happy on May 14, 2018, 08:22:42 PM
นิปปอนเพนต์ ร่วมมือภาครัฐ – เอกชน เดินหน้าพัฒนาช่างพ่นซ่อมสีรถยนต์ ต่อเนื่อง ปี 4


                          ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานด้านช่างพ่นซ่อมสีรถยนต์ที่มีความเชี่ยวชาญอีกมาก ในขณะที่ตลาดรถยนต์มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะเดือนมกราคม 2561 พบว่ามีผู้นำรถใหม่ป้ายแดงมาจดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งทั่วประเทศ จำนวน 268,989 คัน  ส่งผลให้มีจำนวนรถจดทะเบียนสะสมทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 38,428,304 คัน  นับเป็นโอกาสที่ดีของวิชาชีพนี้ เพราะช่างสีรถยนต์กระจายอยู่ในภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งศูนย์บริการรถยนต์ อู่ซ่อมรถ ร้านขายสีที่ต้องมีคนผสมสี รวมถึงธุรกิจรถบัสรถบรรทุก ประมาณ 28,000 คน แต่ก็ยังมีความต้องการแรงงานมากกว่า 10,000 คน  ทั้งนี้งานซ่อมแซมตัวถังและสีรถยนต์ หากมีใจรักในการบริการ มีความอดทนในการทำงานและพร้อมเรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ ก็สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ทั้งในฐานะช่างเทคนิคขั้นสูง ที่ปรึกษางานซ่อมตัวถังและสี หรือผู้ชำนาญงานพิเศษ ทั้งรถสปอร์ต รถซูเปอร์คาร์ และงานสีอากาศยาน โอกาสในวิชาชีพนี้ยังเปิดกว้างอีกมาก  ตลาดต้องการแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่างสีรถยนต์จะได้รับอัตราค่าจ้างวันละประมาณ 500-1,000  บาท นับว่าสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างดี

                          บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด หน่วยธุรกิจ สีพ่นซ่อมรถยนต์ ภายใต้โครงการ Protégé Project ที่ยกระดับวิชาชีพช่างพ่นซ่อมสีรถยนต์สู่มาตรฐานสากล เดินหน้าต่อเนื่องปีที่ 4  มุ่งสนับสนุนทุกภาคส่วน ที่ผ่านมาสนับสนุน สถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานกรรมการอาชีวะศึกษาไปแล้วกว่า 200 แห่ง มูลค่ากว่า 16 ล้านบาท  จัดอบรมบุคลากรอาชีวศึกษา 63 รุ่น จำนวน 2,200 คน  จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างสีรถยนต์ ในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12  แห่งทั่วประเทศ และส่งวิทยากรไปให้ความรู้ แก่ผู้เข้าอบรม 56 รุ่น จำนวน 1,130 คน


คุณนพดล ศรีสินรุ่งเรือง

                          นายนพดล ศรีสินรุ่งเรือง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด หน่วยธุรกิจ สีพ่นซ่อมรถยนต์ กล่าวว่า  ในปีนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมวิชาชีพช่างพ่นซ่อมสีรถยนต์ ตั้งเป้า 3,000 คน ทั้งการสานต่อความร่วมมือกับภาครัฐ เช่น เปิดศูนย์ซ่อมสีรถยนต์ของวิทยาลัยเทคนิคอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่อยุธยา และจะขยายให้ครบ 5 วิทยาลัยครอบคลุมทุกภูมิภาค สนับสนุนด้านวิชาการและผลิตภัณฑ์เพื่อเป็นต้นแบบการทำศูนย์ซ่อมมาตรฐานในสถานศึกษาที่มีแผนกวิชาสาขางานสีและตัวถังฯ โดยมุ่งหวังให้ในอนาคตมีวิทยาลัยเปิดสอนในวิชาชีพของช่างสีรถยนต์มากขึ้น และยังผลิตช่างที่เป็นนักศึกษาระดับปวส. ในระบบการศึกษาทวิภาคีให้ได้รับการฝึกอาชีพระหว่าเรียน โครงการโปรเตเจ้ แคมป์ ช่างสีรถยนต์รุ่นเยาว์สู่มืออาชีพ ที่จัดอบรมการทำงานสำหรับช่างแผนกเตรียมพื้นผิว และแผนกพ่นสีแบบเข้มข้นต่อเนื่อง12วัน เพื่อสามารถทำงานตามมาตรฐานที่อู่หรือศูนย์บริการสถานประกอบการได้ทันที  และยังคงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์พื้นฐานการซ่อมสีรถยนต์ให้กับสถานศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษา เพื่อใช้งานและสามารถสร้างอาชีพรายได้ให้กับนักศึกษาและสถานศึกษาในระหว่างการเรียนการสอนในการเปิดให้บริการงานซ่อมสีด่วนในลักษณะแผลชิ้นงานขนาดเล็กและไม่เกิน 2 ชิ้นต่อการซ่อม 

                          และจัดทำหนังสือคู่มือการเรียนการสอน หลักสูตร “การซ่อมสีรถยนต์” จำนวน 3 เล่มได้แก่ การเตรียมพื้นผิว การพ่นสีรถยนต์ และการผสมแต่งแก้สีรถยนต์ จะส่งมอบให้กับสถานศึกษาสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ (สอศ.) ทั่วประเทศเปิดสอนสาขาช่างสีรถยนต์กว่า 100 โรงเรียน และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาคทั้ง 12 แห่งและศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดอีกกว่า 64 แห่ง  รวมทั้งมีการสร้างกลุ่มเฉพาะช่างสีของโครงการ โปรเตเจ้ เพื่อเป็นศูนย์กลางการติดต่อ (เฟสบุ๊ค คอมมูนิตี้) ในการติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารความคืบหน้าของสมาชิก






                          นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นยกระดับความร่วมมือกับภาคเอกชน ด้วยการสนับสนุนด้านวิทยากรครูฝึกอบรมทักษะการพ่นซ่อมสีแก่บุคลากรของบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ เช่น โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ที่จะส่งตัวแทนเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานแห่งชาติครั้งที่ 27 ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ระดับอาเซียนในช่วงปลายปี 2561 และระดับโลกในปี2562 ต่อไป และชมรมศูนย์ซ่อมมาตรฐานวิริยะประกันภัยภาค 6 และบริษัทวิริยะประกันภัย และโครงการไตรภาคีของวิทยาลัยการอาชีพอีกด้วย

                          โดยให้การสนับสนุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนี้  บริษัทมั่นใจว่าจะเป็นส่วนช่วยผลักดัน และผลิตช่างสีรถยนต์ให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดอาชีพนี้ที่ยังขาดแคลน โดยคาดหวังว่าช่างสีที่เป็นแรงงานเก่าและช่างสีรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะมีทักษะความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานสากล มีหลักประกันด้านรายได้ความมั่นคงในสายอาชีพและเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศต่อไป


























สุพรรณบุรี


อุบลราชธานี