news on October 10, 2018, 03:38:39 PM

ผู้บริหาร สวทช. และ ผู้บริหาร depa ถ่ายรูปแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการ 16 บริษัทที่ผ่านมาตรฐาน CMMI


ผู้บริหาร สวทช. และ ดีป้า ร่วมถ่ายภาพแสดงความยินดี


สวทช. จับมือ ดีป้า เผยแกร่ง ซอฟต์แวร์ไทยรั้งแชมป์ CMMI ในอาเซียน ยกระดับภาพลักษณ์และอุตฯซอฟต์แวร์ไทยก้าวไกลระดับสากล



สุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. มอบรางวัลให้ผู้ประกอบการได้มาตรฐาน CMMI



บรรยากาศการเสวนาธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน


(10 ต.ค. 2561) กรุงเทพฯ - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ประกาศความสำเร็จผู้ประกอบการธุรกิจซอฟต์แวร์ไทยครองแชมป์ประเทศที่ได้รับรอง CMMI มากสุดในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดงานมอบโล่แสดงความยินดีแก่ 16 บริษัทซอฟต์แวร์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล CMMI จาก “โครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน CMMI” ในปี 2559 - 2561 ที่ สวทช. ร่วมกับ DEPA ดำเนินการขึ้น เพื่อเสริมแกร่งและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยสามารถพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีระบบ มาตรฐาน และประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับภาพลักษณ์ธุรกิจและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเป็นที่ยอมรับและเติบใหญ่ในตลาดระดับสากล


ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) และโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยอย่างต่อเนื่อง โดยริเริ่ม โครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (SPI@ease) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งโครงการฯ ได้มีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยมีบริษัทซอฟต์แวร์ที่สามารถพัฒนากระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ตามมาตรฐาน CMMI หรือ Capability Maturity Model Integration และผ่านการประเมินในระดับต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาโครงการฯ สามารถผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยได้รับการรับรอง CMMI แล้วสูงถึง 86 ราย จากจำนวนบริษัททั้งสิ้นในประเทศไทยที่ได้รับการรับรอง 150 ราย และพบว่า ผลการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนร่วมในโครงการถึง 5 เท่า ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและเงินไหลเวียนในภาคอุตสาหกรรมอย่างสูง โดยมาตรฐาน CMMI จะช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ทัน เสริมความเข้มแข็งทางธุรกิจให้ทัดเทียมนานาประเทศ ยกระดับภาพลักษณ์สินค้าและอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยให้ก้าวขึ้นไปสู่การยอมรับในระดับสากล ทั้งนี้ สวทช. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐพร้อมที่จะส่งเสริมและผลักดันประเทศไทยให้เป็นอีกหนึ่งประเทศที่สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดสากลในระดับเท่าเทียมกับนานาประเทศได้


นางสุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวเสริมว่า สำหรับงานแสดงความยินดีแก่บริษัทผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน CMMI จำนวน 16 บริษัทในวันนี้ เป็นการแสดงถึงความตั้งใจจริงของบริษัททุกรายที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้รับมาตรฐาน CMMI ในระหว่างปี 2559-2561 โดยโครงการฯ สามารถผลักดันให้บริษัทซอฟต์แวร์ไทยได้รับการรับรองมาตรฐาน CMMI ครองแชมป์อันดับ 1 ในอาเซียน ความสำเร็จของบริษัทซอฟต์แวร์ไทยดังกล่าวเป็นผลจากการดำเนินงานของโครงการที่ สวทช. และ DEPA ดำเนินการขึ้น ด้วยเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ยกระดับกระบวนการผลิตซอฟต์แวร์ให้มีคุณภาพด้วยการทำงานที่มีกระบวนการตามมาตรฐาน CMMI ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพ ลดความเสี่ยงด้านการบริหารบุคลากร โดยทำงานร่วมกันเป็นทีมและสามารถเปลี่ยนถ่ายงานภายในทีมงานได้ง่าย ทำให้สามารถส่งมอบงานที่มีคุณภาพได้ครบถ้วนตรงตามกำหนดเวลา ภายใต้งบประมาณที่กำหนด


ดร.สุรพงษ์ เลิศสิทธิชัย ผู้เชี่ยวชาญงานพิเศษ ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวว่า โครงการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจซอฟต์แวร์ในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องหลายปีระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งการดำเนินโครงการที่ผ่านมาในระยะเวลา 3 ปี (2559-2561) ได้มุ่งเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทยในการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ และขอการรับรองมาตรฐาน CMMI ทั้ง CMMI for development และ CMMI for services ในระดับที่ 2 และ 3 เพื่อยกระดับและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและการบริหารจัดการคุณภาพของซอฟต์แวร์ ตลอดจนการบริการด้านซอฟต์แวร์ให้มีศักยภาพที่จะเติบโตและขยายกิจการเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาและสร้างบุคลากรของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการให้มีความรู้ด้านกระบวนการพัฒนาและบริการซอฟต์แวร์ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่ง DEPA พร้อมเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะร่วมผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ และบริการของบริษัทของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย เพื่อให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศมีความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดซอฟต์แวร์ระดับสากลมากขึ้น
« Last Edit: October 10, 2018, 03:43:53 PM by news »