happy on May 28, 2018, 07:40:08 PM
เปิดตัวหนังสือ ‘3 วันดี 4 วันเศร้า’
ประสบการณ์ชีวิตที่สวมหมวกคนเป็นโรคซึมเศร้าของ ทราย เจริญปุระ


                      วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2561 เวลา 13.00-15.00 น. ณ coffee•tree ซอยติวานนท์ 3 สำนักพิมพ์บัน จัดงานทอล์กเปิดตัวหนังสือ ‘3 วันดี 4 วันเศร้า’ งานเขียนโดยทราย—อินทิรา เจริญปุระ ในบรรยากาศสบายๆ ประเด็นเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่ทรายไม่ค่อยได้ตอบที่ไหนมาก่อน พร้อมแขกรับเชิญพิเศษ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ที่จะมาพูดคุยในมุมของเพื่อนสนิท ดำเนินการพูดคุยโดย เอม—นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์

                      ทราย—อินทิรา เจริญปุระเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการป่วยเป็นโรคเป็นซึมเศร้าว่า ตนป่วยทั้งหมดสองครั้งครั้งแรก เกิดจากประสบอุบัติเหตุรถชนเมื่อปี 2554 ซึ่งส่งผลกระทบให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประเภท PTSD (Posttraumatic Stress Disorder) คือความสะเทือนใจหลังอุบัติเหตุ อาการตอนแรกเริ่มจากอ่านหนังสือไม่ได้ ทั้งที่ตนชอบอ่านมาก ร่วมถึงฝันวนแต่เรื่องเหตุการณ์เดิมๆ จนตัดสินใจเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์กินยาอยู่ 9 เดือนจนหายจากการป่วยเว้นจากการกินยาไป 1 ปี แต่ก็กลับมาเป็นอีกครั้งในระดับ MDD (Major Depressive Disorder) คือเป็นโรคซึมเศร้าแบบออฟฟิเชียลที่เกิดจากความเครียดที่ต้องดูแลแม่ที่ป่วยเช่นกัน




                      ทรายบอกถึงการตัดสินใจประกาศตัวว่าตนกำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้าว่าตอนแรกที่เปิดตัวว่าป่วยจะมีคนไม่เข้าใจเยอะบอกว่าคิดไปเอง หรือทำไมไม่ทำตัวร่าเริง เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่ใจ หรือถึงแม้หาหมอกินยารักษาแล้ว ยังมีคนบอกว่าอย่ากินยาเยอะมันไม่ดีต่อร่างกาย โดยที่ทุกคนลืมห่วงเรื่องของสภาพจิตใจ แต่อีกมุมก็มีคนเข้ามาถามเยอะมาก ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือให้ความมั่นใจว่าถ้าป่วยต้องไปหาหมอ ถึงแม้ว่าทุกคนจะบอกว่ากินยามากแล้วไม่ดี กินยาแล้วมีเอฟเฟค ต้องถามว่าจะเสี่ยงไปกับเอฟเฟคของยา หรือว่าจะเสี่ยงว่าพรุ่งนี้คุณอาจจะตายก็ได้มากกว่ากัน  รวมถึงแต่ก่อนไม่มีใครที่ออกมาบอกเลยว่าถ้าป่วยด้วยโรคซึมเศร้าจะต้องทำยังไง กินยาอะไร กินยาแล้วผลกระทบเป็นยังไง ค่ารักษาแพงไหม หาหมออะไรดี ที่ไหนดี จนรู้สึกว่าเคว้งคว้าง เลยคิดว่าถ้าตนพอจะรู้และช่วยอะไรได้บ้างก็อยากจะบอกประสบการณ์ของตนต่อคนอื่น

                      “ตอนเขียนหนังสือเล่มนี้ก็เป็นช่วงเวลาที่เหน็ดเหนื่อย เพราะบางเรื่องเราก็ไม่อยากย้อนกลับไปแตะมัน บางตอนที่เขียนไปแล้วเศร้ามากๆ บ.ก.ก็จะบอกว่าอันนี้เศร้าไป เพราะเราทำข้อตกลงตั้งแต่แรกแล้วว่าหนังสือเล่มนี้จะไม่ดึงดราม่า เพราะว่าคนที่มาอ่านอาจจะเป็นคนที่กินยาอยู่แล้วอาจจะรู้สึกแย่อยู่แล้ว ก็ไม่อยากให้มาเศร้าแข่งกัน อยากให้เหมือนเป็นการพูดคุยมากกว่า ซึ่ง บ.กก็จะช่วยปรับให้ตรงกลางที่สุด”

