MSN on May 24, 2018, 08:24:50 AM
ผู้บริหารสุดปลื้ม TPCH คว้ารางวัลดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ลั่นเป้าหมายขึ้นแท่นผู้นำพลังงานทดแทนในอาเซียนอยู่ใกล้แค่เอื้อม เดินหน้า COD อีก 4 โครงการ ในปีหน้ารวม 49 เมกะวัตต์

“นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี” และ"นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล" สองผู้บริหารใหญ่ TPCH สุดปลื้ม  สองโรงไฟฟ้าคว้ารางวัลดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน ในงาน Thailand Energy Awards 2018  ตอกย้ำภาพผู้นำด้านพลังงานทดแทนของไทย ลั่นเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ต่อเนื่อง เตรียม COD อีก 4 โครงการในปีหน้า กำลังการผลิตรวม 49 เมกะวัตต์ ลั่นเป้าหมายโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะรวมเป็น 50 เมกะวัตต์ภายในปี 2563  พร้อมก้าวขึ้นแท่นผู้นำพลังงานทดแทนในอาเซียนอยู่ใกล้แค่เอื้อม


นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH ผู้ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน  เปิดเผยว่า บริษัทฯโดย"โรงไฟฟ้าช้างแรกไบโอเพาเวอร์" และ"โรงไฟฟ้า แม่วงศ์เอ็นเนอร์ยี" สามารถคว้ารางวัลดีเด่นจากการประกวด THAILAND ENERGY AWARDS 2018 ในด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (On-Grid) ซึ่งจัดขึ้นโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน การประกวดประจำปีนี้ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 268 ราย คัดเลือกผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 69 รางวัล โดยรางวัลดังกล่าวถือเป็นสุดยอดรางวัลด้านพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นมืออาชีพ ความเชี่ยวชาญและความเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาโรงไฟฟ้าและกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพด้านพลังงานทดแทนอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับในปัจจุบัน

"เรื่องพลังงานทดแทนในตอนนี้ บริษัทฯ ถือว่าได้รับการยอมรับในระดับประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งด้านพัฒนาโรงไฟฟ้า รวมถึงการผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นที่จะเสริมสร้างการจัดสรรโรงไฟฟ้าใหม่ๆ เพื่อความมั่นคงในระดับที่เหมาะสมเพื่อรองรับการจัดทําแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(Power Development Plan) ของประเทศไทยภายใต้เสาหลัก 3E คือ 1. Energy Security ด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า 2. Economic ด้านเศรษฐกิจ 3. Environmental Friendly ด้านสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ อย่างมีประสิทธิภาพ" นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวเสริม

สำหรับ โรงไฟฟ้าช้างแรกไบโอเพาเวอร์ (CRB)  มีปริมาณการขายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 9.2 เมกะวัตต์ รายได้จากการขายไฟฟ้าในระบบ Feed-in Tariff (FiT) ราคารับซื้อไฟฟ้าสุทธิ 4.45 บาทต่อหน่วยขาย ในไตรมาส 1/2561 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อจําหน่ายเป็นจํานวน 19,575,975 หน่วย  ส่วนโรงไฟฟ้าแม่วงศ์เอ็นเนอร์ยี (MWE) มีปริมาณการขายไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 8.0 เมกะวัตต์ รายได้จากการขายไฟฟ้าในระบบ Feed-in Tariff (FiT) ราคารับซื้อไฟฟ้าสุทธิ 4.45 บาทต่อหน่วยขาย ในไตรมาส 1/2561 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อจําหน่ายเป็นจํานวน 17,095,886 หน่วย


นายเชิดศักดิ์ กล่าวต่อด้วยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ การดําเนินการจําหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์มีทั้งสิ้นจํานวน 6 โครงการ  ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE),โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG ) โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวลสตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) กำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ และขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง  4 โครงการ ซึ่งมีแผนที่จะจําหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์  (COD)ภายในปี2562 กำลังการผลิตรวม 49 เมกะวัตต์  รวมทั้งมีโครงการที่อยู่ในระหว่างการพัฒนาทั้งสิ้น 10 เมกะวัตต์

" เรามีโครงการที่ COD แล้ว และที่กำลังก่อสร้างตลอดจนโครงการกำลังพัฒนา รวมทั้งสิ้น 119  เมกะวัตต์  และการดำเนินงานที่เป็นไปตามแผน ทำให้มั่นใจว่า บริษัทฯ จะมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะรวมเป็น 50 เมกะวัตต์ภายในปี 2563 และก้าวขึ้นเป็นผู้นำพลังงานทดแทนในประเทศและอาเซียนได้ตามเป้าหมาย" นายเชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด
« Last Edit: May 24, 2018, 08:50:39 PM by MSN »