news on May 21, 2018, 08:07:33 AM


“สวทช.-พันธมิตร”ปลื้มเยาวชนไทย เสนอผลงานเวทีนักประดิษฐ์โลกในงาน “Maker Faire Bay Area 2018” “ต้นตำรับเมกเกอร์โลก”   

สวทช. นำเยาวชนไทย ผู้ชนะการประกวดสิ่งประดิษฐ์ Young Makers Contest ปี2 ขึ้นเวเทีนำเสนอผลงานสุดเจ๋ง ต่อยอดการแก้ปัญหา “ความปลอดภัยในชุมชน”  ในงาน Maker Faire Bay Area 2018 มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ระดับโลก ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ต้นตำหรับการจัดงาน Maker Faire ของโลก







(วันที่ 19 พฤษภาคม 2561): ณ อารีนา เบย์ แอเรีย เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา:กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นางกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร ประกอบด้วย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นำคณะอาจารย์และนักเรียนจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ในฐานะ 2 โรงเรียนผู้ชนะการประกวดโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปี2 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เดินทางเข้าร่วมงาน Maker Faire Bay Area 2018 มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ระดับโลก ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศต้นตำรับการจัดงาน Maker Faire มานานนับ 10 ปี เพื่อเป็นแหล่งรวมนักประดิษฐ์ของโลกที่พร้อมแบ่งปันความรู้ เพื่อให้นักประดิษฐ์นำผลงานมาแลกเปลี่ยนแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน โดยได้เผยแพร่ลิขสิทธิ์การจัดงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ไปแล้วหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

นางกุลประภา นาวานุเคราะห์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่าจากการที่ สวทช. ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หน่วยงานพันธมิตร และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย จัดงาน ‘Maker Faire Bangkok 2018: ลานอวดของ ประลองไอเดีย’ ปีที่ 2 ในประเทศไทยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยจัดอย่างเต็มรูปแบบ และยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเหล่านักเมกเกอร์ทั่วเอเชียร่วมแสดงผลงานกว่า 100 ผลงาน ถือเป็นการเปิดพื้นที่สนับสนุนให้เหล่าเมกเกอร์หรือ “นักสร้างสรรค์นวัตกรรม” ได้แสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์แบบไร้ขีดจำกัด รวมทั้งแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไป เพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้เติบโตเป็นที่รู้จักในสังคมไทยตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการจัดประกวดสิ่งประดิษฐ์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน ในโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science: “สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ที่บริษัทเชฟรอนฯ ให้การสนับสนุนนั้น ถือเป็นกิจกรรมไฮไลต์สำคัญที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้กับนักเรียน นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ได้แสดงออกถึงไอเดียการประดิษฐ์ผลงานเพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยในชุมชนของตนเอง



ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า โดยในปีนี้ผู้ชนะการประกวดได้สิทธิร่วมงาน Maker Faire Bay Area ณ เมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย นักเรียนสายสามัญ ได้แก่ ด.ช. พิวัฒน์ ศุภวิทยา และ ด.ช.ศุภสิทธิ์ พัน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จากผลงาน BCC E-TM อุปกรณ์จัดระเบียบช่องจราจรบนท้องถนนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดหน้าโรงเรียน


ส่วนสายอาชีวศึกษา ได้แก่ นายเตมีย์ เนตรพุกกณะ และ นายวีระพล บุญจันทร์ นักศึกษา ปวส. 2 สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จากผลงาน ทุ่นเตือนภัยร่องน้ำและแนวปะการัง เพื่อป้องกันแนวปะการังชายฝั่งจากเรือท่องเที่ยวและเรือประมง อย่างไรก็ตามการทัศนศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีแก่วงการนักเมกเกอร์ไทยและประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเยาวชนไทยทั้ง 4 คนได้รับเชิญให้ขึ้นพูดนำเสนอผลงานในเวทีใหญ่ระดับโลก โดยนำเสนอผลงานและแนวความคิดการสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาความปลอดภัยในชุมชนของพวกเขาให้ปรากฎสู่สายตาชาวโลก ซึ่งเยาวชนไทยทั้ง 4 คน สามารถนำเสนอผลงานผ่านไปด้วยความราบรื่นและได้รับเสียงชื่นชมจากเมกเกอร์มืออาชีพระดับโลก ถึงความกล้าคิดกล้าทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนและสังคมส่วนรวม โดยภายในงานมีผลงานต่างๆ ทั้งหุ่นยนต์กู้ภัย และหุ่นยนต์จากอุปกรณ์เหลือทิ้ง การใช้แผงโซลาร์เซลล์ทำรถแข่ง การแสดงต้นแบบจากเครื่องพิมพ์สามมิติ 3D Printing รวมทั้งการจัดโซนโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือ Fabrication Lab เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชน

ผู้ช่วย ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวด้วยว่า เชื่อว่าประสบการณ์ที่เยาวชนทั้ง 4 คน ได้รับครั้งนี้คุ้มค่าอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นแรงบันดาลใจผ่านความคิดและสิ่งประดิษฐ์สร้างสรรค์สังคมจากฝีมือเมกเกอร์มืออาชีพในเวทีระดับโลกซึ่งเป็นโอกาสที่หาได้ยาก ทั้งนี้ความร่วมมือของในโครงการดังกล่าว ถือเป็นข้อพิสูจน์ความร่วมมือตามแนวทาง “รัฐร่วมเอกชน” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนไทยสนใจวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ “สะเต็ม” ทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งทุกหน่วยงานควรหันมาร่วมมือกันสนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศ ให้ได้รับโอกาสทำกิจกรรมเมกเกอร์ในลักษณะ Maker Space ตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อเพิ่มศักยภาพเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และช่วยต่อยอดความสำเร็จให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการประดิษฐ์ขยายวงกว้างผลักดันประเทศไทยสู่สังคมแห่งนวัตกรรม 4.0 ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

เกี่ยวกับโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”
โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ
« Last Edit: May 21, 2018, 08:15:33 AM by news »