ทุกก้าวย่างมีความหมาย
หลังจากสตันท์ท้ามฤตยูที่ครูซได้แสดงในนิวซีแลนด์ ก็ไม่มีใครคาดคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อพวกเขากลับมายังอังกฤษในเดือนสิงหาคม ปี 2017 เพื่อถ่ายทำการไล่ล่าบนหลังคาที่เมื่อเปรียบเทียบแล้วค่อนข้างจะเรียบง่าย เดิมที ซีเควนซ์นี้ ที่ถ่ายทำตามโลเกชันหลายแห่งในลอนดอน ซึ่งรวมถึงวิหารเซนต์ปอล, สถานีแบล็คไฟรอาร์สและพิพิธภัณฑ์เทท โมเดิร์น เป็นฉากแอ็กชันเล็กๆ ที่เชื่อมสององก์เข้าด้วยกัน แต่อย่างที่เรื่องมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ในการถ่ายทำ Mission: Impossible ซีเควนซ์นี้ก็ได้ขยายออกทั้งในเรื่องขนาดและความซับซ้อน ระหว่างการถ่ายทำส่วนหนึ่งของการไล่ล่านี้เองที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป
“ทอมแสดงสตันท์นี้ได้แบบเป๊ะๆ แต่เขาก็รู้ทันทีเลยว่าข้อเท้าเขาหักซะแล้ว” แม็คควอร์รีย์กล่าว “มีกล้องสี่ตัว และตัวหนึ่งก็หันไปทางเขาตรงๆ เขาก็เลยลุกขึ้นแล้ววิ่งไปให้ไกลที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อให้พ้นจากกล้อง ก่อนที่เขาจะล้มทรุดลงไปน่ะครับ”
ครูซกล่าวว่า เขาทุ่มสุดตัวตอนกระโดดเพราะเขาอยากให้ผู้ชมรู้สึกถึงความสิ้นหวังของฮันท์ในตอนที่เขาตัดสินใจเสี่ยงทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย “แรงกระแทกมันรุนแรงมากเลยครับ และผมก็โดนกระแทกที่ซี่โครง ผมยื่นเท้าออกไปชั่วครู่เพื่อพยายามลดแรงกระแทกลง ทันทีที่ผมกระแทกกับกำแพง ผมก็รู้สึกเหมือนว่า ‘ให้ตายเถอะ’ ผมรู้ว่าผมจะต้องเดินหน้าต่อไปเพราะนี่เป็นเทคสำคัญ ผมก็ทำได้แค่วิ่งผ่านกล้องไปน่ะครับ”
หลังจากนั้น แม็คควอร์รีย์ก็ไปตรวจดูอาการของครูซ “เขายกขาขึ้นแล้วบอกว่า ‘ผมค่อนข้างแน่ใจว่ามันหัก’ ผมจำได้ว่าบอกออกไปว่า ‘มันก็มีข้อดีอยู่นะ เพียงแต่เรายังไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรเท่านั้นเอง’ ผมผ่านการผจญภัยและเรื่องผิดพลาดกับทอมมาเยอะแยะจนรู้ว่าหายนะคือโอกาสของความเป็นเลิศครับ”
การสแกนเอ็มอาร์ไอเผยว่า กระดูกข้อเท้าของครูซ ที่อยู่ส่วนล่างของข้อเท้า เหนือกระดูกส้นเท้า แตกเป็นเสี่ยง “มันเป็นอาการบาดเจ็บรุนแรงครับ” นักแสดงหนุ่มกล่าว “ตอนแรก หมอคิดว่าจะต้องใช้เวลารักษานานเก้าเดือน ผมทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อที่จะกลับไปได้ด้วยการทำกายภาพบำบัดและฝึกร่างกายประมาณ 10-12 ชั่วโมงต่อวัน และเราก็เริ่มถ่ายทำอีกครั้งในหกสัปดาห์ ใน 10 สัปดาห์ ผมสามารถเริ่มวิ่งได้อีกครั้งอย่างช้าๆ แล้วพอ 12 สัปดาห์ ผมก็วิ่งระยะสั้นได้ ผมใช้เวลาสองวันในการวิ่งบนหลังคาสถานีรถไฟแบล็คไฟรอาร์ส และหลังจากนั้น ผมก็เดินไม่ได้ไปสามวันครับ”
