happy on June 09, 2018, 06:54:32 PM
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดงาน ‘วันทะเลโลก ประจำปี 2561’
ปลุกกระแสสังคม ลดขยะในทะเล เปิดตัวสารคดี “Clean Our Ocean ทะเลดี ชีวีมีสุข”
วอนทุกฝ่าย กอบกู้วิกฤติทะเลไทย หยุดทำร้ายทะเลโลก


                    กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดกิจกรรมเนื่องใน ‘วันทะเลโลก ปี 2561’ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน ปลุกกระแสสังคม จับมือทุกภาคส่วน ประกาศเจตนารมณ์ช่วยกันลดปริมาณขยะในทะเล ฟื้นคืนระบบนิเวศที่สมบูรณ์สู่ท้องทะเลไทย พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดี “Clean Our Ocean ทะเลดี ชีวีมีสุข” กระตุ้นจิตสำนึกรักษ์ทะเล โดยมี พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, (8 มิ.ย. 61 ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์เธียร์เตอร์ สยามพารากอน กรุงเทพมหานคร)

                    นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยว่า “จากปัญหาวิกฤติทะเลไทย พบสถิติการปล่อยทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเป็นอย่างมาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของทะเลและมหาสมุทร จึงมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดกิจกรรมเนื่องใน ‘วันทะเลโลก ประจำปี 2561’ (World Oceans Day 2018 ) เพื่อรณรงค์อนุรักษ์ท้องทะเล สืบเนื่องมาตลอดทุกปี พร้อมเดินหน้าช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะล้นทะเลอย่างเร่งด่วน จับมือร่วมกับภาครัฐเอกชนและภาคีเครือข่าย ประกาศเจตนารมณ์ แสดงส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทะเลไทย และเพิ่มการจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่ไหลลงสู่ท้องทะเล ตั้งแต่ ต้นทาง อาทิ ผู้ผลิต ผู้นำเข้า กลางทาง ที่เป็นการความร่วมมือจัดการของภาครัฐบาล ภาคเอกชน องค์กรส่วนท้องถิ่น และปลายทาง เรื่องของการจัดการขยะ ทั้งกำจัดและแปรรูปไปเป็นพลังงาน ฯลฯ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากอันดับต้นๆ ของการทำร้ายทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล


                    ในงานได้เปิดตัวภาพยนตร์สั้นเชิงสารคดี “Clean Our Ocean ทะเลดี ชีวีมีสุข” เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ และช่วยกันหยุดวิกฤติทะเลไทย และเลิกทำร้ายทะเลโลก ได้รับความสนใจมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน อาทิ นักวิชาการ, ช่างภาพสารคดี, ตัวแทนชุมชน และผู้เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย มาร่วมรับชมในรอบปฐมฤกษ์ และเตรียมจัดฉายต่อไปในสื่อต่างๆ ติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซด์  www.dmcr.go.th” 

                    “ประเทศไทยมีจังหวัดที่ติดกับชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มีเกาะต่างๆ อีกกว่า 900เกาะใน 19 จังหวัด ข้อมูล พศ. 2559 พบขยะจากพื้นที่เหล่านี้เกือบ 3 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติก ประมาณ 339,600 ตันต่อปี แม้ว่าจะมีกระบวนการจัดการและจัดเก็บแล้ว แต่ขยะเหล่านี้ ก็ยังหลุดรอดและไหลลงสู่ท้องทะเล มากถึง 10-15% หรือ ประมาณ 30,000-50,000 ตันต่อปี โดยปริมาณขยะในประเทศ พศ. 2559 พบว่าขยะทั่วประเทศมากถึง  27.40 ล้านตัน, สถิติผลิตขยะ 1.14 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน, ผลิตขยะวันละ 74,130 ตัน ต่อวัน, เฉพาะกทม. 11,500 ตันต่อวัน ขยะกำจัดไม่ถูกต้องอีก 11.68 ล้านตัน และขยะตกค้าง 10.13 ล้าน ซึ่งสะท้อนการจัดการขยะยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และขยะบนบกเหล่านี้ มีจำนวนไม่น้อยที่กลายเป็นขยะในทะเล จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน” ท่านอธิบดี กล่าว 






