ก.ท่องเที่ยวฯ วางแผนฟื้นฟู เยียวยา และกำหนดมาตรการป้องกัน เชื่อนักท่องเที่ยวมั่นใจการท่องเที่ยวไทย
จากเหตุการณ์เรือล่มที่เกาะเฮ และเกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 เนื่องจากลมมรสุมและคลื่นลมแรงของท้องทะเลอันดามัน เป็นผลให้เรือนักท่องเที่ยวล่ม จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือฟินิกซ์ เรือเซเนลิก้า และเรือเจ็ทสกี ส่งผลให้มีผู้ประสบเหตุจำนวน 147 ราย เสียชีวิตจำนวน 47 ราย
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก) ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดในการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือ ได้แก่ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่จากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต-กระบี่ เจ้าหน้าที่จากศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (TAC) 14 จังหวัดภาคใต้ เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกช่วยเหลือนักท่องเที่ยว จากกรมการท่องเที่ยว ในการเข้าไปดูแลผู้ประสบเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยส่งเจ้าหน้าที่สนับสนุนด้านล่ามแปลภาษา ทั้งในโรงพยาบาล ศูนย์บัญชาการและศูนย์ประสานงานช่วยเหลือนักท่องเที่ยวผู้ประสบภัยเรือล่ม สนามบินนานาชาติจังหวัดภูเก็ต
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในส่วนของการช่วยเหลือเยียวยานั้น กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดยเร่งด่วน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 เพื่อนำผลสรุปจากความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว มาพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาตาม “ระเบียบคณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พ.ศ. 2558” ซึ่งขณะนี้ “กองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา” สามารถรวบรวมเอกสารพร้อมจ่ายเงินเยียวยาแก่ญาติของนักท่องเที่ยวผู้เสียชีวิตจำนวน 30 คน คนละ 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 30,0000,000 บาท โดยผู้เสียหายรายอื่นๆ ยังอยู่ระหว่างการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังมีกรณีฟื้นฟูจิตใจซึ่งมีเอกสารครบพร้อมจ่ายเงินแล้วจำนวน 13 รายๆ ละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 260,000 บาท (ในจำนวนนี้ขอรับการเยียวยาหยุดชะงักการเดินทาง จำนวน 12 คน รวมเป็นเงิน 102,000 บาท) รวมกองทุนฯ พร้อมจ่ายเงินแล้วจำนวน 30,362,000 บาท ส่วนที่เอกสารยังไม่ครบและยังไม่ยืนยัน จะประสานไปยังสถานทูตจีน รัสเซีย อเมริกา ให้ติดต่อผู้ประสบภัยและญาติ และเมื่อสถานทูตส่งเอกสารมายังกองทุนฯ ครบถ้วน จะดำเนินการตรวจสอบเอกสาร และดำเนินโอนเงินให้แก่ผู้ประสบภัยและญาติต่อไป (ข้อมูล ณ 16 ก.ค.61 : 13.40 น.)
ถึงแม้ว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหตุเรือล่มจังหวัดภูเก็ต กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ แต่ข้อมูลเหล่านี้ประชาชนจีนยังไม่สามารถรับรู้ข้อมูลทั้งหมด ทำให้มีบางส่วนมีความไม่พอใจ ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 9.8 ล้านคน สร้างรายได้ 5 แสนล้านบาท จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวจีนเกิดความรู้สึกกังวลและห่วงใยเกี่ยวกับระบบกู้ภัยความปลอดภัยระบบการเตือนภัย ทำให้ขณะนี้มีการยกเลิกการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทย ในแง่ของการสื่อสาร ปัจจุบันข้อมูลเพิ่มเติมการแจ้งเตือนถึงมาตรการด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับโซเชียลมีเดีย ลดเบาบางลง สื่อมวลชนสายหลักไม่มีการออกข่าวหน้าหลักถือเป็นสิ่งที่ดีของประเทศไทย การเสพกระแสเรือล่มลดลงใน Social Media