โชคดีที่ภาพยนตร์ถ่ายทำไปได้ประมาณหนึ่งแล้วใตอนที่อุบัติเหตุเกิดขึ้น ทำให้แม็คควอร์รีย์สามารถเริ่มงานลำดับภาพได้ “พอผมเริ่มงาน ผมก็สามารถประเมินหนังเรื่องนี้ได้ในแบบที่ผมไม่สามารถทำได้ถ้าเหตุการณ์ไม่ได้เป็นแบบนี้” ผู้กำกับกล่าว “มันทำให้ผมมีโอกาสได้รีไรท์เรื่องราวบางส่วนและเขียนบทหนังเรื่องนี้จนจบ เมื่อมองระยะยาวแล้ว มันก็เป็นประโยชน์ต่อหนังเรื่องนี้ครับ”
รอดมาได้หวุดหวิด
ในตอนจบของการไล่ล่ากันทางอากาศ เฮลิคอปเตอร์ของฮันท์และวอล์คเกอร์ได้ประสานงากันและร่วงลงไปบนยอดเขา มันเป็นฉากสำหรับการต่อสู้ครั้งสุดท้ายระหว่างสองตัวละครหลัก แม็คควอร์รีย์ต้องการให้ฉากนี้เกิดขึ้นที่ขอบเหวที่สูงชัน แต่แม้ว่าในนิวซีแลนด์จะมีภูเขามากแค่ไหน แต่ทีมโลเกชันก็ไม่สามารถหาสิ่งที่ผู้กำกับต้องการเจอที่นั่น
หลังจากการค้นหาทั่วโลก พวกเขาก็ตัดสินใจเลือกพรีเคสโตลเลน (พัลพิท ร็อค) ในนอร์เวย์ ซึ่งเป็นที่ราบสูงเล็กๆ ที่มีหน้าผาสูงชัน ที่ลาดลงไปสู่ฟยอร์ดจากความสูงเกือบ 2,000 ฟุต แม้ว่าจุดนี้จะเป็นโลเกชันที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับฉากต่อสู้ มันก็เป็นสถานที่ถ่ายทำที่ท้าทายมากๆ อย่างแรกเลยคือมันมีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่ง ด้วยลมพายุ หิมะ ฝนและแสงอาทิตย์ ซึ่งบางครั้ง ทุกอย่างนี้ก็เกิดขึ้นในวันเดียวกัน ครั้งที่สองที่ทีมงานขึ้นไปสำรวจสถานที่ ลมแรงมากจนพวกเขาต้องคลานเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกพัดตกจากหน้าผา และอากาศก็มีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ เพราะฤดูหนาวกำลังจะมาเยือน สถานการณ์ที่ท้าทายเหล่านี้ทำให้ครูซไม่มีเวลาที่จะทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปในตอนที่เขากลับมากองถ่ายอีกครั้งหลังจากพักฟื้นแล้ว
“ทอมกับเฮนรีขึ้นไปบนนั้นท่ามกลางอากาศหนาวเย็นบนพื้นที่ที่อันตรายมากๆ” แม็คควอร์รีย์กล่าว “ในตอนนั้น กระดูกเท้าทอมยังแตกอยู่ เขาก็เลยรู้สึกลำบากมากๆ” ทีมงานเจออุปสรรคจากสภาพอากาศ มีตอนหนึ่ง มันกลายเป็นเรื่องไม่แน่นอนว่าพวกเขาจะสามารถถ่ายทำให้เสร็จก่อนหน้าที่ฤดูหนาวจะมาเยือนได้รึเปล่า พวกเขาทำได้ แต่ประมาณ 15 นาทีหลังจากที่เฮลิคอปเตอร์ขนส่งทีมงานลำสุดท้ายบินขึ้นไป พายุหิมะก็ฝังโลเกชันทั้งหมด ทั้งอุปกรณ์และของทุกอย่าง ไว้ใต้หิมะ เครื่องมือบางอย่างต้องถูกทิ้งไว้จนกว่าพวกเขาจะไปเก็บมันกลับมาได้ในฤดูใบไม้ผลิปีถัดไป
