news on June 28, 2018, 08:02:02 AM

งานประชุม Chair Professor Grants ประจำปี 2561


สวทช. จัดประชุมผู้รับทุน Chair Professor Grants ประจำปี 61 เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำวิจัย มุ่งผสานร่วมวิจัยประเด็นใหญ่สำหรับประเทศ





บรรยากาศงานประชุม Chair Professor Grants ประจำปี 2561


เสวนาหลังวิจัยเดินต่ออย่างไร ภาคต่องานวิจัย...สู่โลกนอกห้องปฏิบัติการ


(28 มิถุนายน 2561) ที่จังหวัดระยอง : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานประชุม “Chair Professor Grants ประจำปี 2561” ระหว่างวันที่ 28 - 30 มิถุนายน 2561 เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยที่ได้รับทุนในโครงการทุนนักวิจัยแกนนำ และทุน NSTDA Chair Professor มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำวิจัยและการสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มวิจัย การให้ความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนงานวิจัย ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน ตลอดจนนำความรู้ที่ได้เป็นแนวทางดำเนินงานวิจัยในอนาคตต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณาจารย์และนักวิจัยผู้รับทุนจากทั้ง 2 โครงการ ผู้บริหารระดับสูง และนักวิจัย สวทช. รวมกว่า 120 คน โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. เป็นประธานเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ “ประเด็นใหญ่สำหรับการวิจัยไทย”


ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการร่วมทุนโครงการ NSTDA Chair Professor และที่ปรึกษาอาวุโส สวทช.
กล่าวว่า โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ เป็นกลไกหนึ่งที่ สวทช. สร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยที่มีศักยภาพสูง สร้างสรรค์และถ่ายทอดผลงานที่เป็นประโยชน์ให้กับประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม หวังให้เกิดผลกระทบระดับสูงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงช่วยพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้กับประเทศ โดยเป็นการให้ทุนวิจัยขนาดใหญ่ มอบให้ทุกปี ปีละจำนวน 20 ล้านในระยะเวลา 5 ปี ขณะที่โครงการทุน NSTDA Chair Professor เป็นโครงการที่มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สนับสนุนจำนวน 1 ทุนต่อทุกสองปีเป็นเงิน 20 ล้านบาทในระยะเวลา 5 ปี โดยมี สวทช. เป็นผู้บริหารจัดการ โดย Chair Professor หรือศาสตรเมธาจารย์ คือการสร้างศาสตราจารย์ที่เป็นผู้นำกลุ่ม ให้มีโอกาสทำงานวิจัยของตนเองให้เกิดประโยชน์ สร้างสรรค์งานอย่างมีอิสระทางวิชาการ พัฒนาการวิจัยในประเทศไทย และก่อให้เกิดผลงานใหม่ที่น่าสนใจ รวมถึงเป็นต้นแบบสร้างกำลังใจแก่นักวิจัยรุ่นใหม่ในการพัฒนาตนเองสู่การเป็นนักวิจัยอาชีพที่สร้างผลงานคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

“ที่ผ่านมา สวทช. ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า กลไกการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการขนาดใหญ่ที่ให้นักวิจัยได้ทำงานเป็นกลุ่มวิจัยและเครือข่ายอย่างเต็มศักยภาพเป็นแนวทางที่ได้ผลดียิ่ง และการประชุมครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการฯ มุ่งหวังให้เป็นการรวมตัวของนักวิจัยแกนนำของประเทศ ช่วยส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มวิจัย เป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์งานวิจัย ขยายเครือข่ายการวิจัย และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในอนาคต โดยในภาพรวมของประเด็นใหญ่สำหรับการวิจัยไทย เห็นว่า นักวิจัยแกนนำนอกจากจะมีแนวทางการวิจัยเฉพาะทางของตัวเองแล้ว ควรจะดูภาพใหญ่ของประเทศด้วย เช่น นโยบายประเทศไทย 4.0 การมุุ่งในอุตสาหกรรม S-Curve เป็นต้น ด้วยการทำความเข้าใจในนโยบายดังกล่าว แล้วดูว่าจะเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างไร เช่น S-Curve ที่มุ่งเน้นในเรื่องอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ขั้นพื้นฐาน ดังนั้น ต้องมีการทำวิจัยหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ที่มีความฉลาดมากขึ้น เน้นไปในทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องกล หรือใช้สมองกลให้มากขึ้น โดยงานวิจัยต่างๆ นี้จะมีส่วนช่วยสนับสนุนรัฐบาลในนโยบายประเทศไทย 4.0 ให้เป็นผล และนโยบายที่ดี ย่อมนำไปสู่ความเจริญและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป” ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ กล่าว


ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ รักษาการรองผู้อำนวยการ สวทช. และเลขานุการโครงการทุน Chair Professor Grants กล่าวว่า ขณะนี้ มีผู้รับทุนภายใต้โครงการทุนนักวิจัยแกนนำ และทุน NSTDA Chair Professor แล้วทั้งสิ้น 22 ท่าน แบ่งเป็นนักวิจัยแกนนำ จำนวน 17 ท่าน และ NSTDA Chair Professor จำนวน 5 ท่าน โดยแต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม สามารถผลิตผลงานที่มีคุณภาพในระดับสูง ทั้งในรูปแบบของต้นแบบผลิตภัณฑ์/เทคโนโลยี 177 ต้นแบบ (ทุนนักวิจัยแกนนำ 84  ต้นแบบ / ทุนNSTDA Chair Professor 93  ต้นแบบ) สิทธิบัตร 49 เรื่อง (ทุนนักวิจัยแกนนำ 46 เรื่อง/ ทุนNSTDA Chair Professor 3 เรื่อง) ผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ 924 เรื่อง (ทุนนักวิจัยแกนนำ 808 เรื่อง/ ทุนNSTDA Chair Professor 116 เรื่อง) และการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 626 คน (ทุนนักวิจัยแกนนำ 494 คน/ ทุนNSTDA Chair Professor 132 คน) รวมถึงยังนำผลงานวิจัยจำนวนหนึ่งไปเผยแพร่ใช้ประโยชน์ในเชิงสาธารณะแล้ว อาทิ ผลงานอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีอบแห้งและแปรรูปขั้นสูงสำหรับอาหารและวัสดุชีวภาพ ผลงานฝึกอบรมการพัฒนาชุดตรวจ/ชุดวินิจฉัย และผลงานแนะนำสบู่ดำพันธุ์ใหม่ เป็นต้น

“งานประชุมผู้รับทุน Chair Professor Grants ประจำปี 2561 จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นักวิจัยผู้รับทุนนักวิจัยแกนนำ และ NSTDA Chair Professor ได้แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในการทำวิจัย และบูรณาการระหว่างกลุ่มวิจัย ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างนักวิจัยในอนาคต ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อต่างๆ ที่ให้ความรู้และส่งเสริมการทำวิจัยและสร้างสรรค์ผลงาน รวมถึงเพื่อพัฒนาระบบสนับสนุนงานวิจัยของไทย ตลอดจนนำความรู้ที่ได้เป็นแนวทางดำเนินงานวิจัยในอนาคตต่อไปได้ ได้แก่ หัวข้อ “หลังวิจัยเดินต่ออย่างไร: ภาคต่องานวิจัย...สู่โลกนอกห้องปฏิบัติการ” โดยผู้บริหาร สวทช. และภาคเอกชน หัวข้อ “งานวิจัยสู่การประยุกต์ใช้ด้านไอที” โดยอดีตผู้อำนวยการ สวทช. ผู้บริหาร VISTEC และภาคเอกชน หัวข้อ “ระดมสมอง สร้างมิติใหม่ ให้แก่ทุนวิจัยมูลค่าสูง” โดยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ และหัวข้อบรรยาย “การปรับตัวของวงการวิจัยสู่การแข่งขันในระดับโลก” ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม” ศ.นพ.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าว
« Last Edit: June 28, 2018, 03:45:19 PM by news »