"นอนชดเชย" ไม่ส่งผลดี (ข่าวสด)
ความเชื่อว่า สามารถนอนเต็มที่ 1 คืนเพื่อชดเชยการอดนอนในคืนก่อนหน้า ไม่เป็นความจริง
คณะนักวิจัยสหรัฐ นำโดย ดร.แดเนียล โคเฮน จากโรงพยาบาลบริกแกม กล่าวว่า การนอนไม่พอหลายคืนจะทำให้ประสิทธิภาพร่างกายแย่ลงในช่วงที่ตื่นอยู่ โดยเฉลี่ยคนเราควรนอนคืนละ 8 ชั่วโมง หาก ไม่ได้นอนหลังจากตื่นมาแล้ว 24 ชั่วโมง ถือว่านอนไม่พอฉับพลัน แต่หากนอนเพียงคืนละ 4-7 ชั่วโมง ติดต่อกันหลายคืนถือว่านอนไม่พอเรื้อรัง
ข้อสรุปนี้ได้จากการทดลอง ให้อาสาสมัครสุขภาพแข็งแรง 9 คนอยู่ในโรงพยาบาล 38 วัน กำหนดให้มีวงจรนอนหลับผิดไปจากปกติ ทั้งอดนอนฉับพลัน อดนอนเรื้อรัง และเปลี่ยนช่วงเวลานอน จากนั้นทดสอบความตื่นตัวและความระมัดระวังทุก ๆ 4 ชั่วโมงพบว่า อาสาสมัครที่อดนอนเรื้อรัง ประสิทธิภาพของร่างกายแย่ลงในแต่ละชั่วโมงที่ตื่นอยู่ และเมื่อให้นอนตามปกติ 3 วันก็ไม่สามารถชดเชยผลที่เกิดจากการอดนอนเรื้อรัง และผลการศึกษายังไม่ทราบแน่ชัดว่า ต้องนอนชดเชยกี่วันหรือกี่สัปดาห์จึงจะเพียงพอ
"คนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่านอนไม่พอเรื้อรัง หลายคนคิดว่าการได้นอนชดเชยหนึ่งคืนก็พอ เพราะรู้สึกดีขึ้น แต่หลังจากนั้นก็นอนไม่พอต่อไป ซึ่งจะทำให้หลับใน ขาดความระมัดระวัง เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ" นักวิจัยเตือน