การกระโดดร่มฮาโล
การโดดสูงเปิดต่ำ หรือฮาโล เป็นเทคนิคการกระโดดร่มพิเศษ ที่หน่วยทหารพิเศษใช้เพื่อแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ของศัตรู ในการถ่ายทำ Mission: Impossible – Fallout ครูซกลายเป็นนักแสดงคนแรกในภาพยนตร์ที่ได้กระโดดออกจากเครื่องโบอิ้ง C-17 Globemaster III จากความสูง 25,000 ฟุต เดิมที สตันท์นี้ถูกกำหนดให้ถ่ายทำที่ราฟ บริซ นอร์ตัน ฐานทัพอากาศที่อยู่ห่างจากลอนดอนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 75 ไมล์ ฉากภายนอกและภายในบางฉากถูกถ่ายทำที่นั่น แต่ความล่าช้าที่เกิดจากอุบัติเหตุของครูซทำให้การถ่ายทำถูกเลื่อนไปเป็นฤดูหนาวในอังกฤษ ทำให้เขาไม่สามารถฝึกฝนได้จนจบ
“ผมต้องการการฝึกดิ่งพสุธาแบบเข้มข้นเพราะซีเควนซ์นี้ต้องอาศัยเทคนิคสูงมากๆ และบอกตามตรงว่ามันอันตรายมากๆ ด้วย” ครูซกล่าว
การฝึกฝนส่วนหนึ่งเกิดขึ้นที่ลีฟส์เดน สตูดิโอส์ในอังกฤษ ที่ซึ่งนีล คอร์บูลด์ ซูเปอร์ไวเซอร์ฝ่ายสเปเชียล เอฟเฟ็กต์ ได้ดูแลการสร้างอุโมงค์ลมแนวตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก “เราได้ออกแบบมันกับแอโรโดรมในลัตเวียครับ” เขากล่าว “พวกเขาทำงานได้อย่างน่าทึ่ง เราใช้เวลาออกแบบหกสัปดาห์และใช้เวลาสร้างห้าเดือนครับ”
คอร์บูลด์กล่าวว่า อุโมงค์ลมปกติสำหรับการฝึกกระโดดร่มจะใช้มอเตอร์ 800 กิโลวัตต์หนึ่งตัว ซึ่งจะสร้างลมที่พัดด้วยความเร็ว 130 ไมล์ต่อชั่วโมง อุโมงค์ที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับการถ่ายทำมีมอเตอร์สี่ตัว ที่หมุนด้วยเครื่องผลิตไฟฟ้าสี่เมกะวัตต์ และการดีไซน์ใบพัดแบบใหม่ ที่ทำให้มันสามารถยกคนได้มากถึงสี่คนไปถึงระดับความสูงมากกว่า 60 ฟุต
หลังจากการถ่ายทำหลักสิ้นสุดลงในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 หน่วยกระโดดร่มก็ได้เดินทางสู่อาบู ดาบี้ เพื่อเริ่มฝึกกับครูซ ผู้ต้องกระโดดให้สำเร็จอย่างน้อย 100 ครั้งก่อนที่การถ่ายทำซีเควนซ์ฮาโลจะเริ่มต้นขึ้นได้ นอกเหนือจากนั้น ครูซและวอล์คเกอร์ยังต้องฝึกการใช้อ็อกซิเจนในการบินที่ระดับความสูง
