MSN on August 23, 2018, 07:47:30 AM
PwC เผยบริษัทไทยเกือบครึ่งตกเป็นเหยื่อการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ



กรุงเทพฯ, 23 สิงหาคม 2561 – PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจพบ 48% ของบริษัทไทยได้รับผลกระทบจากการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ระบุแม้เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากการสำรวจเมื่อสองปีก่อน แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่า บริษัทไทยเริ่มตระหนักและตรวจพบการทุจริตได้เพิ่มขึ้น ช่วยให้เห็นจุดบอดและหาทางป้องกันการทุจริตได้ตรงจุด ขณะที่การยักยอกสินทรัพย์ การประพฤติผิดทางธุรกิจ และอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ยังเป็น 3 ประเภทการทุจริตที่ตรวจพบมากที่สุดในไทย


นาย วรพงษ์ สุธานนท์ หุ้นส่วนสายงาน Forensic services บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริต Shining a light on fraud: Economic Crime Survey in Thailand ประจำปี 2561 ซึ่งบริษัทเป็นผู้จัดทำรายงานดังกล่าวขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยในปีนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 522 ราย โดยกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถาม มาจากองค์กรธุรกิจหลายประเภท ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในประเทศว่า เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 48% ของบริษัทในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ สูงกว่าผลการสำรวจเมื่อปี 2559 ที่มีเพียงประมาณ 1 ใน 4 ของบริษัทในประเทศไทยเท่านั้นที่ยอมรับว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นในองค์กร ซึ่งแม้จะเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่ถือว่า เป็นสัญญาณบวกของประเทศมากกว่าที่จะมองว่าเป็นสัญญาณเตือนภัย

“ตัวเลขที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีนี้ แม้ว่าจะน่าวิตก แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนประกอบกับประสบการณ์ทำงานของ PwC แล้ว สะท้อนให้เห็นว่า องค์กรในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงด้านการทุจริตและสามารถตรวจพบเหตุทุจริตได้เพิ่มขึ้น มากกว่าที่จะสื่อว่า จำนวนของเหตุทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมีสูงขึ้น ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี”

ทั้งนี้ ผลการสำรวจในประเทศไทยในครั้งนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การทุจริตที่ตรวจพบได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทเห็นถึงจุดบอดที่มีการทุจริตซ่อนอยู่ และรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อป้องกันการทุจริตในองค์กร

นาย วรพงษ์ กล่าวต่อว่า “การทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศและทุกภาคอุตสาหกรรม ทั้งยังเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ด้วยวิธีการที่ซับซ้อน จึงทำให้ตรวจจับได้ยาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์กรจะต้องต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็น แต่หากตระหนักว่า อาชญากรรมทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อบริษัท และรับได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ก็ถือเป็นก้าวแรกที่จะชนะสงครามได้แล้ว แม้ว่าจะยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่พบก็ตาม ดังนั้น คำถามสำคัญที่ทุกองค์กรควรกระตุ้นเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาคือ คุณทราบหรือไม่ว่า การทุจริตมีผลกระทบต่อบริษัทของคุณอย่างไร และ คุณกำลังหลับหูหลับตาสู้ หรือสู้แบบลืมตาอยู่ มิใช่เพียงแค่ตั้งคำถามว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นในบริษัทหรือไม่เท่านั้น”

