป้าหมาย: เราจะใช้เทคโนโลยีและการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างจุดขายให้ธุรกิจบริการเรือเร็วเฟอร์รี่ของบริษัทลมพระยาได้อย่างไร?
5) โดรนเพื่อการบริหารจัดการแวร์เฮาส์ - Drone for warehouse management (บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด)
ที่มาและรายละเอียด: โดยทั่วไปแล้วการจัดการคลังเก็บสินค้าจะใช้พนักงานเป็นผู้ตรวจเช็ค โดยพนักงานจะเดินไปรอบคลังเพื่อเช็คสินค้า หลังจากวันหยุดยาวคลังสินค้ามักจะเต็มไปด้วยสินค้า จึงจำเป็นจะต้องใช้แรงงานคนจำนวนมากเพื่อตรวจเช็คคลัง
เป้าหมาย: เราจะออกแบบและสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการแวร์เฮาส์โดยใช้โดรนและลดการใช้งานแรงงานคนได้อย่างไร?
      
2.   วัตถุประสงค์ของโครงการ
1.   เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันการศึกษาทางเทคโนโลยีแห่งชาติ ประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนมหาวิทยาลัยต่างๆ ในทวีปเอเชีย
2.   เพื่อสร้างความเป็นผู้นำให้แก่นักศึกษา ฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร และก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ
3.   เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเกิดแรงบันดาลใจ และได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้การบูรณาการความรู้ในสหสาขาวิชาเพื่อสร้างผลงานต่างๆ เพื่อแก้โจทย์ปัญหาที่มาจากภาคธุรกิจ และนำไปใช้ในชีวิตจริงได้

3.   ผู้รับผิดชอบโครงการ
   สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

4.   สถานที่จัดโครงการ
1. โรงแรม A-one the royal cruise อำเภอพัทยา จังหวัดชลบุรี 7-11 ตุลาคม 2561
2. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 11-14 ตุลาคม 2561

5.   สรุปกำหนดการกิจกรรม
วันที่ 1 พิธีเปิด, Ice Breaking (ละลายพฤติกรรม) และ Networking Dinner
วันที่ 2 รับฟังโจทย์จากบริษัท และ หาวิธีการแก้ปัญหา
วันที่ 3 ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา, ออกแบบ prototype และ training
วันที่ 4 นำเสนอวิธีการแก้ปัญหารอบที่ 1 และ พาเที่ยวที่ตลาดน้ำ 4 ภาค
วันที่ 5 ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา, ออกแบบ prototype และ training
วันที่ 6 ออกแบบวิธีการแก้ปัญหา และ สร้าง prototype
วันที่ 7 นำเสนอวิธีการแก้ปัญหารอบที่ 2, ประกาศรางวัล, และ พิธีปิด

6. รายละเอียดของมอบรางวัล
   5 ถ้วยรางวัล:
1.   รางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพฯ
2.   รางวัลดีเด่นด้านการตลาด จากนายกสภาสถาบันฯ สจล. ฯพณฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
3.   รางวัลดีเด่นด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ จากอธิการบดี สจล.
4.   รางวัลดีเด่นด้านเทคโนโลยี จากอธิการบดี สถาบันการศึกษาแห่งชาติด้านเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น
5.   รางวัลดีเด่นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากอธิการบดี สถาบันการศึกษาแห่งชาติด้านเทคโนโลยี วิทยาลัยคุมะโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น
5 รางวัล Best Cases จากบริษัทผู้สนับสนุนโจทย์ปัญหา:
1.   รางวัล จาก Krungthai
2.   รางวัล จาก AWS Award
3.   รางวัล จาก PTT Digital Award
4.   รางวัล จาก Autodesk Award
5.   รางวัล จาก Lomprayah Award
1 รางวัลพิเศษ ได้แก่ รางวัลยอดนิยม Most Popular Award สนับสนุนโดย บจก. Japan Airlines ประเทศญี่ปุ่น

7. ประโยชน์จากการจัดงานครั้งนี้
1.   นักศึกษาผู้เข้าร่วมจะได้ฝึกทักษะการ คิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกความเป็นจริง
2.   นักศึกษาผู้เข้าร่วมจะได้ฝึกทักษะการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ
3.   นักศึกษาผู้เข้าร่วมจะได้ฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมร่วมกับเพื่อนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จากนานาชาติ ความเป็นผู้นำ และการแสดงความคิดเห็น
4.   มหาวิทยาลัยเกิดการเรียนรู้และพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning หรือ Problem-based Learning
5.   หน่วยงานเอกชนผู้ให้โจทย์ปัญหาได้ร่วมผลิตนวัตกรรุ่นใหม่ และได้รับไอเดียในการแก้ปัญหาธุรกิจด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และตอบโจทย์นวัตกรรมแห่งอนาคต