“สิ่งที่เสี่ยงที่สุดของการอยู่ที่ระดับความสูง 25,000 ฟุตคือภาวะขาดอ็อกซิเจนครับ” อัลลัน เฮวิตต์ อดีตนักแสดงของทีมเรด เดวิลส์ (ทีมแสดงของหน่วยพลร่มของกองทัพอังกฤษ) ผู้รวมทีมพลร่มเพื่อร่วมงานกับครูซในซีเควนซ์นี้ กล่าว “คุณจะรู้สึกเคลิ้มสุขนิดๆ แต่แล้วสมองคุณก็จะหยุดทำงาน คุณจะต้องมีนักกระโดดร่มคุ้มกันอยู่รอบๆ เพื่อที่ว่าไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามที่ทอมเกิดภาวะขาดอ็อกซิเจน เราจะรับรู้ได้และหยุดถ่ายทำ ในตอนที่คุณเกิดภาวะขาดอ็อกซิเจน คุณจะไม่รู้ตัวหรอกครับ คุณจะคิดว่าตัวคุณเองทำได้ดี มันก็เลยเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมากๆ”
อีกหนึ่งสมาชิกคนสำคัญของทีมคือดร.แอนนา ฮิคส์ แพทย์ทหารทางอากาศ ผู้สนใจในเรื่องการกระโดดร่มเป็นพิเศษและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางอากาศของสมาคมการบินพลเรือนทั่วไปของสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (จีซีเอเอ) เธอมีหน้าที่รับผิดชอบในการทำให้แน่ใจว่าทีมงานและนักแสดงมีสภาพร่างกายพร้อมรับสภาพของการบินในระดับความสูงได้รวมถึงคอยสังเกตพวกเขาระหว่างการบินและการกระโดดร่มกับทีมงานในฐานะพลร่มคุ้มกันด้วย
ทูโฟร์54 บริษัทโปรดักชันในอาบู ดาบี้ ที่บริหารงานโดยท่านผู้หญิงมัรยัม อัลม์เฮรี ได้ทำข้อตกลงกับกองทัพสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์เพื่อให้ได้เข้าถึงเครื่องบิน C-17 Globemaster และเครื่องบินใบพัด DHC-6 Twin Otter ของสายการบินไวกิ้ง แอร์ ที่ถูกใช้สำหรับการฝึกซ้อม
“โชคดีที่กองทัพสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์รู้ว่าเรากำลังพยายามทำอะไรและอยากจะเป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย” ครูซกล่าว “พวกเขาที่นั่นรักหนังและผมก็ซาบซึ้งพวกเขามาก เราไม่รู้หรอกว่าเราจะทำมันยังไงจนกระทั่งเราได้แตะพื้นที่อาบู ดาบี้และเริ่มซ้อมกัน ถ้าพวกเขาไม่ก้าวเข้ามาช่วยเหลือเราล่ะก็ เราคงจะถ่ายทำซีเควนซ์นี้ไม่ได้แน่ๆ”
สตันท์นี้นำมาซึ่งความท้าทายอีกอย่างหนึ่งที่มีผลลัพธ์ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ด้วยระดับความสูง 25,000 ฟุต ครูซและคาวิลจำเป็นต้องสวมหมวกอ็อกซิเจน แต่หมวกตามมาตรฐานจะปิดหน้า ดังนั้น หมวกของ “ตัวเอก” จะต้องถูกพัฒนาและสร้างขึ้นมาโดยแผนกอุปกรณ์ประกอบฉากร่วมกับเฮวิตต์
