news on June 11, 2018, 03:40:49 PM
สวทช.- ก.พาณิชย์- ม.หอการค้าไทย ผนึกใช้ วทน. พัฒนาสมุนไพรครบวงจร ดันส่งออก ตปท.




ลงนามความร่วมมือการส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพรครบวงจร


ผู้ประกอบการสมุนไพร โชว์ผลงาน



เยี่ยมชมผลงานสมุนไพรผู้ประกอบการ



(11 มิถุนายน 2561): ณ โถงชั้น1 อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และนางวรรณภรณ์  เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพรครบวงจร” เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสมุนไพรอย่างครบวงจรในรูปแบบเครือข่ายสนับสนุนการทำงาน (Networking)


รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย



ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า ในปี 2559 รัฐบาลได้จัดทำแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม รักษาภูมิปัญญาเกี่ยวกับสมุนไพรไทย รวมถึงการพัฒนาการผลิต และใช้ประโยชน์สมุนไพรอย่างมีคุณภาพ และครบวงจร เพื่อยกระดับศักยภาพ SMEs ให้มีการพัฒนาโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการผลิตสินค้าสมุนไพร รวมทั้งเพิ่มมูลค่า และใช้ประโยชน์วัตถุดิบสมุนไพรไปสู่เชิงพาณิชย์ โดย สวทช. ได้ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมสมุนไพร โดยสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง สำหรับการดำเนินการในปีงบประมาณ 2557-2561 พบว่า มีโครงการด้านสมุนไพรทั้งสิ้นมากกว่า 300 โครงการ  เป็นโครงการด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมากกว่า 180 โครงการ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอาหาร จำนวน 55 โครงการ นอกจากนี้ สวทช. ยังได้มีความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ในการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพร ทั้งกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้โครงการบูรณาการสมุนไพร ในปี 2560 อาทิ สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมสำหรับสินค้าเครื่องสำอางและเวชสำอางที่ได้จากสารสกัดสมุนไพรไทยโดยใช้นาโนเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ได้แก่ การสกัดสารออกฤทธิ์ การพัฒนาอนุภาคนาโน การพัฒนาสูตรตำรับ รวมถึงการวิเคราะห์ทดสอบสารออกฤทธิ์ โดยมุ่งเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลผิวและย้อนวัย เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมตลาดของสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยให้มีมูลค่าเพิ่ม

ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ พัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่การต่อยอดด้านการตลาดและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ จากการให้บริการของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ในโครงการ Smart Packaging : Food and Cosmetic  เป็นต้น

ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างครบวงจร สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาท ภารกิจ การวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และประสบการณ์ในการเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมสมุนไพร กับหน่วยงานวิจัยในประเทศที่ทำงานวิจัยด้านสมุนไพร จึงได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพรครบวงจร”เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสมุนไพรอย่างครบวงจรในรูปแบบเครือข่ายสนับสนุนการทำงานร่วมกัน (Networking)  ผ่านกระบวนการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันด้วยความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ สร้างกระบวนการสร้างธุรกิจสร้างสรรค์ และสร้างเครือข่ายสนับสนุนการทำงานสู่การขยายผลเชิงพาณิชย์ โดยเริ่มตั้งแต่เข้าใจตลาดและรสนิยมผู้บริโภค ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพทางการตลาดให้ผู้ประกอบการสมุนไพร ผ่านช่องทางการตลาด การกระจายสินค้าทั้งในและต่างประเทศ

ดร. ฐิตาภา สมิตินนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สำหรับบทบาทการทำงานร่วมกันครั้งนี้ สวทช. จะเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมสมุนไพร กับหน่วยงานวิจัยต่างๆ  ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้นแบบที่ผ่านการพัฒนาจากแนวคิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ


นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะเน้นในส่วนการศึกษาข้อมูล การวิเคราะห์ศักยภาพและทิศทางตลาด รวมถึงกระแสรสนิยมของผู้บริโภค เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ การผลิต และการวางแผนการตลาดของผู้ประกอบการ เพื่อนำไปพัฒนา “แนวคิดผลิตภัณฑ์ต้นแบบ” ให้ผู้ประกอบการผ่านกระบวนการ Design Thinking ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการให้คำปรึกษาเชิงลึกในด้านที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมและเป็นประโยชน์กับธุรกิจ


นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะสนับสนุนด้านช่องทางการขายและการทดลองตลาดสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ และสนับสนุน เสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจ ผ่านการสนับสนุนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศแก่ผู้ประกอบการสมุนไพรที่มีศักยภาพ เพื่อนำสินค้าสู่ช่องทางตลาด การตลาดออนไลน์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก platform e-commerce ทั้งนี้เพื่อร่วมกันผลักดันงานวิจัยที่เกิดขึ้นให้สามารถเกิดการจัดจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์ เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้สามารถพัฒนาได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป
« Last Edit: June 11, 2018, 03:46:41 PM by news »