happy on May 20, 2018, 06:40:09 PM
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ เตือนภัยเครื่องสำอางปลอม

                      สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เตือนภัยผู้บริโภคเลือกใช้เครื่องสำอางที่มีคุณภาพ อย่าเน้นสินค้าที่มีราคาถูกหรือสินค้าเลียนแบบแบรนด์เนมที่มีราคาถูกเกินจริงและระวังการซื้อเครื่องสำอางปลอมที่อยู่ตามตลาดนัดและในสื่อโฆษณาขายสินค้าออนไลน์ โดยเฉพาะที่มีคนมารีวิวแนะนำสินค้าสร้างความน่าเชื่อถือ เนื่องจากอาจมีส่วนผสมของสารอันตราย ซึ่งรวมถึงปรอทหรือสารสเตียรอยด์ เป็นอันตรายต่อผิวหนังและร่างกายได้


รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

                      รศ.นพ.ป่วน สุทธิพินิจธรรม นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเครื่องสำอางปลอมที่ไม่ได้คุณภาพอยู่ตามท้องตลาดอยู่เป็นจำนวนมาก การเลือกใช้เครื่องสำอางหรือยาเพื่อเสริมสวยต่าง ๆ ก็อาจใช้ได้ดีในระยะเริ่มต้น เมื่อติดตามผลในระยะยาวก็อาจจะเกิดผลเสียได้ ซึ่งโดยทั่วไปเครื่องสำอางที่เราใช้ มี 2 ชนิด ได้แก่ 1.เดกเคอเรทีฟ คอสเมติก คือ ชนิดที่เติมแต่งสีสันต่าง ๆให้กับผิวหนัง ซึ่งต้องระมัดระวังเรื่องการแพ้เท่านั้นเอง ส่วนประเภทที่ 2.เป็นพวกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ ซึ่งจะบำรุงได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะผิวหนังของเราจะนำเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก ซึ่งเมื่อมีการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ออกกำลังกาย ผิวหนังของเราก็จะดีในระยะยาว และดีกว่าการใช้เครื่องสำอาง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะกระตุ้นเซลล์ผิวหนังในระยะสั้น หากมีการกระตุ้นมาก ๆ ความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นและจะเกิดผิวหนังภูมิแพ้ต่าง ๆ เรียกว่า ไฮเปอร์เซ็นส์ซิทีฟสกิน


เครื่องสำอางปลอม

                      สำหรับเครื่องสำอางที่ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรืออย. บางครั้งเมื่อได้รับการรับรอง ครั้งที่ 1 แต่เมื่อมีการติดตามผลไปเรื่อย ๆ และมีการติดตามผลไปนาน ๆ คุณภาพของเครื่องสำอางนั้น ๆ มันจะตกลงไป เมื่อไม่มีการติดตามในระยะยาว ผลเสียก็จะเกิดกับประชาชนผู้บริโภค จึงขอฝากเตือนว่าให้ธรรมชาติ รักษาตัวเองดีที่สุด ซึ่งจะเห็นว่ามียาบำรุงหรือวิตามินต่าง ๆ ออกมาอย่างมากมาย แต่โดยความจริงแล้วมันเกินจำเป็น สิ่งที่เราใช้มันสังเคราะห์ขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่ร่างกายสร้างเอง ยกตัวอย่างเช่น พวกคอลลาเจน ซึ่งในร่างกายของเรามีระบบคอยควบคุมให้เกิดความสมดุล ซึ่งเราเอาข้างนอกมาใส่ มันเกินสมดุล ซึ่งในระยะยาว ๆ ก็อาจจะมีปัญหาได้ อย่าง สารไฮยาลูรอนิกเเอสิด ก็เหมือนกัน ที่มีอยู่ในผิวหนังของเราอยู่แล้วโดยมีร่างกายคอยสร้างความสมดุล แต่เมื่อเราฉีดเพิ่มเติมเข้าไป มันก็อาจจะทำให้ดูตึงระยะแรก ๆ แต่ในระยะยาว ก็อาจจะเกิดปัญหาเรื่องการแพ้ได้ จึงต้องให้มันพอเหมาะ ซึ่งปกติร่างกายจะรักษาสมดุลแบบนี้อยู่เสมอ


