เฝ้าระวังโรคผิวหนังและแมลงสัตว์มีพิษในช่วงฤดูฝน
ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์
ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย
ปีนี้หน้าฝนมาเร็ว ความชื้นมาเร็ว ทำให้หลายๆ พื้นที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำรอการระบาย โดยที่เราไม่คาดการณ์ล่วงหน้า โรคหลายๆ โรคมักจะมากับความชื้น อย่างที่เจอบ่อยๆ คือ เชื้อราที่เท้า ซึ่งบางคนเรียกว่า น้ำกัดเท้า เชื้อราในที่อับๆทั้งหลายอย่างขาหนีบก็พบบ่อยในช่วงนี้ จริงๆ อย่างบ้านเรา ความชื้นมีทั้งปี บางช่วงก็ร้อนชื้น บางช่วงก็เย็นชื้น ซึ่งเป็นอากาศที่เชื้อราชอบ ในฤดูฝน พอน้ำท่วม หลายๆ คนก็ต้องใส่รองเท้าลุยน้ำเข้าบ้าน พอใส่รองเท้าแล้วรองเท้าชื้นแล้วก็ใส่คู่เดิม โดยเฉพาะอาชีพตำรวจหรือทหาร ที่มีรองเท้าเพียงคู่เดียว ยิ่งเป็นแบบรองเท้าบูทก็มีโอกาสจะเป็นได้สูง เชื้อราอยู่ในรองเท้าและอยู่บนผิวหนังเรา พอเราก็ใส่รองเท้าคู่เดิมไปทุกๆ วัน เชื้อราทั้งหลายชอบความชื้น ถ้าเราทำให้ผิวหนังเราแห้งได้พอสมควร เชื้อราจะไม่ค่อยเกิดขึ้น การใส่รองเท้า ถ้าหากเป็นคู่ที่เปียกๆ ควรพักรองเท้าบ้าง ถ้าให้ดีให้สลับแล้วพักให้แห้งบ้าง หรือทางที่ดีให้สลับรองเท้าอยู่เรื่อยๆ อย่าพยายามใส่คู่เดียว ถึงแม้เป็นคู่ที่เรารักเราอยากใส่ทุกวันก็ตาม ส่วนถุงเท้าต้องเปลี่ยนทุกวัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการหมักหมมของเหงื่อที่เท้า หรือแถวๆ ขาหนีบ แถวซอกรักแร้ ก็ต้องทำความสะอาดร่างกายให้ดี อย่าให้มันชื้นหรืออับมากเกินไป ในกรณีมีแผลที่เท้าอยู่แล้ว ต้องดูแลเป็นพิเศษและรักษาแผลให้หาย ดูว่าแผลเกิดจากอะไร ผื่นจากเชื้อราที่อักเสบหน่อย อาจได้เชื้อมาจากสัตว์บางชนิด ซึ่งอาจจะมีตุ่มน้ำตุ่มหนองขึ้นมาได้ อีกที่หนึ่งที่เป็นบ่อยและลองสังเกตดูจะเป็นตามซอกของนิ้วนางกับนิ้วก้อยเท้า ซึ่งโดยธรรมชาติจะปิดที่สุดจะอับที่สุด มันจะไม่เหมือนหัวแม่โป้งเท้าที่จะใหญ่หน่อย สำหรับโรคเท้าเหม็นเกิดจากเท้ามีเหงื่อออกเยอะ แล้วมีเชื้อแบคทีเรียบางตัวที่ชอบความชื้น จึงมักอยู่บริเวณนี้บางคนที่ฝ่าเท้าหนาหน่อยหรือเหงื่อออกง่ายหน่อย ก็จะเชื้อเชิญทั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียมาอยู่ด้วยกันเลย วิธีสังเกตง่ายๆ บางทีเพื่อนๆ ก็จะบอก เพราะบางทีตัวเองชินกับกลิ่นตัวเอง หรือที่เท้าอาจจะเห็นเป็นหลุมๆ เกิดจากแบคทีเรียพวกนั้นเติบโตขึ้นแล้ว ไปย่อยผิวหนังให้เป็นหลุมๆ จะต้องทำการรักษา แล้วเรื่องกลิ่นเท้าจะดีขึ้น ซึ่งจะมียาทาเฉพาะที่ หรือกลุ่มยารักษาสิวบางชนิดที่ฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียได้ ส่วนแอลกอฮอล์ สามารถช่วยได้เป็นครั้งคราว