“คุณต้องการอุปกรณ์อ็อกซิเจนพิเศษ และคนกลุ่มเดียวที่มีมันก็คือพวกทหารครับ” ผู้เชี่ยวชาญด้านการกระโดดร่มกล่าว “อุปกรณ์ของพวกเขาถูกออกแบบมาให้รักษาชีวิตของคุณจนกระทั่งคุณมาถึงระดับความสูงที่ปลอดภัย มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำอะไรเลยในการปล่อยตัวร่วงลงมา เราก็เลยต้องดัดแปลงอุปกรณ์อ็อกซิเจนทั้งหมด พวกเขาอยากได้หมวกเปิดหน้าที่สามารถขึ้นไปถึงระดับความสูง 25,000 ฟุต ซึ่งไม่เคยมีการทำมาก่อน เราก็เลยต้องเริ่มต้นจากศูนย์และหาวิธีทำมันขึ้นมาครับ”
เฮวิตต์ได้ร่วมงานกับหัวหน้าช่างทำโมเดล โทบี้ เชียร์สและช่างทำโมเดลการออกแบบ CAD แดน รัตเตอร์เพื่อสร้างอุปกรณ์ชิ้นนี้ขึ้นมา “เราสร้างหมวกนี้ขึ้นมาจากเรซินแข็งที่ปรินท์ออกมาเป็นสามมิติ” เชียร์สกล่าวอธิบาย “แต่มันไม่แข็งแรงพอ เราก็เลยขึ้นรูปโลหะด้วยวิธีไฟฟ้าเคมี โดยใช้ทองแดง ซึ่งทำให้พวกมันมีความแข็งแรงพอสมควร แล้วค่อยทาสีดำทับลงไป หนึ่งในส่วนที่ยากที่สุดของการออกแบบคือไฟแอลอีดีที่ถูกติดไว้รอบใบหน้าของนักแสดงเพื่อให้แสงพวกเขา หลอดไฟจะเคลือบไปด้วยซิลิโคนเพื่อที่จะไม่เกิดความเสี่ยงของการเกิดประกายไฟจากอ็อกซิเจนในกรณีที่หลอดไฟดับไปน่ะครับ”
ตารางการฝึกสำหรับการกระโดดฮาโลเข้มงวดมาก ตลอดทั้งวัน ครูซได้กระโดดจากเครื่องบิน Twin Otter สี่ถึงห้าครั้ง และหลังจากอาหารกลางวัน ก็กระโดดจากเครื่อง C-17 อีกสามครั้ง นักกระโดดร่มส่วนใหญ่จะฝึกเข้มแบบนั้นไม่เกินสองสัปดาห์โดยไม่พัก แต่จนกว่าการถ่ายทำจะเริ่มต้นขึ้น ครูซก็ฝึกแบบนี้นานกว่าสี่สัปดาห์แล้ว
“ผมคิดว่า ผมฟิตพอ ผมจะกระโดดวันละ 10-15 ครั้ง แล้วเราก็จะชำนาญเรื่องนี้” นักแสดงหนุ่มกล่าว “แต่พอเราเริ่มทำงานกัน ผมก็คิดว่า เหอ! สิ่งที่เรากำลังทำมันหนักมากสำหรับเราทุกคนครับ”
ในฉากนั้น ฮันท์กระโดดออกจากเครื่อง C-17 เพื่อช่วยวอล์คเกอร์ ผู้กระโดดออกจากเครื่องบิน ก่อนจะถูกสายฟ้าฟาดจนหมดสติไป ความพยายามในการช่วยเหลือเขาเกี่ยวข้องกับกายกรรมเหินเวหาที่ซับซ้อนหลายท่าที่แม้แต่นักกระโดดร่มมากประสบการณ์ยังคิดว่าเป็นเรื่องท้าทาย นอกเหนือจากนั้น แม็คควอร์รีย์และครูซยังต้องการให้ฉากนี้เกิดขึ้นในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน หมายความว่าในแต่ละวัน พวกเขามีโอกาสถ่ายทำเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น และพวกเขาก็ต้องเผชิญหน้ากับอีกหนึ่งความท้าทายที่เป็นไปไม่ได้
“มันเป็นการกระโดดร่มที่ซับซ้อนมากๆ เมื่อคุณต้องช่วยเหลือคนที่ร่วงลงมาแบบอิสระ” เฮวิตต์กล่าว “ครูสอนการร่วงลงมาแบบอิสระต้องกระโดดกว่าพันครั้งกว่าจะทำได้ และประมาณ 70% ของคนที่พยายามเข้ารับการทดสอบในระดับครูฝึกก็ทำพลาด ทอมกระโดดเพียงแค่ 100 ครั้งในการกระโดดอย่างสมบูรณ์แบบครับ”
