MSN on May 04, 2018, 08:34:39 PM
ข่าวประชาสัมพันธ์ ภาคอุตสาหกรรมเกษตร วอนรัฐเห็นใจเกษตรกร หากเลิกใช้พาราควอต หวั่นเศรษฐกิจเกษตรเสียหายทั้งระบบ สูญกว่าแสนล้านบาทต่อปี



สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ร่วมกับ กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน จัดเสวนา วิเคราะห์เศรษฐกิจเกษตร หากไร้พาราควอต พบว่า เกิดความเสียหายขึ้นทันทีหากยกเลิกใช้ สารพาราควอต มูลค่าสูงกว่าแสนล้านบาท เพราะพาราควอตเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญกับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นยางพาราในพื้นที่ 25 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 8 ล้านไร่ ข้าวโพดหวาน 7 แสนไร่ อ้อย 11 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 8 ล้านไร่ และปาล์มน้ำมัน 5 ล้านไร่

ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมเกษตร  ร้องขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าใจถึงผลกระทบและความเสียหายต่อเกษตรกร ระบบการผลิต อุตสาหกรรมการแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ที่แยกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะ เกษตรกร ในฐานกระดูกสันหลังของชาติ ขอให้พิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบ หากเกษตรกรอยู่ไม่ได้ สร้างผลผลิตไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมเกษตรทั้งระบบ

ดร. นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรมีบทบาทสำคัญด้านการส่งออกสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง ผลผลิตจากอ้อย อาทิ น้ำตาลดิบ ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีเทคโนโลยีปัจจัยการผลิตสำคัญ นั่นคือ สารกำจัดวัชพืชพาราควอต ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน บริหารปัญหาวัชพืชอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถผลิตได้อย่างมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง กลุ่มนักวิชาการและแพทย์ชี้ข้อเท็จจริงแล้วว่า พาราควอต มีความจำเป็นต่อเกษตรกร และประเด็นด้านสุขภาพจากเอกสารงานวิจัยต่าง ๆ ไม่ได้ระบุว่า พาราควอต เป็นสาเหตุของการเกิดโรค และอาการต่าง ๆ ดังกล่าวอ้าง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็น

ดร.บรรพต ด้วงชนะ นักวิชาการด้านอ้อยและน้ำตาล กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง กล่าวว่า อ้อย กับ วัชพืช เป็นของคู่กัน โดยเฉพาะระยะการเจริญเติบโตของอ้อยในช่วง 4-5 เดือน จะต้องปลอดวัชพืช ดังนั้น สารพาราควอต เสมือนเป็นยาสามัญประจำบ้าน มีความจำเป็นต่อการเพาะปลูกอ้อยของไทย ในพื้นที่รวมกว่า 11 ล้านไร่ สร้างรายได้สูงเกือบ 300,000 ล้านบาทต่อปี หากมีการยกเลิกใช้สารพาราควอต คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 60,000 ล้านบาท เนื่องจาก ปัจจุบัน อุตสาหกรรมโรงงานน้ำตาล ร้อยละ 80 เป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนต่อชาวไร่อ้อย หากชาวไร่อ้อยไม่สามารถผลิตอ้อยส่งได้ตามเป้าหมาย เกษตรกรก็จะขาดรายได้และเกิดหนี้สิน ส่วนโรงงานน้ำตาลก็ขาดวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายดิบ

นายคมกฤต ปานจรูญรัตน์ รองประธาน กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดหวานทั่วประเทศ มีขนาด 700,000 ไร่ มูลค่าการส่งออกเกือบ 7,000 ล้านบาท ยังไม่นับการบริโภคภายในประเทศ อาจมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 6,000 ล้านบาท และประเทศไทย ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลก ปัจจุบัน ยังไม่มีสารใดสามารถใช้ทดแทนได้ในประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เท่ากัน หากมีการห้ามใช้ สารพาราควอต ข้าวโพดหวาน จะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 800 ล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังกลุ่มผู้ผลิตข้าวโพดกระป๋อง คิดเป็นมูลค่า 7,000 ล้านบาท