ศ.ดร.นพ.ประวิตร  อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

                      ด้าน ศ.ดร.นพ.ประวิตร  อัศวานนท์ ประชาสัมพันธ์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการกล่าวเตือนมาตลอดว่าการซื้อของหรือซื้อเครื่องสำอางออนไลน์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเราไม่เห็นลักษณะของผลิตภัณฑ์จริง บางครั้งเห็นมาจากรีวิวของคนดัง หรือแม้กระทั่งคนที่เราไม่รู้จัก เราก็รู้สึกว่าอยากใช้ตาม อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ถือว่าน่ากังวลพอสมควร เพราะเหมือนเราซื้อสิ่งที่เราไม่รู้จักและไม่รู้ว่าคุณภาพเป็นอย่างไร อะไรต้องระวังบ้าง แล้วดูที่ราคาแต่อย่างเดียว ยิ่งสินค้าที่มีราคาถูกมาก ๆ เหล่านี้เราก็เตือนมาตลอด สำหรับการสังเกตเครื่องสำอางปลอมนั้น ทำได้ยากโดยเฉพาะสินค้าลอกเลียนแบบทั้งหลาย บางครั้งจะมีสินค้าเหล่านี้อยู่ตามตลาดนัด หรือมีสินค้าที่ผลิตและทำแบรนด์ยี่ห้อขึ้นมาเองหรือแพ็คเกจจิ้ง ที่มีลักษณะคล้ายกับยี่ห้อดังต่าง ๆ แต่ราคาถูกกว่ามาก ๆ ซึ่งเป็นสินค้าเครื่องสำอางปลอมแน่นอน วิธีหนึ่งที่พอสังเกตได้คือเมื่อดูจากเว็บไซต์ หรือ ในไอจี แล้วเห็นภาพ ก่อนใช้และหลังใช้ แล้วมันดูดีเกินไป จนบางทีมันดีจนเกินความน่าเชื่อถือ ก็ต้องระวัง หรืออีกเรื่องที่เตือนอยู่เสมอ คือเรื่องของสรรพคุณของสินค้า อะไรที่เขียนว่าทำได้ รักษาได้ทุกอย่างเลย เช่น สิวก็ได้ ฝ้าก็ได้ หน้าขาวกระจ่างใส ผมขึ้นดกดำ ผิวดูดี เต่งตึงกระชับเกินกว่าที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะทำได้ ต้องระวังเหมือนกัน 

                      ศ.ดร.นพ.ประวิตร กล่าวว่า จริง ๆ แล้ว เรื่องของผิวหนังนั้น ทาง อย. กระทรวงสาธารณสุข เองก็เตือนมาตลอดว่ายังคงตรวจพบสารปรอทในยาฝ้าบางตัว (มักจะอยู่ตามตลาดนัดทั่วไป) ทาแล้วหน้าขาวใสในเวลารวดเร็ว ต้องระวัง เพราะมีผลต่อ ตับ ไต ปอด ได้ เรื่องของสีที่เราใช้ผสมในเครื่องสำอาง เครื่องสำอางที่ลอกเลียนเบบสีเหล่านี้จะมีสารพิษอื่น ๆ ที่อยู่ในสีที่ปนเปื้อนอยู่ได้ เช่น พวกโลหะหนัก ๆ เหล่านี้มันเกิดผลต่าง ๆ ต่อร่างกายได้ สารเคมีอีกชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศคือ ไฮโดรควิโนน คือยารักษาฝ้า ที่แพทย์ผิวหนังเองก็ใช้ ซึ่งเมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และ อยู่ในการดูแล ไม่ได้น่ากลัว แต่มีการนำไปใช้ในลักษณะทำให้ผิวขาว หรือรักษาฝ้าในเปอร์เซนต์ที่สูงจนเกินไป อาจเกิดอันตรายได้ เช่น ทำให้หน้าขาวเป็นปื้น และสีจะไม่ค่อยคืนมา ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อยากเตือน เครื่องสำอางที่ผสมสารสเตียรอยด์ก็เช่นกัน เมื่อเข้าไปสู่ร่างกาย มันเข้าไปกดการทำงานของร่างกาย สารสเตียรอยด์เมื่อใช้ในทางการแพทย์มันมีข้อดีมากมาย แต่เราต้องระวังและติดตามดู เพราะทำให้เรากระดูกบางได้ กดภูมิคุ้มกัน กดฮอร์โมนของเราสารพัด เพราะฉะนั้นถ้าเรามาใช้ทาผิว โดยที่ไม่รู้ว่ามีสารสารสเตียรอยด์ ทาบริเวณกว้าง ๆ และมันนานเกินไป อันนี้ต้องระวัง เช่นกัน