หนึ่งในความท้าทายที่ยากที่สุดสำหรับครูซคือการออกจากเครื่องบิน C-17 “มันเป็นเครื่องบินลำใหญ่ที่บินด้วยความเร็ว 160 ไมล์ต่อชั่วโมง” เฮวิตต์กล่าว “พอคุณก้าวลงมา ข้างใต้นั้นจะเต็มไปด้วยความปั่นป่วนของอากาศ คุณจะต้องเผชิญหน้ากับมันตรงๆ ซึ่งเป็นแรงปะทะกับร่างกายที่ค่อนข้างจะแรงทีเดียว แล้วคุณก็ต้องใช้กระแสอากาศนั้นในการช่วยให้คุณร่อนลงไปหาเป้าหมาย ทอมร่วงลงไปอิสระด้วยความเร็วประมาณ 160 ไมล์ต่อชั่วโมงและพอเขาไปถึงตัววอล์คเกอร์ เขาก็ต้องติดเบรก ซึ่งมันเป็นงานที่ต้องอาศัยความชำนาญมากๆ ครับ”
เคร็ก โอ’ ไบรอัน ช่างกล้องทางอากาศมากประสบการณ์ ถูกนำตัวมาถ่ายทำซีเควนซ์นี้ โอ’ ไบรอันมีประสบการณ์การกระโดดกว่า 23,000 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในฐานะช่างกล้อง ในการบันทึกภาพช็อตนี้ เขาซ้อมท่าการเคลื่อนไหวอย่างละเอียดรอบคอบกับครูซ
“สิ่งที่เคร็กทำเป็นเรื่องเหลือเชื่อครับ” ครูซกล่าว “เขาไม่เคยถ่ายทำอะไรแบบนี้มาก่อน แต่เขาก็เป็นศิลปิน คุณต้องการช่างกล้องที่ไม่เพียงแต่เข้าใจช็อตนั้นๆ แต่เขายังเข้าใจเรื่องราวด้วย เขาทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมครับ”
นอกเหนือจากความซับซ้อนในการออกแบบท่ากระโดดแล้ว โอ’ ไบรอันยังต้องติดกล้องเรด เว็พพอนพร้อมเลนส์ IMAX ไว้ที่หมวกของเขาอีกด้วย ไม่เพียงแต่มันจะหนักมากเท่านั้น (ประมาณ 20 ปอนด์) แต่เขายังต้องจับโฟกัสของกล้องโดยที่ไม่สามารถมองผ่านช่องมองภาพได้อีกด้วย อุปกรณ์ชิ้นนี้ถูกออกแบบมาร่วมกับบริษัทผลิตเลนส์ พานาวิชัน ซึ่งทำให้โอ’ ไบรอัน สามารถจับโฟกัสได้ระหว่างที่เขาถ่ายทำครูซใกล้ๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนโฟกัสโดยอัตโนมัติด้วยการวัดระยะห่างระหว่างที่เขาลอยไกลออกไป เลนส์ IMAX ไม่เคยถูกใช้ในการปล่อยตัวอิสระมาก่อน
“ผมอยากให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนว่าพวกเขาอยู่ตรงนั้น” ครูซกล่าว “ทันทีที่ผมออกจากเครื่อง C-17 ผมก็กระโดดลังกาหลัง ซึ่งค่อนข้างจะรุนแรงทีเดียว ระหว่างที่ผมกระโดดนั้น ผมจะต้องมองหาให้ได้ว่าเคร็กอยู่ตรงไหน เพื่อที่ผมจะได้ลอยไปหาเขาได้ ในแต่ละเทค คุณไม่แน่ใจหรอกว่าคุณจะถ่ายอะไรได้บ้าง มันไม่เหมือนกับการที่คุณใช้กล้องปกติในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมได้ แต่มันเป็นอะไรที่ควบคุมไม่ได้และผมคิดว่าซีเควนซ์นี้ก็สื่อสารเรื่องนั้นออกมาครับ”