ทั้งนี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้กำหนดแนวทางในการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวให้ฟื้นกลับมานำคณะสื่อมวลชนไทยสายท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ เดินทางไปภูเก็ต วันที่ 17 - 18 กรกฎาคม 256 และเตรียมเชิญสื่อมวลชนจากประเทศจีนเดินทางมาภูเก็ตเร็วๆ นี้ รวมทั้ง การสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยว และกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนผ่าน ททท. สำนักงานทั้ง 5 แห่ง ในประเทศจีน อย่างต่อเนื่อง, การจัดกิจกรรมต่างๆ ประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2561 โดย ททท. และผู้ประกอบการท่องเที่ยว/สายการบิน, การจัดกิจกรรม Thailand Golf Travel Mart 2018 วันจันทร์ 23 - 25 กรกฎาคม 2561, การจัดกิจกรรม “ล่องเรือไหว้พระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์” วันที่ 27-29 กรกฎาคม 2561 ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา, Bangkok Airways: Phuket Half Marathon วันที่ 5 สิงหาคม 2561 และโครงการมหกรรมอาหาร Phuket Tasty Fest วันที่ 1-2 กันยายน 2561 ณ ย่านเมืองเก่าภูเก็ต นอกจากนี้ ททท. ด้านตลาดในประเทศจะจัดกิจกรรม “เที่ยวข้ามภาค” กระตุ้นคนไทยเดินทางมาท่องเที่ยวภูเก็ตในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2561 ผ่านการจัดกิจกรรม งานเทศกาลต่างๆ และการส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตร่วมกัน
ปัญหาธุรกิจนอมินีนั้น สร้างความเสียหายแก่ภาคการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน และส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีอากรเข้ารัฐอย่างมหาศาล นายอนันต์ วงศ์เบญจรัตน์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า “จะเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบตั้งแต่การยื่นเอกสารจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท อัตราส่วนผู้ถือหุ้นและกรรมการในบริษัท รวมทั้งรายละเอียดของผู้ถือหุ้นและกรรมการว่าเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมและเส้นทางของเงินทุนของบริษัท ซึ่งจากข้อมูลที่ได้พบว่ามีบริษัทนำเที่ยวที่เข้าข่ายนอมินี ประมาณ 20% ของยอดจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในแต่ละเดือนที่มีเข้ามาประมาณ 30 ราย หรือประมาณ 5 ราย โดยจำนวนบริษัทนำเที่ยวที่จดทะเบียนถูกต้องทั้งหมด 1.2 หมื่นราย ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้จับตาดูกลุ่มนี้เป็นพิเศษ แต่การจะดำเนินมาตรการอะไรก็ยังต้องคำนึงถึงบรรยากาศและทิศทางการท่องเที่ยวของไทยด้วย”
นายวีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ร่วมหารือกับภาครัฐและเอกชน เรื่อง “ความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางน้ำ ทางถ้ำ ภูเขา หน้าผา” เมื่อวันศุกร์ ที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมาถึงเรื่องการป้องกันเหตุ มิให้เกิดซ้ำๆ อีก โดยสรุปเบื้องต้นว่าให้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดดำเนินการดังนี้
1. สำรวจข้อมูลพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยวทางถ้ำ ภูเขา น้ำตก หน้าผาและการเที่ยวทางน้ำ ทางทะเล
2. ให้จังหวัดจัดทำมาตรการการป้องกันและป้องปรามทัวร์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยคำนึงผลกระทบที่ไม่จำเป็นไว้ด้วย
3. ให้จังหวัดจัดทำแผนเผชิญเหตุ การช่วยเหลือหากเกิดเหตุ การยกเลิกการค้นหาจะกระทำได้เมื่อใดโดยผู้บังคับบัญชาระดับใดบ้างเป็นต้น
4. ให้จังหวัดจัดทำแผนเยียวยาเมื่อมีเหตุเกิดไว้ล่วงหน้าเลย เช่น ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คณะกรรมการประกันภัยของจังหวัดเขียนแผนภูมิไว้ให้เจ้าหน้าที่หน้างานตอบชาวต่างชาติได้
5. ให้สำรวจแผนงบประมาณ ปี 61/62 ที่เกี่ยวข้องเรื่องดังกล่าว
6. ปัญหาอุปสรรค ข้อกฎหมาย ที่ติดขัดของแต่ละหน่วยงาน
7. ให้จังหวัดเชียงราย และภูเก็ต นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 เหตุการณ์ สรุปบทเรียน โดยให้คณะกรรมการท่องเที่ยวจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และ ท่องเที่ยวและกีฬาเป็นเลขาฯ เชิญประชุมเพื่อหาข้อสรุปดังกล่าว ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 20 ก.ค. 61