ซึ่งการรักษาต้องฆ่าเชื้อเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรถึงจะหาย อันตรายอีกอย่างที่มักพบในช่วงฤดูฝน คือแมลงกัดต่อย จริงๆ แล้ว แมลงบ้านเราเยอะมาก เพราะภูมิประเทศบ้านเราเป็นเขตร้อนชื้น ยุงก็เยอะ คนที่แพ้ก็จะเป็นตุ่มผื่นขึ้นได้ แต่ที่มักเป็นข่าวบ่อยๆ จะมีแมลงอยู่ชนิดหนึ่ง ช่วงปลายๆ ฤดูฝนจะพบได้ ก็คือด้วงก้นกระดก หรือแมลงก้นกระดก เคยมีข่าวว่าโดนแล้วตาย จริงๆ แล้ว พิษของแมลงชนิดนี้ มันอยู่ในตัวของมันเอง โดยจะมีสารที่หลั่งออกมา แมลงก้นกระดกมักจะอยู่ทั้งในบ้านและนอกบ้านที่น่าสนใจคือ เขาเป็นแมลงเล่นไฟชนิดหนึ่ง คนส่วนมากมักจะโดนพิษของแมลงชนิดนี้ในเวลากลางคืน เนื่องจากปิดไฟแล้วแมลงจะตกตามที่นอน ซึ่งเมื่อเราตื่นขึ้นมาก็มักจะรู้สึกแสบๆ อยู่ตามตัว และจะเจอแผลไหม้ๆ แดงๆ สังเกตอาจจะเป็นแผลไหม้ๆ ยาวๆ แต่จะไม่ถึงกับเสียชีวิต ด้วงหรือแมลงก้นกระดกนั้นบินได้ ตัวที่เห็นจะเป็นสีส้ม ดำ ถ้าเจอ อย่าบี้หรือขยี้ พิษของมันหากใครโดนก็เหมือนที่ผิว ก็จะเกิดอาการแสบไหม้ อีกเรื่องคือในช่วงฤดูฝนไปเที่ยวทะเล ก็ให้ระวัง บางครั้งเราไม่ได้ระวังแมงกะพรุน เวลามีพายุหรือคลื่นแรงๆ บางทีหนวดเค้าหลุดมา หรือตัวโดนซัดเข้ามาใกล้ๆ ชายฝั่ง บางทีมันมาโดนเราโดยไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นตอนหน้าฝนเป็นช่วงที่ต้องระวังเหมือนกัน ซึ่งแมงกะพรุนมีหลายชนิดมาก แต่ที่เราเจอบ่อยๆ ที่อยู่แถบบ้านเราเรียกว่า แมงกะพรุนไฟ กับอีกชนิดหนึ่งที่มาจากออสเตรเลีย ที่เรียกว่า แมงกะพรุนกล่อง (box jellyfish) ตามที่เคยได้ยินข่าวว่า โดนแมงกะพรุนแล้วเสียชีวิต ซึ่งไม่ค่อยพบบ่อยนัก แต่ต้องเตือนกันเป็นประจำ เนื่องจากบางครั้งกระแสน้ำพัดมา ซึ่งแมงกะพรุนชนิดนี้ ติดหนึ่งในสิบสัตว์ที่พิษร้ายแรงที่สุดในโลก พิษของแมงกะพรุนทั่วไป จะอยู่ในหนวดในกระเปาะ เมื่อพอมันหลุดมาเป็นพิษต่อผิวหนัง เราจะรู้สึกแสบทันที หรือบางคนก็จะติดอยู่กับตัว หรือบางครั้งเด็กไม่รู้แล้วนำไปจับเล่น สำหรับวิธีการดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือการกำจัดพิษของแมงกะพรุนให้ออกไปหากมีน้ำส้มสายชู ให้หาน้ำส้มสายชู ใช้ราดหรือประคบ อย่าถู ประคบทิ้งไว้ประมาณ 30 วินาที จะช่วยลดพิษที่ผิวหนังได้ไม่ว่าจะเป็นแมงกะพรุนชนิดไหนก็ตาม ทีนี้สิ่งที่ต้องเตือนคือ อาการจะเป็นที่ผิวหนัง จะเกิดอาการปวดแสบปวดร้อน แต่ถ้ามีอาการแปลกๆ เช่น อาการหอบ หรือ หายใจไม่ออก ก็อาจจะช็อกได้ เพราะฉะนั้น ถ้าโดนพิษต้องสังเกตอาการดีๆ ถ้าแค่แสบร้อนที่ผิวหนังก็ใช้น้ำส้มสายชู แต่ถ้ามีอาการอื่นๆ ก็ต้องรีบช่วยชีวิตตามอาการ และรีบส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.dst.or.th