ในแต่ละวัน ครูซจะซ้อมกระโดดประมาณ 4-6 ครั้ง จากนั้น ก่อนหน้าที่พระอาทิตย์จะตก ในตอนที่แสงใช้การได้ แม็คควอร์รีย์ก็จะถ่ายทำการกระโดดครั้งสุดท้ายของวัน “เรามีเวลาสามนาทีในการถ่ายทำช็อตนั้น” ผู้กำกับกล่าว “และถ้าเราถ่ายทำไม่สำเร็จ เราก็รู้ว่าเราจะต้องกลับมาอีกในวันรุ่งขึ้น ดังนั้น ความตึงเครียดก็เลยจะก่อตัวขึ้นในระหว่างวัน นอกเหนือจากการเป็นงานสตันท์ที่น่าทึ่งแล้ว ทอมยังช่วยช่างกล้อง และแน่นอนว่าระหว่างนั้น เขาก็ยังแสดงไปพร้อมๆ กันอีกด้วย”
หลังจากช็อตนั้น ทีมงานก็จะรวมตัวกันในรถตู้วิดีโอเพื่อดูว่าฉากนั้นใช้การได้รึเปล่า “ทีมงานทุกคนรอดูว่าเราถ่ายทำได้รึเปล่า” ครูซกล่าว “มีหลายวันที่เราทำไม่ได้ ผมก็จะพาทุกคนมาดูฟุตเตจเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมมันถึงใช้การไม่ได้และสิ่งไหนที่เราต้องทำให้แตกต่างออกไปน่ะครับ”
ซีเควนซ์นั้นถูกแยกออกเป็นสามส่วน และแต่ละส่วนก็ต้องอาศัยการฝึกฝนเข้มข้น การวางแผนอย่างละเอียดรอบคอบและการฝึกฝนและการถ่ายทำนานหลายวัน “เราคิดว่าส่วนแรกจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่พอเราไปถึงตอนที่สอง การกระโดดครั้งแรกก็ดูง่ายไปเลย” ครูซกล่าวกลั้วหัวเราะ “ในที่สุด เราก็ทำส่วนที่สองสำเร็จ และทุกคนก็ตื่นเต้นกันมาก แต่ส่วนที่สามก็โหดไม่แพ้กัน เราต้องหาวิธีที่ทำให้มันเข้าคู่กับส่วนที่สอง ในตอนที่ผมตะครุบตัววอล์คเกอร์ได้ ผมพยายามจะจับตัวเขาไว้ และแรงหนีศูนย์กลางก็เกือบจะดึงแขนผมหลุดจากเบ้าเลย เส้นเอ็นที่แขนของผมและไหล่ของผมถูกดึงจนตึงสุดๆ เคร็ก ช่างกล้องของเรา ก็เจอกับเรื่องนั้นเหมือนกัน”
“หลังจากที่แม็คคิว, เจคและผมมองดูเทคสุดท้ายของส่วนที่สาม เราก็เรียกทีมงานมารวมตัวกันแล้วเปิดมันให้พวกเขาดู” ครูวกล่าวเสริม “มันเหมือนเราทุกคนตัดสินใจร่วมกันว่า นั่นคือการปิดกล้อง หนังเรื่องนี้ถ่ายทำเสร็จแล้ว! ทุกคนตื่นเต้นกันมากและภูมิใจกับสิ่งที่เราทำสำเร็จจริงๆ มันเป็นความรู้สึกที่ยอดเยี่ยมที่สุดและเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าผมเสพติดการสร้างหนัง มันเป็นความรู้สึกตอนที่คุณได้ร่วมงานกับคนที่มีพรสวรรค์มากๆ ในทุกแผนก ที่รักหนังและอยากจะสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ชม ในตอนที่ช่วงเวลาแบบนั้นเกิดขึ้น มันก็เป็นความรู้สึกที่น่าทึ่งและเป็นความรู้สึกที่คุณจะไม่มีวันลืมเลยจริงๆ ครับ”