                    ด้าน สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ประธานบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด และ ภัทราพร สังข์พวงทอง ในฐานะผู้จัดทำสารคดีชุดดังกล่าว เผยว่า “ข้อมูลปัญหาขยะทะเล ได้ถูกรวบรวมจากที่ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นแต่เป็นกันทั่วโลก ทำให้เราเห็นภาพรวมสถานการณ์ปัญหาขยะในทะเลที่ร้ายแรง และส่งผลกระทบหลายด้าน และถ้าพวกเรายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อนาคตก็จะยิ่งน่าเป็นห่วง 

                    สารคดีชุดดังกล่าว ทำให้เราได้ย้อนมองตัวเองว่า สิ่งที่เราคิดว่าไม่ได้มีส่วนร่วม เราเป็นผู้บริสุทธิ์นั้น แท้ที่จริงแล้วเราไม่รู้หรอกว่าเป็นฆาตกรโดยไม่ได้ตั้งใจหรือเจตนา เนื้อหาเกือบ 1 ชั่วโมงของสารคดี มีการเชื่อมโยงให้เห็นภาพตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง จะพบเลยว่าแท้ที่จริงแล้วเราทุกคนที่ใช้ชีวิตอยู่ โดยไม่ตระหนักถึงการใช้ถุงพลาสติกนี่แหล่ะ ต่างเป็นต้นเหตุทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นด้วยกันทั้งนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้อย่างไร? ขณะเดียวกันการขยับเคลื่อนที่นโยบายของภาครัฐ ภายใต้การจับตามองของประชาคมโลก ก็จะทำให้เราได้เห็นแนวทาง มาตรการ และทำให้เราต้องเตรียมตัว

                    หลายครั้งที่มีปัญหาเกิดขึ้นกับสังคมไทยแล้ว เรากลับมามองที่การสร้างจิตสำนึก คำถามคือ “สารคดี” คือทางออกที่จะช่วยปลุกจิตสำนึกได้อย่างไร?  เชื่อว่าธรรมชาติของคน มีสามัญสำนึกอยู่ในตัว เพียงแต่สิ่งที่เรายังขาด คือ ความรู้ความเข้าใจในหลายสิ่งหลายอย่าง เพราะด้วยความที่เราไม่รู้ ทำให้เข้าใจผิดหรือรู้ผิดๆ อย่างเรื่องขยะในทะเลนี้ คนทั่วไปมักเห็นว่าไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากไม่ใช่คนที่สนใจศึกษาค้นคว้า น้อยคนที่จะใช้การเรียนรู้ของตัวเองเพื่อศึกษา ว่าปัญหาร้ายแรงนี้จะส่งผลกระทบและอะไรที่อาจเกิดขึ้นเป็นปัญหาใหญ่โตในภายหลังบ้าง แต่ถามว่าคนเราสงสารสัตว์ทะเลหรือไม่ หรือเป็นห่วงตัวเองที่บริโภคสัตว์ทะเลที่มีนาโนพลาสติกหรือไม่ ฯลฯ ทุกคนมีความเป็นห่วงแต่ก็ไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องทำอย่างไร

                    ดังนั้นสื่อประเภทสารคดีจึงมีความสำคัญ เป็นการรวบรวมข้อมูลมาให้ผู้ชมได้เห็นภาพตั้งแต่ตัวปฐมบทไปจนถึงผลกระทบในปัจจุบัน พอประชาชนดูสื่อแล้วเกิดการเชื่อมโยง สะเทือนใจ ก่อให้เกิดพลังที่ทำหน้าที่ส่งต่อความรู้สึกไปในทิศทางเดียวกัน ผมเชื่อว่าธรรมชาติของคนที่รับรู้อย่างนี้ ต้องกลับมาทำอะไรสักอย่าง และไม่ได้กลับมาเงียบๆ ด้วย กลับมาเล่า ออกมารณรงค์ต่อต้าน อย่างเรื่องพลาสติกก็เห็นแล้วตอนนี้ หลายหน่วยงานเริ่มจะขยับ ผู้คนออกมาเผยแพร่ เหมือนแผ่นดินไหว พลวัตจากพลังที่เกิดจากตรงนี้จะกระเพื่อมออกไป แต่สิ่งสำคัญคือว่า เราต้องไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียวแล้วเงียบหายไป แต่การรับลูกจากตรงนี้แหละ คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง”



































« Last Edit: June 09, 2018, 07:00:34 PM by happy »