MSN on July 20, 2018, 08:18:00 AM


CITC จัดงาน“The 4th CITC Regional Conference 2018” ระดมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกประชุมแก้ปัญหาโลกร้อน





ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (CITC)  ระดมผู้เชี่ยวชาญระดับโลกร่วมสัมมนาวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชู3 แนวทางหลัก กลไกด้านการเงิน การพัฒนาเทคโนโลยี และพัฒนาขีดความสามารถพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 20-25%  ภายในปี พ.ศ. 2573

(วันที่ 17 ก.ค. 2561 กรุงเทพฯ)ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CITC)โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) จัดสัมมนาวิชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ“The 4th CITC Regional Conference 2018”ภายใต้หัวข้อ “Accelerating the Paris Agreement Implementation Through Climate Finance, Technology and Capacity Building”ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กรกฎาคม 2561 ณโรงแรมพูลแมนคิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯโดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายาปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วยนางประเสริฐสุข  จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจกนายเยน ลาดชินกี้ผู้แทนศูนย์ความร่วมมือในภูมิภาคภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนายโยชิโนริ สุกะ เลขานุการเอกสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยและนางสาวโลวิต้า แรมกุททิ รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติชาติประจำประเทศไทยร่วมในพิธี

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคและระดับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายหลังปี พ.ศ. 2563ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในพื้นที่เปราะบางต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงและจำเป็นต้องมีมาตรการรับมือปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิผล

“ภายใต้ความตกลงปารีสเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่จะพยายามควบคุมการเพิ่มขี้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 2องศาเซลเซียส ต้องอาศัยกลไกการที่สำคัญ 3 ด้านได้แก่1.กลไกด้านการเงิน(Finance)คือการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ เพื่อดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการดำเนินงานเพื่อต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Technology development and transfer) และ 3. การพัฒนาขีดความสามารถ (Capacity building)เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนก็ยังมีข้อจำกัดในทั้ง 3 ด้าน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาขีดความสามารถ ในส่วนของประเทศไทยเองได้ตระหนักถึงเรื่องนี้และได้มีการวางแผนด้านการพัฒนาศักยภาพอยู่ในแผนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผ่านการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ อาทิสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และ ศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CITC)เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ ในการนำพาประเทศไทยให้บรรลุถึงเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 20-25%  ภายในปี พ.ศ. 2573” ดร.วิจารย์ กล่าว

นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.กล่าวว่า เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายระดับโลก ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ในการพัฒนาศักยภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอบก. จึงได้จัดตั้งศูนย์วิชาการนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CITC)เมื่อปี พ.ศ. 2557 เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเครือข่าย องค์ความรู้ การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยมีการส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายทั้งภาครัฐส่วนกลาง ภาครัฐส่วนท้องถิ่น ภาคการศึกษา และภาคเอกชน ในประเทศไทยและประเทศอาเซียน กว่า 280 หน่วยงาน

“หนึ่งกลไกที่สำคัญคือความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา กับ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อการบรรลุข้อตกลงปารีส ดังนั้นการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้จึงมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนมาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ อาทิองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)ศูนย์ความร่วมมือในภูมิภาคภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC-RCC) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)ตลอดจนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (MONRE)สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ONEP) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (DEQP) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

โดยภายในงานได้จัดให้มีการเสวนาในหัวข้อต่างๆ อาทิ “ความร่วมมือในภูมิภาคเกี่ยวกับการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อกระตุ้นการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ”(Regional collaboration on capacity building to boost climate actions)“การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อโลกร้อนและโครงการการเงินสำหรับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ”  (Accessing climate funds and financial schemes for climate actions) “การวิจัย พัฒนาและการเสริมสร้างขีดความสามารถทางเทคโนโลยีเพื่อบรรเทาผลกระทบและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (R&D and Technology capacity building for climate change mitigation and adaptation)  เป็นต้น

“การจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้จะเป็นเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ในการดำเนินงานต่างๆ รวมถึงความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนแผนการที่มีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก (NCDs)เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีสอย่างเป็นรูปธรรม”นางประเสริฐสุข กล่าวในตอนท้าย
« Last Edit: July 21, 2018, 01:47:14 PM by MSN »