happy on May 20, 2018, 09:45:27 PM
โครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟอาเซียน เดินหน้าผลักดันผลผลิตกาแฟไทยต่อเนื่อง
ล่าสุดจัดประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย 2018 เพื่อใช้แข่งขันรายการ ACID 2018 Barista Royal Princess Cups
ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

                    ภาคเกษตรและอุตสาหกรรมกาแฟไทยคึกคักหลังโครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟอาเซียน ครั้งที่ 1 เดินหน้าต่อเนื่อง ล่าสุดภาครัฐร่วมและเอกชนผู้ร่วมจัดงานประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย 2018 (Thailand Excellent Coffee 2018 (TEC2018)) ค้นหาสุดยอดเมล็ดกาแฟเพื่อใช้ในการแข่งขันรายการ ACID 2018 Barista Royal Princess Cups ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเป็นตัวแทนเมล็ดกาแฟไทยเดินสายโชว์ทั้งในและต่างประเทศ


                    นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล ประธานบริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ในฐานะผู้จัดงานโครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 ร่วมกับ 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพ สมาพันธ์กาแฟอาเซียน สมาคมบาริสต้าไทย สมาคมกาแฟไทย สมาคมชาวสวนกาแฟไทย สมาคมกาแฟและชาไทย และ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ ในฐานะเจ้าภาพร่วม กล่าวถึงการดำเนินงานและการจัดกิจกรรมต่อเนื่องหลังเปิดตัวโครงการฯ อย่างเป็นทางการว่า ขณะนี้คณะผู้จัดงานได้เร่งดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในหลายๆด้าน โดยต้องการให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาและร่วมมือกันของทุกฝ่ายในอุตสาหกรรมกาแฟไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

                    โดยภาคการผลิตต้นน้ำซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟและการผลิตเมล็ดกาแฟนั้น ต้องมีการวางแผนการผลิตที่เหมาะสมกับพื้นที่และมีองค์ความรู้ในทุกส่วนของกระบวนการผลิตกาแฟ เพราะทุกปัจจัยตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธ์เพื่อปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลผลิต และ กระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟ ส่งผลต่อคุณภาพของกาแฟทั้งสิ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 269,585 ไร่ มีผลผลิตรวม 25,909 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรสูงถึงปีละมากกว่า 200 ล้านบาท ซึ่งผลผลิตกาแฟที่ผลิตได้ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศที่คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 1 แสนตัน


                    ล่าสุดเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐาน คุณภาพ และเพิ่มมูลค่าให้แก่เมล็ดกาแฟไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์ของโครงการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน คณะผู้จัดงานได้จัดประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย 2018 (Thailand Excellent Coffee 2018 (TEC2018) ขึ้น โดยต้องการค้นหาเมล็ดกาแฟไทยคุณภาพดีตั้งแต่ต้นทางการปลูก มีรสชาติระดับมาตรฐานในการเป็นเมล็ดกาแฟเกรดพิเศษที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของกาแฟไทยที่พร้อมจะเผยแพร่สู่สากล ซึ่งเมล็ดกาแฟที่ชนะอันดับ 1 ถึง 10 จะต้องได้คะแนน Cupping Scores ตั้งแต่ 80 คะแนนขึ้นไป จากคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร มูลนิธิโครงการหลวง และสมาคมที่เป็นเจ้าภาพร่วม ตลอดจนสมาคมกาแฟชนิดพิเศษ

                    ซึ่งผู้ชนะการประกวดจะได้ถ้วยรางวัล / โล่ห์และใบประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัลรวม 50,000 บาท โดยเมล็ดกาแฟที่ได้รับรางวัลชนะเลิศยังได้รับเกียรติสูงสุดในการเป็นกาแฟไทยแห่งปี 2018 ที่จะนำมาใช้ในการแข่งขันในรายการ ACID 2018 Barista Royal Princess Cups ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะจัดขึ้นในงานประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมกาแฟในอาเซียน ครั้งที่ 1 (1st ASEAN Coffee Industry Development Conference 2018) ระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2561 ณ จังหวัดเชียงใหม่  นอกจากนั้น เมล็ดกาแฟที่ชนะอันดับ 1-10 จะถูกนำไปใช้ประชาสัมพันธ์ในงานกิจกรรมต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่รสชาติของกาแฟไทยเป็นที่รู้จักและส่งเสริมให้กาแฟไทยก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น




                    สำหรับผู้สนใจส่งเมล็ดกาแฟเข้าประกวดต้องเป็นเกษตรกร หรือ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีกระบวนการแปรรูปด้วยตนเอง เมล็ดกาแฟต้องเป็นสายพันธุ์อาราบิก้าที่ปลูกในประเทศไทยเท่านั้น ไม่จำกัดกระบวนการแปรรูปและต้องเป็นผลผลิตปี 60/61 เมล็ดกาแฟที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นสารกาแฟที่พร้อมสำหรับการคั่ว ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายละเอียดและเอกสารการสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ถึง10มิถุนายน 2561  ที่ www.aseancoffeeconference.com และส่งเมล็ดกาแฟเข้าร่วมการประกวดฯ ที่โครงการหลวง แม่เหียะ จ.เชียงใหม่ โดยจะประกาศผลการตัดสินในวันที่ 27 มิถุนายน 2560 พร้อมจัดให้มีการประมูลเมล็ดกาแฟที่ชนะอันดับ 1-10 ในวันที่ 28 มิถุนายน 2560 อีกด้วย

                    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประกวดฯได้ที่ผู้ประสานงานกองประกวดสุดยอดเมล็ดกาแฟไทย 2018 โทร 02 229 3336, 02 229 3338 และ 081 907 6821