ด้านการส่งออก ปัจจุบัน กลุ่มประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ นำเข้าข้าวโพดหวานจากไทยเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีการใช้สารพาราควอต ในกระบวนการผลิต ไม่เคยเกิดกรณีตีกลับข้าวโพดหวานจากสารพาราควอตตกค้าง หรือมีอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กระแสข่าวที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับพาราควอต ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการส่งออกในระดับนานาชาติ

นายเดชรักษา ทัพทวี นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ กล่าวว่า โปรตีนจากเนื้อสัตว์ เป็นแหล่งอาหารสำคัญของประชากรโลก ณ ปัจจุบัน โดยปัจจัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ คือ พืชอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด หญ้าเนเปียร์ และพืชอื่นๆ ปัจจุบัน ต้นทุนพืชอาหารสัตว์สูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไปยังอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ที่จะมีราคาสูงขึ้น หากมีการห้ามใช้ สารพาราควอต อีก ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้น ปริมาณผลผลิตพืชอาหารสัตว์ลดลง สุดท้ายก็จะส่งผลต่อผู้บริโภครับประทานเนื้อสัตว์ในราคาที่แพงขึ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 700 ล้านบาท

นายภมร ศรีประเสริฐ อุปนายก สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลก มีพื้นที่เพาะปลูก 7.9 ล้านไร่ มูลค่าส่งออกอุตสาหกรรมแป้งมันและมันเส้นมากกว่า 110,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศไทยใช้มันสำปะหลังในอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด โดยแต่ละโรงงานผลิตมันสำปะหลังมีระบบประกันคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ISO GMP HACCP ขณะเดียวกัน สำนักงานมาตรฐานสินค้า กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เคยพบสารพาราควอตในมันสำปะหลัง ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่า มันสำปะหลังมีคุณภาพดีและปราศจากการปนเปื้อน ดังนั้น การห้ามใช้ พาราควอต จึงไม่มีความจำเป็น เพราะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่กลับจะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น ผลผลิตสูญหาย และกระทบต่อเนื่องไปยังอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและมันสำปะหลังเส้น จนถึงการส่งออกไปต่างประเทศ

รศ. ดร. พรชัย เหลืองอาภาพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน กล่าวว่า ปาล์มน้ำมัน ใช้ในหลายอุตสาหกรรมทั้งการบริโภค อุปโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไบโอดีเซล ปัจจุบัน มีเกษตรกรสวนปาล์มรวมพื้นที่ 5.5 ล้านไร่ ปกติใช้สารกำจัดวัชพืช พาราควอต ปีละ 1-2 ครั้ง ไม่สามารถทดแทนด้วยกำลังคน เนื่องจากมีต้นทุนแรงงานที่สูง และหาแรงงานยาก หากมีการห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลต้นทุนการเกษตรเพิ่มขึ้น คิดเป็นมูลค่า 466 ล้านบาท สำหรับยางพาราต้นทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 10,389 ล้านบาท

ท้ายที่สุด กลุ่มรวบรวมข้าวโพดหวานแห่งประเทศไทย กลุ่มโรงงานน้ำตาลลุ่มน้ำแม่กลอง สมาคมส่งเสริมธุรกิจพืชอาหารสัตว์ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และผู้เชี่ยวชาญด้านปาล์มน้ำมัน มีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรห้ามใช้ สารกำจัดวัชพืช พาราควอต เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ (การผลิต) จนถึงปลายน้ำ (ผลิตผลหรือสินค้าแปรรูป) และยังไม่มีสารอื่นที่สามารถมาทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่เท่าเทียมกัน รวมทั้ง ภาครัฐยังไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบด้านต้นทุนของเกษตรกร หากมีการห้ามใช้ พาราควอต จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างใหญ่หลวง พิจารณาเพียงแค่กลุ่มเกษตรกรข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ส่งผลกระทบเสียหายทั้งระบบรวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ดังนั้น จึงขอให้ภาครัฐคำนึงถึง เกษตรกร บริบทของประเทศไทย ผลประโยชน์ของประเทศชาติ เป็นหลัก และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เกษตรกรคือกลจักรสำคัญของประเทศ ที่จะก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็น ครัวของโลก ได้อย่างแท้จริง

สอบถามข้อมูลได้ที่สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ โทรศัพท์ 02-940-5264