ทั้งนี้ ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่า การยักยอกสินทรัพย์ (Asset misappropriation) ยังคงเป็นประเภทของการทุจริตที่พบได้มากที่สุดในประเทศไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็น 62% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 45% เช่นเดียวกับตัวเลข การประพฤติผิดทางธุรกิจของไทย (Business misconduct) คิดเป็น 40% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 28% นี่สะท้อนให้เห็นว่า นโยบายป้องกันการทุจริตในองค์กรยังมีช่องโหว่ ซึ่งกลายเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีการแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่สีเทา หรือ ความไม่ชัดเจนของนโยบายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (Cybercrime) จะเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวล แต่มีเพียง 1 ใน 5 หรือ 21% ของผู้ตอบแบบสอบถามเท่านั้นที่ทราบว่า บริษัทของตนตกเป็นเหยื่อของภัยไซเบอร์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดย 11% จัดให้ภัยไซเบอร์เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบร้ายแรงที่สุดต่อองค์กรในเวลานี้ และเกือบ 1 ใน 3 หรือ 32% คาดว่า ในอีกสองปีข้างหน้า อาชญากรรมทางไซเบอร์จะกลายเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบร้ายแรงที่สุด
ทั้งนี้ 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า บริษัทของพวกเขามีความพยายามในระดับปานกลางถึงระดับมาก ในการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจเพื่อป้องกันการทุจริต หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากคนภายในองค์กร ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 83% อย่างไรก็ตาม มีเพียง 23% เท่านั้นที่บอกว่า บริษัทให้ความสำคัญมากในการยกระดับมาตรฐานจริยธรรมของพนักงาน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเช่นกันที่ 34% และแม้ว่า 70% ของการทุจริตร้ายแรงที่สร้างความเสียหายทางการเงินให้กับองค์กรจะมีสาเหตุมาจากพนักงานก็ตาม

“เมื่อบริษัทต่างๆ เข้าใจว่า การทุจริตรวมถึงอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็จำเป็นจะต้องจัดให้มีการควบคุมและป้องกันภัยคุกคามเหล่านี้ โดยการพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจ และการลงทุนในเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นาย วรพงษ์ กล่าวเสริม

“แม้ว่าหลายๆ บริษัทจะมีการดำเนินการดังกล่าวแล้วก็ตาม เรายังหวังว่า จะมีจำนวนบริษัทที่มีมาตรการป้องกันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น”

ด้าน นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เปอร์เซ็นต์การรับรู้การทุจริตที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทในประเทศไทยมีความตระหนักและเข้าใจถึงผลกระทบของอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ที่มีต่อขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจในเวทีโลก และความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติมากขึ้นกว่าในอดีต

“ระดับของการรับรู้ รวมทั้งการยอมรับถึงปัญหา และหาแนวทางแก้ไขอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จะเป็นก้าวสำคัญของธุรกิจ ที่นำไปสู่การป้องกันตัวเองอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว และยังสะท้อนว่า ไทยให้ความสำคัญต่อการวางภาพลักษณ์ ผ่านการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อให้ประเทศยังคงเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ”

“ผลการสำรวจครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ทุกภาคส่วนมีการหารือกันในเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตมากขึ้น ชี้ให้เห็นว่า ไทยเปิดรับวัฒนธรรมการทำธุรกิจการบริหารงานแบบโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนมากขึ้น ซึ่งทาง PwC ประเทศไทย ต้องการจะที่ผลักดันให้บรรยากาศเช่นนี้ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากจะเป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม” นาย ศิระ กล่าวทิ้งท้าย

ข้อความถึงบรรณาธิการ
เกี่ยวกับ Shining a light on fraud: Economic crime survey in Thailand


ผลสำรวจฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของ PwC’s Global Economic Crime and Fraud Survey ที่ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงและบริษัทจดทะเบียน 7,288 ราย ใน 123 ประเทศทั่วโลก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 522 รายมาจากประเทศไทย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีผู้ตอบแบบสอบถามมากที่สุด
1.   ผลสำรวจความเชื่อมั่นซีอีโอทั่วโลก ครั้งที่ 21 ของ PwC พบว่า 59% ของบรรดาซีอีโอได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการให้ผู้นำแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดกรณีการประพฤติมิชอบ โดยกลุ่มธนาคารและตลาดทุน (65%) บริการทางด้านสุขภาพ (65%) และเทคโนโลยี (59%) ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ผู้นำแสดงความความรับผิดชอบสูงกว่าค่าเฉลี่ย นำโดยสหรัฐฯ (70%) บราซิล (67%) และสหราชอาณาจักร (63%)
2.   กลุ่มธุรกิจที่มีการรายงานการทุจริตในระดับที่สูงที่สุด ประกอบด้วย ประกันภัย (62%) เกษตร (59%) สื่อสารและโทรคมนาคม (59%) บริการทางการเงิน (58%) ค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภค (56%) และอสังหาริมทรัพย์ (56%)
3.   อาชญากรรมทางไซเบอร์ในประเทศไทย: เกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อการโจมตีทางไซเบอร์ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจาก การใช้โปรแกรมประสงค์ร้ายโจมตีระบบและทำให้ระบบเกิดความเสียหาย รวมไปถึงการโจรกรรมข้อมูล หรือที่เรียกว่า มัลแวร์ (31%) รองลงมาเป็นการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต เพื่อขอข้อมูลที่สำคัญ เช่น รหัสผ่าน หรือหมายเลขบัตรเครดิต หรือเรียกอีกอย่างว่า ฟิชชิง (20%)
4.   ไอร์แลนด์ (39%) เบลเยียม (38%) เนเธอร์แลนด์ (33%) เกาหลีใต้ (31%) แคนาดา (29%) โรมาเนีย (28%) อิตาลี (26%) สหราชอาณาจักร (25%) สวิตเซอร์แลนด์ (23%) ฝรั่งเศส (22%) สหรัฐอเมริกา (22%) ลักเซมเบิร์ก  (21%) โปรตุเกส (21%) สวีเดน (21%) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (21%) ออสเตรเลีย (20%) อิสราเอล (18%) และ นิวซีแลนด์ (16%) ถือเป็น 18 ประเทศที่อาชญากรรมไซเบอร์สร้างความยุ่งยากต่อการประกอบธุรกิจสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกที่ 15%

เกี่ยวกับ Forensic Services
สายงาน Forensic Services ของ PwC ในประเทศไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 ซึ่งให้บริการให้คำปรึกษาที่เกี่ยวกับการป้องกัน การตรวจจับ และการสืบหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยทีมงานมีการแบ่งปันประสบการณ์ทำงานดังกล่าว กับบริษัทเอกชนและองค์กรวิชาชีพในงานสัมมนาและการประชุมต่างๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและตรวจสอบการทุจริตในองค์กร
คำแนะนำต่างๆ ล้วนเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่ได้มาจากการสืบหาพยานหลักฐานจำนวนนับไม่ถ้วนในกรณีการทุจริตทางบัญชี การยักยอกทรัพย์ การให้สินบนเชิงพาณิชย์ การรับสินบนจากผู้ค้า หรือคู่ค้า และอาชญากรรมทางไซเบอร์ รวมถึงการให้คำแนะนำบริษัทต่างๆ ที่ต้องการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการคอร์รัปชันและการป้องกันการฟอกเงิน

เกี่ยวกับ PwC

ที่ PwC เป้าประสงค์ของเรา คือ การสร้างความไว้วางใจในสังคมและช่วยแก้ปัญหาสำคัญให้กับลูกค้า  เราเป็นหนึ่งในบริษัทเครือข่าย 158 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานมากกว่า 236,000 คนที่ยึดมั่นในการส่งมอบบริการคุณภาพด้านการตรวจสอบบัญชี ที่ปรึกษาทางธุรกิจ กฎหมายและภาษี  สำหรับประเทศไทย บริษัทถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีบทบาทในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจไทยมานานกว่า 59 ปี PwC ผสมผสานประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานกับลูกค้าข้ามชาติ ผนวกกับความเข้าใจตลาดภายในประเทศเป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ชื่อเสียงของ PwC เป็นที่ยอมรับและได้รับความไว้วางใจจากภาคธุรกิจต่างๆ โดยปัจจุบัน มีบุคลากรกว่า 2,000 คนในประเทศไทย

PwC refers to the PwC network and/or one or more of its member firms, each of which is a separate legal entity. Please see www.pwc.com/structure for further details.

© 2018 PwC. All rights reserved
« Last Edit: August 23, 2018, 02:28:10 PM by MSN »