กลุ่มซีไอเอ็มบีประกาศกำไรสุทธิครึ่งแรกปี 2561 จำนวน 3.29 พันล้านริงกิต (ราว 2.63 หมื่นล้านบาท) เติบโต 44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
• กำไรสุทธิครึ่งแรกของปีนี้จำนวน 3.29 พันล้านริงกิต หรือเติบโต 44% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสาเหตุหลักของการขายหุ้น 20% ใน CPAM และ 10% ใน CPIAM ซึ่งยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 11.5% และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ปรับลดเหลือ 46.1%
• สำหรับกำไรสุทธิ จากการดำเนินงาน มีจำนวน 2.36 พันล้านริงกิต (ราว 1.88 หมื่นล้านบาท) เติบโต 3.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
• กำไรก่อนหักภาษีจากการดำเนินงาน มีจำนวน 3.27 พันล้านริงกิต (ราว 2.61 หมื่นล้านบาท) เติบโต 7.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากต้นทุนการดำเนินงานและการตั้งสำรองที่ลดลง
• เงินกองทุนชั้นที่ 1 แข็งแกร่งขึ้นที่ 11.9% ณ 30 มิ.ย.61
รายงานข่าวจากกลุ่มซีไอเอ็มบี แจ้งว่า กลุ่มซีไอเอ็มบี ได้ประกาศผลการดำเนินงานครึ่งแรกของปี 2561 โดยมีกำไรสุทธิที่ 3.29 พันล้านริงกิต คิดเป็นอัตราเติบโต 44%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายการสำคัญจากการจำหน่ายหุ้น 20% ที่ถืออยู่ใน CIMB-Principal Asset Management หรือ CPAM และการจำหน่ายหุ้น 10% ที่ถืออยู่ใน CIMB-Principal Islamic Asset Management หรือ CPIAM คิดเป็นจำนวนเงินรวม 928 ล้านริงกิต ซึ่งนอกจากทำให้กำไรสุทธิเติบโต ยังส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นเพิ่มเป็น 11.5% และอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ปรับลดเหลือ 46.1%
หากพิจารณาเฉพาะรายได้จากการดำเนินงาน กลุ่มซีไอเอ็มบีมีกำไรก่อนหักภาษีที่ 3.27 พันล้านริงกิต (ราว 2.61 หมื่นล้านบาท) เติบโต 7.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ลดลง 7.3% และการตั้งสำรองที่ลดลง 29.4% และส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 2.36 พันล้านริงกิต (ราว 1.88 หมื่นล้านบาท) เติบโต 3.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับว่าน่าพอใจเมื่อเทียบกับรายได้จากการดำเนินงานที่ลดลง 5.2% จากภาวะตลาดทุนประเทศมาเลเซียที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งนี้ กลุ่มซีไอเอ็มบี ประกาศปันผลระหว่างปีที่ 13 เซนต่อหุ้น คิดเป็นจำนวนเงินปันผลรวม 1.22 พันล้านริงกิต หรือ 51.6% ของกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน
เต็งกู ดาโต๊ะ ศรี ซาฟรูล์ อาซิส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่า ซีไอเอ็มบีพอใจกับผลกำไรสุทธิในรอบนี้ที่ 3.29 พันล้านริงกิต จากรายการหลักของการขายหุ้นเป็นจำนวน 928 ล้านริงกิต ซึ่งเป็นการปรับแผนยุทธศาสตร์ใน CPAM และ CPIAM อีกทั้งยังส่งผลให้เงินกองทุนชั้นที่ 1 ปรับเพิ่มขึ้นมา 0.15% ขณะเดียวกันธุรกิจรายย่อยก็โดดเด่น โดยมีกำไรก่อนภาษีเติบโต 34.7% Y-o-Y ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางมีกำไรก่อนภาษีเติบโต 19.9% อย่างไรก็ดี สภาวะตลาดทุนที่ไม่เอื้ออำนวยในมาเลเซียมีผลให้ธุรกิจขนาดใหญ่มีกำไรก่อนภาษีปรับตัวลดลง
“กลุ่มซีไอเอ็มบีระมัดระวังในการเติบโตธุรกิจปีนี้ สืบเนื่องจากแนวโน้มความตึงเครียดด้านการค้าโลกและความไม่แน่นอนของตลาด อย่างไรก็ดี เรายังมุ่งมั่นจะบรรลุเป้าหมาย T18 จากการฟื้นตัวของตลาดทุนและการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ในอินโดนีเซีย ไทย และสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจซีไอเอ็มบีในมาเลเซียนั้นคาดหวังเศรษฐกิจภายในประเทศและบรรยากาศการลงทุน ส่วนซีไอเอ็มบี สิงคโปร์น่าจะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจในภูมิภาค ด้านซีไอเอ็มบี ไทยและซีไอเอ็ม ไนอากา อินโดนีเซีย จะได้รับปัจจัยบวกจากการปรับโครงสร้างภายในสมบูรณ์และพร้อมเดินหน้าธุรกิจเต็มที่
“เรากำลังเคาะแผนเติบโตระยะกลาง ซึ่งจะให้ความสำคัญกับทั้งลูกค้า สังคม และความยั่งยืน โดยล่าสุดซีไอเอ็มบีเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง United Nations’ (UN) Environment Programme Finance Initiative Principles for Responsible Banking หรือเรียกสั้นๆ ว่า UNEP-FI เพื่อภารกิจนี้ ขณะเดียวกัน เราจะเพิ่มความแข็งแกร่งของสถานะเงินกองทุน ควบคุมต้นทุนของการบริหารจัดการอย่างเข้มข้น และเดินหน้ามอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า กลุ่มซีไอเอ็มมั่นใจว่าจะสามารถตอบแทนผู้ถือหุ้นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อย่างยั่งยืน” เต็งกู ซาฟรูล์ กล่าว