happy on April 06, 2018, 07:47:30 PM
Trauma Day 2018 : ช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์
รพ.กรุงเทพ ผสานทีมแพทย์สหสาขา พร้อมรับมือรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน
กระดูกหักหลายจุด กระดูกมือ กระดูกขากรรไกรและใบหน้า


                     อุบัติเหตุนำมาซึ่งการบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิต หรือความพิการ ผู้บาดเจ็บควรได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และเคลื่อนย้ายนำผู้ป่วยส่งถึงโรงพยาบาลอย่างถูกวิธี (Prehospital care) เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ลดอัตราการเสียชีวิต และลดความพิการของผู้บาดเจ็บ โรงพยาบาลกรุงเทพ ให้ความสำคัญ และร่วมรณรงค์เนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในความพร้อมของทีมแพทย์ พยาบาลทีมสหสาขาวิชาชีพ และเทคโนโลยีในการตรวจรักษาผู้ป่วยที่ทันสมัย เพื่อรับมือกับอุบัติเหตุฉุกเฉินทุกรูปแบบ พร้อมแนะวิธีการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บอย่างถูกวิธี ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และลดความสูญเสียในช่วง 7 วันอันตราย


นพ.เอกกิตติ์ สุรการ

                     นพ.เอกกิตติ์ สุรการ ผู้อำนวยการอาวุโสแผนกฉุกเฉิน และศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึง รายงานสถิติอุบัติเหตุทางถนนระหว่างวันที่ 28 ธ.ค.-3 ม.ค. 2561 หรือช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ของศูนย์อำนวยการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) พบว่าเกิดอุบัติเหตุ 3,841 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 423 ราย ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ รองลงมาคือรถปิคอัพ การเข้าช่วยชีวิตผู้ได้รับบาดเจ็บ และการเข้าถึงจุดเกิดเหตุด้วยความรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะแต่ละนาทีที่ผ่านไปสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ คือช่วงเวลาระหว่างความเป็นความตาย สิ่งสำคัญสิ่งเดียวที่จะลดโอกาสความสูญเสียในช่วงเวลาวิกฤติเช่นนี้ได้คือ การดูแลรักษาที่เหมาะสมและทันท่วงที ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล (Prehospital care) ซึ่งเป็นระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ และระหว่างนำส่งโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การปฐมพยาบาล การรักษาเบื้องต้น ณ จุดเกิดเหตุ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ปลอดภัย เพื่อมารับการรักษาต่อเนื่อง ตลอดจนถึงการการรักษาในโรงพยาบาลโดยทีมแพทย์อุบัติเหตุ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ และส่งเสริมให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ โดยรพ.กรุงเทพ พร้อมด้วยทีมแพทย์ พยาบาลและบุคลากรเฉพาะทางที่ได้รับการฝึกฝนทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติจนเชี่ยวชาญ สามารถตัดสินใจ และให้การรักษาที่เหมาะสมได้ทันที โดยการดูแลรักษาทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานสากล ได้รับการยอมรับจากสถาบัน Joint Commission International (JCI) เพื่อให้ผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น 

                     ขณะเดียวกัน ในเรื่องของ Scene safety หรือ ความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุ เป็นการประเมินและสร้างมาตรการในการป้องกันอันตรายเท่าที่จะทำได้ เช่น การประเมินความปลอดภัย ว่าบริเวณพื้นที่ที่เกิดเหตุอาจมีอันตรายที่เกิดขึ้นได้กับผู้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บรวมถึงประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์หรือไม่ หากประเมินแล้วว่าอาจมีอันตรายเกิดขึ้น ผู้ช่วยเหลือก็ไม่ควรเสี่ยงเข้าไปช่วยผู้บาดเจ็บ ดังนั้นควรวิเคราะห์ความเสี่ยงก่อนเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทุกครั้ง พึงระลึกไว้เสมอว่า เราเข้าไปเพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ไม่ใช่เข้าไปเป็นผู้บาดเจ็บเสียเอง โดยการวิเคราะห์สถานการณ์มีหลักในการพิจารณาดังนี้ มองและสังเกตรอบๆ จุดเกิดเหตุวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จำนวนรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุ หรือผู้ป่วยที่บาดเจ็บ ทีมช่วยเหลือไม่ควรเข้าไปในสถานการณ์ที่มีการทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายตัวเอง จนกว่าตำรวจจะบอกว่าปลอดภัย การประเมินสถาพแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ป้องกันอันตรายซ้ำซ้อนถ้าพบว่าสถานที่เกิดเหตุมีโอกาสเกิดอันตรายซ้ำซ้อน เช่น อาจถูกรถชนซ้ำ ผู้ช่วยเหลือควรใช้กรวยจราจร หรือไฟของรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อเป็นเครื่องเตือนอันตรายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้ช่วยเหลือ ควรวางให้ได้ระยะที่เหมาะสมคำนวณระยะที่จะวางตามตัวเลขป้ายจำกัดความเร็ว เช่น หากเกิดอุบัติเหตุบนถนนที่จำกัดความเร็ว 50 กม./ชม. ก็ควรวางอุปกรณ์ก่อนถึงจุดเกิดเหตุ 150 เมตร ซึ่งจะเป็นการเตือนให้รถหยุดได้ในเวลาที่เหมาะสม และหากเป็นทางโค้ง ควรวางกรวยจราจรก่อนถึงและสิ้นสุดทางโค้งด้วย ดังนั้นผู้ช่วยเหลือจึงต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์อุบัติเหตุจราจรอยู่ตลอดเวลา เพราะอุบัติเหตุแต่ละครั้งไม่มีสูตรสำเร็จว่าวิธีไหนจะลดความเสียหายและอาการบาดเจ็บได้ดีที่สุด การระมัดระวังอย่าให้เกิดขึ้นจะดีที่สุด แต่หากเกิดอุบัติเหตุขอให้ตั้งสติ นึกถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก


นพ.วัชระ พิภพมงคล

                     นพ.วัชระ พิภพมงคล ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า ในกรณีเกิดการบาดเจ็บที่เห็นได้ชัด เช่น กระดูกหัก ข้อเคลื่อน การช่วยเหลือคือพยายามไม่ให้มีการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ นอกจากจะพบกระดูกหักแล้วยังพบความเสียหายของเยื่อหุ้มกระดูก เส้นเลือด และเนื้อเยื่อโดยรอบถูกทำลาย กระดูกเกยกัน หรือโค้งงอ ทำให้เจ็บปวดอย่างมากและไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แต่หลายครั้งคนที่อยู่ใกล้เคียงเห็นคนไข้กระดูกหักงออย่างชัดเจน แล้วหวังดีจับดัดให้เข้าที่โดยขาดความรู้ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มเติมกับเส้นเลือด เส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียงกับส่วนของกระดูกที่หัก ฉะนั้นสิ่งที่ควรทำคือ ประคองให้อยู่นิ่งที่สุด หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ขอให้ประคองส่วนที่หักหรือให้มีการเคลื่อนตัวน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการบาดเจ็บเพิ่ม หากคนเจ็บสามารถตอบคำถามได้ ก่อนขยับขอให้สอบถามก่อน ว่ามีอาการปวดคอหรือปวดที่ส่วนหลัง ส่วนเอวหรือไม่หรือหากไม่แน่ใจ การเคลื่อนย้ายขอให้รอทีมช่วยเหลือ เช่น หน่วยกู้ชีพหรือทีมแพทย์และพยาบาลจะปลอดภัยกว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการบาดเจ็บและมีกระดูกหักชนิดซับซ้อน มีการหักหลายชิ้นส่วน ต้องมีระบบการให้การดูแลรักษาแบบครบครัน แพทย์จะทำการวางแผนการรักษา หากมีข้อบ่งชี้ในการการทำผ่าตัดก็จะจัดกระดูกและดามด้วยโลหะภายใน อาจเป็นชนิดที่ไม่ต้องเปิดแผลยาวแบบในอดีตถ้าพิจารณาแล้วว่าเหมาะสม ทำให้เนื้อเยื่อโดยรอบกระดูกบาดเจ็บน้อย กระดูกเชื่อมติดตามเวลาและสามารถกลับไปใช้งานได้ดี มีภาวะแทรกซ้อนต่ำ หรือที่เรียกว่าการผ่าตัดยึดตรึงกระดูกหักแบบแผลเล็ก Minimally Invasive Surgery Plate Osteosynthesis (MIPO) สำหรับโลหะที่ใช้ในการดามกระดูกภายในนั้น มีทั้งชนิดโลหะที่เป็นแกนสอดในโพรงกระดูก (Nail) หรือการใช้โลหะแผ่นและสกรู (Plate and Screws) โดยอาจเป็นการสอดจากภายนอกผ่านแผลเล็กๆไปดามกระดูกภายในที่อยู่ลึกลงไปโดยใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูโอโรสโคป (Fluoroscope) ในขณะทำการผ่าตัดเพื่อประเมินความถูกต้องและแม่นยำ ทั้งนี้ วิธีการรักษาภาวะกระดูกหักในรายละเอียดนั้นใน แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมและความรุนแรงที่เกิดขึ้น


นพ.ยงค์ศักดิ์ เลียงอุดม

                     นพ.ยงค์ศักดิ์ เลียงอุดม ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกและข้อกรุงเทพ รพ.กรุงเทพ กล่าวว่า มือเป็นอวัยวะที่มีความซับซ้อนมาก การทำงานของมือที่สมบูรณ์ต้องประกอบไปด้วย กระดูกและข้อเล็กๆ เส้นเอ็น เส้นประสาทมือ เส้นเลือด รวมถึงผิวหนัง ปัญหาทางมือที่พบได้บ่อยมีสาเหตุมาจาก 1.อุบัติเหตุ เช่น กระดูกหัก เส้นเอ็นขาด เส้นเลือดขาด เส้นประสาทขาด หรือผิวหนังบอบช้ำ โดยกระดูกส่วนที่หักบ่อย คือ กระดูกนิ้วมือและข้อมือ เพราะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย พบได้จากการเล่นกีