wmt on September 28, 2018, 10:59:35 PM
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมรัฐ-เอกชน พร้อมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวผ่านเชฟชุมชนทั่วไทย



กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ “จีซี”เปิดโผ 30 ร้านอาหารเชฟชุมชนทั่วไทย พร้อมต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารชุมชนด้วยการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ถูกวิธี และใช้การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง เป็นการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยว

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในการประชุมการดำเนินโครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนและเตรียมความพร้อมชุมชนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) เปิดตัว“30 ร้านอาหารเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน” โดยคัดเลือกจากชุมชนที่มีท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านเกณฑ์การประเมินของ อพท.

เชฟชุมพล แจ้งไพร เปิดเผยว่า การบูรณาการครั้งนี้เป็นการบูรณาการในภาพใหญ่ซึ่งมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ช่วยสนับสนุนในการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน

นายพงษ์ภาณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารให้กับประเทศไทยในระดับมหภาค โดยยกระดับมาตรฐานอาหารไทยจากระดับชุมชนเป็นสิ่งชูโรงดึงดูดการท่องเที่ยว พร้อมสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบันโดยใช้อาหารเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรองและกระจายรายได้ให้กับชุมชนอย่างแท้จริง และยั่งยืน

โครงการดังกล่าว ได้ต่อยอดการดำเนินงานโครงการเชฟชุมพล สร้างเชฟชุมชน by GC ซึ่ง GC ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานระยอง ในการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบของดีในจังหวัดและค้นหาเมนูพื้นถิ่นจาก 8 พ่อครัวแม่ครัวหัวป่าก์ ตลอดจนรังสรรค์เมนูใหม่ให้กับจังหวัดระยอง เพื่อร่วมกันสร้างจุดหมายการท่องเที่ยวตามรอยอาหารพื้นถิ่นที่พลาดไม่ได้ นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาและจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจึงเป็นโมเดลแห่งการพัฒนาโครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยนอกจากนี้ ยังเน้นให้ร้านอาหารเชฟชุมชนใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้พันธมิตรอย่าง GC มาดำเนินการดูแลในเรื่องบรรจุภัณฑ์นี้

หลังการลงพื้นที่ชุมชนของเหล่าเชฟชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำโดยเชฟชุมพล แจ้งไพร เพื่อร่วมปฏิบัติการฝึกอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน พัฒนา และสร้างสรรค์ร่วมกัน ได้แก่ 1. เชฟเดวิด ทอมป์สัน มิชลินสตาร์เชฟอาหารไทย 2. เชฟแอนดี้ ยังเอกสกุล มิชลินสตาร์เชฟอาหารไทย 3. มาดามนูรอห์ สเต้ปเป้ เชฟหญิงไทยผู้สร้างร้านอาหารไทยบลู เอเลฟเฟ่นท์ ให้โด่งดังไปทั่วโลก5. อาจารย์วันดี ณ สงขลา อาจารย์แม่แห่งวงการอาหารไทย 6. วิพิทธิจักษ์ พิทยานนท์ ฟู้ดสไตลิสท์ไทยที่โด่งดังระดับโลก และ 7.เชฟสุรกิจ เข็มแก้ว เชฟรุ่นใหม่ไฟแรงแถวหน้าของประเทศ รวมไปถึงเชฟระดับแถวหน้าอีกหลายท่านได้ร่วมกันสร้างสรรค์เมนูถิ่นจากวัตถุดิบในท้องที่ รวมถึงสร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการร้านอาหารระดับชุมชนยกระดับ “เมนูเด็ดท้องถิ่น” เตรียมพร้อมเปิด “ร้านอาหารเชฟชุมชน” ทั่วประเทศทั้งเมืองหลัก และเมืองรอง พร้อมสร้างเส้นทางท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มฟู้ดดี้ หรือนักท่องเที่ยวสายกิน ที่เตรียมเปิดปลายปีนี้ให้นักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้ลิ้มลอง

ในครั้งนี้ GC ซึ่งให้การสนับสนุนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์กับร้านอาหารเชฟชุมชนทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เชฟชุมชนสามารถบริหารจัดการขยะพลาสติกอย่างถูกวิธีได้แก่  การใช้ Single Used Plastic ผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการเลือกบรรจุภัณฑ์แบบใช้ครั้งเดียว(Single Used Plastic) ในชุด Bio packaging Benjarong Collection ประกอบด้วย แก้ว ถ้วย และถาดใส่อาหาร ซึ่งเป็นนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพที่ย่อยสลายได้ โดยนำพืช เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด มาเป็นวัตถุดิบ เหมาะสมต่อการใช้งานเพื่อทดแทนบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วไป โดยมีประสิทธิภาพทัดเทียมพลาสติกทั่วไป แต่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติในสภาวะปุ๋ยหมักภายใน 180 วัน เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะพลาสติกให้มีความเหมาะสมต่อการใช้งานในการจำหน่ายอาหาร ณ ร้านอาหาร พร้อมมีการสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับ “การใช้พลาสติกอย่างถูกวิธี” บนบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างความตระหนักต่อการบริโภคเพื่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้บริโภค เช่น  ภาชนะกล่องอาหารแบบฝาปิด ที่สามารถใช้ซ้ำ และสัมผัสอาหารได้อย่างปลอดภัยแม้ต้องใช้การอุ่นด้วยไมโครเวฟ เป็นต้น มีการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารชุมชน โดยร่วมสนับสนุนให้มีการพัฒนาอาหารเมนูพื้นถิ่นดั้งเดิม และพัฒนาสูตรอาหารเมนูใหม่ รวม 60 เมนู ให้มีมาตรฐานทั้งในด้านรสชาติ ภาพลักษณ์ และมีความดึงดูดใจต่อผู้บริโภค ตลอดจนส่งเสริมการให้ความรู้ ด้านอาหารปลอดภัย การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ถูกวิธี และพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ พร้อมจัดทำชั้นวางจำหน่ายสินค้าอาหารชุมชนในโครงการ ด้วยวัสดุกล่องนม  รีไซเคิล หรือ Eco Board มอบให้กับทุกร้าน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

โครงการนี้ นับเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่เมืองรองได้อย่างชัดเจน นอกจากจะเชื่อมโยงกับนโยบายท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร หรือ “Gastronomic Destination” แล้วยังทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์ได้อีกด้วย นายพงษ์ภาณุ กล่าวทิ้งท้าย

รายชื่อชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการเชฟชุมชนเพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน   
ชุมชนบ้านตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี
ชุมชนไร่หลักทอง จังหวัดชลบุรี
ชุมชนบ้านทะเลน้อย จังหวัดระยอง
ชุมชนเขาบายศรี จังหวัดจันทบุรี
ชุมชนบ้านไม้รูด จังหวัดตราด
ชุมชนวิทยาลัยเทคนิคระยอง  จังหวัดระยอง
ชุมชนบ้านดงเย็น จังหวัดสุพรรณบุรี
ชุมชนศรีประจัน จังหวัดสุพรรณบุรี
ชุมชนไทยพวนบางน้ำเชี่ยว จังหวัดสิงห์บุรี
ชุมชนถ้ำรงค์ จังหวัดเพชรบุรี
ชุมชนบ้านคุกพัฒนา จังหวัดสุโขทัย
ชุมชนบ้านนาต้นจั่น จังหวัดสุโขทัย
ชุมชนอ่าวน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ชุมชนบ้านบุไทร จังหวัดนครราชสีมา
ชุมชนบ้านปราสาท จังหวัดนครราชสีมา
ชุมชนไทญ๋อบ้านโพน จังหวัดนครพนม
ชุมชนบ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
ชุมชนบ้านเดื่อ จังหวัดหนองคาย
ชุมชนเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
ชุมชนในเวียง จังหวัดน่าน
ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน
ชุมชนบ้านท่าขันทอง จังหวัดเชียงราย
ชุมชนไทลื้อ จังหวัดพะเยา
ชุมชนพระบาทห้วยต้ม จังหวัดลำพูน
ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต
ชุมชนบ้านแขนน จังหวัดภูเก็ต
ชุมชนหนองเล จังหวัดกระบี่
ชุมชนแหลมสัก จังหวัดกระบี่
ชุมชนบ้านท่าข้ามควาย จังหวัดสตูล
ชุมชนหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 จังหวัดยะลา