                      ทรายพูดถึงสิ่งที่ต้องการสื่อสารผ่านหนังสือเล่มนี้ว่า ตนไม่ได้ต้องการทำให้โรคนี้เข้าใจง่ายขึ้น หรือบอกว่าโรคนี้เข้าถึงยาก แต่อยากให้มองว่าคือโรคหนึ่ง ที่ป่วยต้องไปรักษา เหมือนเป็นหวัด หรือเป็นเก๊าท์ ไม่ใช่โรคที่แปลกประหลาดอะไร บางบ้านอาจจะกลายเป็นปัญหาครอบครัวเมื่อไปบอกว่าตัวเองป่วย ด้วยความไม่เข้าใจ หลายๆ ครั้งจึงมักบอกคนป่วยว่าถ้าบริหารจัดการอะไรด้วยตัวเองได้ให้ทำก่อน อย่าเพิ่งบอกใคร เพราะบอกแล้วก็อาจจะรู้สึกแย่เปล่าๆ ซึ่งการหาหมอรับการรักษาการพยายามจะดูแลตัวเองให้เข้ากับทุกคนได้ ถือเป็นการรับผิดชอบต่อสังคมเหมือนกัน ส่วนคนที่ไม่ป่วยแล้วต้องดูแลคนป่วยอยากบอกว่าจริงๆ ทุกคนสามารถแจ้งความจำนงได้ เวลาผู้ป่วยทำตัวไม่แฮปปี้ เพราะถ้าหากเขาไปทำกับคนข้างนอกที่ไกลตัว ที่ไม่รู้จักอาจจะส่งผลที่แย่มากกว่า มันคือการทำให้คนที่ป่วยอยู่บนโรคความเป็นจริงให้ได้




                      ทางด้านมะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ เพื่อนสนิทที่ดึงทรายกลับมาทำงานหลังจากประสบอุบัติเหตุจนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าบอกว่า โรคนี้คนที่ซัฟเฟอร์จะเป็นคนรอบตัวผู้ป่วยมากกว่า เวลาทำงานกับคนที่เป็น แต่ไม่ดูแลตัวเองจะมีความอึดอัดเหมือนกัน ไม่รู้ว่าสามารถพูดกับเขาได้แค่ไหน บางทีพูดไม่ได้เลย ไม่กล้าที่จะบอกว่าอันนี้ผิด ตรงนี้ยังไม่ดี อันนี้จะเป็นสิ่งที่ยากเวลาร่วมงาน สิ่งที่เวิร์กของผู้ป่วยคือการยอมรับตัวเองไปหาหมอ และพยายามที่จะใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองให้ได้ สิ่งที่ไม่เวิร์กก็คือให้คนโอ๋  หรือเหวี่ยงวีนตามใจเพราะฉันป่วย แบบนี้คือคุณทำร้ายจิตใจคนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว ถ้าไม่พยายามจะรักษาสิ่งนี้คือปัญหา

                      “เราแบ่งให้พระจันทร์คือคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามีข้างขึ้นข้างแรมมีมาบ้างไม่มาบ้าง และคนไม่ป่วยอย่างเราเป็นเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นเป็นเวลาตกเป็นเวลามันแผดแสงใส่ทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเท่าเดิมสมำเสมอ เราจะไม่แคร์ไม่สนอะไร ตอนทำงานกับทรายต่อให้ทรายบอกว่าป่วยเราก็ไม่ได้อะไรทำให้ดูแตกต่างจากคนอื่น เราทำทุกอย่างปกติ เท่าเทียมคนอื่น ขณะเดียวกันเราก็พยายามเข้าใจถึงจิตใจของเขาด้วย”

                      หนังสือ ‘3 วันดี 4 วันเศร้า’ เป็นเล่าประสบการณ์ส่วนตัวของ ‘ทราย เจริญปุระ’ เรื่องราวเบื้องหลัง และ เบื้องลึกของเรื่องจริง ในฐานะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และคนที่ต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วยซึมเศร้าอย่างแม่มาตั้งแต่เด็ก  เรื่องราวการรักษาทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิตหลังเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้ทรายต้องห่างหายจากวงการบันเทิงไปนานร่วมปี ความหนักหน่วงในจิตใจ เมื่อต้องส่งแม่ไปรักษาอาการโรคสมองเสื่อมที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และ การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโรคซึมเศร้าของตัวเองอย่างไร ให้ปกติสุขที่สุดเท่าที่คนป่วยคนหนึ่งจะทำได้ 

                      และถึงแม้จะเป็นเรื่องของโรคซึมเศร้า แต่เมื่อเล่าผ่านสำนวนของทราย เจริญปุระแล้ว ก็อ่านได้อย่างสนุก และน่าติดตามจนอยากส่งกำลังใจให้คนที่ประสบกับโรคนี้ไปด้วย รวมถึงทำให้เข้าใจแง่มุมใหม่ๆ ต่อโรคที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม