news on June 22, 2018, 08:04:23 AM






สัมมนาทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยกับ EEC


สวทช. หนุน SME งานเชื่อมไทยในพื้นที่ EEC ปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยนวัตกรรมและการยกระดับงานเชื่อม เพิ่มโอกาสแข่งขันทางการตลาด และพร้อมเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะ

(21 มิ.ย. 61) ณ เมืองพัทยา จ.ชลบุรี: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จัดสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” โดยมีผู้ประกอบการเจ้าของกิจการ ผู้จัดการโรงงานในอุตสาหกรรมงานเชื่อมเขตพื้นที่ EEC (ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา) กว่า 60 คน ร่วมสัมมนา เพื่อรับทราบเทคโนโลยีการเชื่อมขั้นสูงและแนวโน้มเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อใช้ในการผลิตและสร้างนวัตกรรม รวมถึงเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะ (Smart SME) ด้านงานเชื่อมในเขตพื้นที่ EEC ด้วยการยกระดับมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ การผลิตด้วยกระบวนการเชื่อม และการส่งออกผลิตภัณฑ์โลหะแปรรูป เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจแข่งขันได้ในตลาด


น.ส.ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช.
กล่าวว่า โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ริเริ่มดำเนิน “โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและนวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรม สำหรับปีงบประมาณ 2560-2563” เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในกลุ่มการผลิตงานโลหะที่เป็นผู้รับจ้างผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และการบินและโลจิสติกส์ ได้มีความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกระบวนการผลิตของตนเอง สามารถปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตได้อย่างเหมาะสม โดยได้จัดทำโมดูลย่อยในโครงการจำนวน 3 โมดูล ได้แก่ เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตขั้นสูงและสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยีระบบการผลิตแบบกึ่งและอัตโนมัติ และเทคโนโลยีขั้นสูงในการตรวจสอบและซ่อมบำรุง โดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง อาทิ ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีการเชื่อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมและเข้าร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตงานโลหะ ให้เข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจของผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการอัจฉริยะเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนขององค์กรต่อไป โดยงานสัมมนา “ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” ครั้งนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว เพื่อมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการงานเชื่อมในพื้นที่ EEC ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา


ผศ.ดร.ปริยสุทธิ์ วัฒนธรรม ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางเทคโนโลยีการเชื่อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวถึงภาพรวมอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยในปัจจุบันว่า งานเชื่อมอาจจะไม่ได้เป็นนวัตกรรมแบบเทคโนโลยี แต่อาจเป็นนวัตกรรมในด้านกระบวนการ ทำให้สามารถทำกำไรได้มากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมงานเชื่อมจริงๆ แล้วไม่ได้มี แต่งานเชื่อมเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน อยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เกี่ยวข้องตั้งแต่สร้างโรงงาน หรือการต้มน้ำ อุตสาหกรรมต่อเรือ ไฟฟ้า ยานยนต์ งานโครงสร้าง งานท่อไปป์ไลน์ เป็นต้น เพราะล้วนเป็นการใช้กระบวนการเชื่อมในการสร้างงาน ซึ่งงานเชื่อมสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ 1) Fabrication การสร้างงาน 2) Production การผลิตอุตสาหกรรมชิ้นส่วน ที่มีไลน์การผลิต และ 3) Maintenance การซ่อมบำรุง โดยในส่วนงานเชื่อมที่ใช้งานค่อนข้างมากกว่าแบบอื่น คือ ในส่วนของกระบวนการ (process) ซึ่งหลายๆ โรงงานมีกระบวนการเชื่อมมากกว่า 1 อย่างที่ใช้กระบวนการนั้น ทั้งนี้ สามารถแบ่งหรือจำแนกออกเป็น 4 กระบวนการ ตั้งแต่การเชื่อมด้วยมือ (Manual) การกึ่งผสมผสาน (Semi) การเป็นแรงงานกึ่งทักษะ ที่ต้องคอย operate เครื่อง จนถึงการใช้ระบบหุ่นยนต์ (Robotic) และระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่ง 2 ส่วนนี้ยังแยกกันอยู่ เพราะระบบหุ่นยนต์หลายแห่งยังจำเป็นต้องใช้แรงงานคนป้อนชิ้นงานเข้าไปสู่งานเชื่อม ซึ่งจุดนี้ยังสามารถออกแบบพัฒนาระบบให้สามารถทำงานและตั้งค่าการทำงานโดยอัตโนมัติได้

“3 เหตุผลหลักที่ต้องใช้ระบบหุ่นยนต์หรือ Robotic ในอุตสาหกรรมงานเชื่อม คือ เรื่องผลิตภาพ (productivity) กำลังการผลิตที่ต้องการปริมาณมากจำเป็นต้องใช้ระบบหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเพื่อให้ทำงานได้ตลอดเวลา เรื่องคุณภาพ (quality) ในการใช้หุ่นยนต์ผลิต เสมอต้นเสมอปลาย และเรื่องต้นทุน (cost) อาจลงทุนช่วงแรกสูง แต่ในระยะยาว การมีตลาดที่สามารถผลิตได้ต่อเนื่อง ผลิตมากจะมีต้นทุนที่ต่ำมาก ทั้งนี้ เทคโนโลยีเครื่องเชื่อม หรือ Welding Technology & Equipments ทุกวันนี้ อยู่ที่ระบบอินเวอร์เตอร์ (Inverter) จากเดิมที่เป็นหม้อแปลงขนาดใหญ่ ใช้พลังงานมาก เช่น งานเชื่อมโลหะ ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมาก เชื่อมวันละ 8-12 ชั่วโมง ดังนั้น ควรใช้ Inverter เพื่อประหยัดพลังงาน แต่ยังมีขีดจำกัดด้านราคาอยู่บ้าง แต่คุ้มค่าในระยะยาว”


ภายในงานสัมมนาครั้งนี้ มีมุมมองจากผู้แทนภาครัฐและเอกชนให้ความเห็นในหัวข้อเสวนา “ทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมงานเชื่อมไทยกับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)” โดย รศ.นิพนธ์ ศิริศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญระบบคุณภาพงานเชื่อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และอดีต CEO สถาบันการเชื่อมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นถึง EEC กับทิศทางอุตสาหกรรมงานเชื่อมว่า ก่อนอื่น ผู้ประกอบการ SME ต้องวิเคราะห์ตัวเองออกมาให้ได้ก่อน ว่าองค์กรเราคืออะไร บริบท ผลกระทบที่จะมีกับเราหลังเกิด EEC เป็นการวิเคราะห์ SWOT เช่น รถไฟไม่ผ่าน และหาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ว่าจะมีใครบ้าง จากนั้นให้ทำการประเมินความเสี่ยง เช่น งานด้านเชื่อม ซึ่งอาจลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจด้วยการหาเทคโนโลยีรองรับการทำงาน หรือจัดทำมาตรฐานด้านงานเชื่อมเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้มากขึ้นได้



ขณะที่ผู้แทนจากหน่วยงานรับรองมาตรฐาน คุณชัยวัฒน์ พันธุ์ชาติ ผู้จัดการฝ่าย Engineering Services บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า ในการจัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรม หลายๆ ประเทศในยุโรปจำเป็นต้องมีการรับรองมาตรฐานเพื่อทำการตลาด ขณะที่ในประเทศแถบเอเชียไม่ได้มีระบุหรือกำหนดว่า ต้องมีระบบคุณภาพ (quality system) ที่ดี จึงจะขายได้ ด้วยเหตุนี้ ทางผู้ประกอบการ SME เองที่มีความประสงค์จัดทำมาตรฐาน จะสามารถนำไปเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สามารถนำไปแสดงกับลูกค้า สะท้อนถึงความสามารถในการจัดการงานด้านงานเชื่อมของบริษัท เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้ และในด้านหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลกำกับมาตรฐาน คุณทวัยพร ชาเจียมเจน นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มองว่า แนวคิดในการทำมาตรฐาน คือ การกีดกันทางการค้า มาตรฐานเป็นกลไกเดียวที่จะกีดกัน ถ้าผู้ประกอบการไม่ได้จัดทำจะไม่สามารถขายสินค้าได้ โดย สมอ. ส่งเสริมผู้ประกอบการให้จัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ โดยเน้นย้ำว่า ควรวิ่งเข้าหามาตรฐานก่อน อย่ารอให้มาตรฐานเข้าหา เช่น มาตรฐานงานเชื่อม มอก.2860 มอก.2692 และ มอก.2597 เป็นต้น


ด้านหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ ผศ.ดร.กฤตธี เอียดเหตุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวสรุปว่า กลุ่มบริษัทผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในอุตสาหกรรมงานเชื่อม ควรมีการนำมาตรฐานงานเชื่อมมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจก่อน โดยส่วนนี้ทางโปรแกรม ITAP สวทช. จะมีเครื่องมือช่วยเหลือและผู้เชี่ยวชาญสนับสนุนการดำเนินงาน ผ่านโครงการต่างๆ ทั้งเข้าเยี่ยมชมกิจกรรม วิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ ซึ่งสามารถจำแนกแยกแยะได้ว่าธุรกิจควรเริ่มต้นยกระดับงานโลหะและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมต่อไปอย่างไร
« Last Edit: June 22, 2018, 02:57:31 PM by news »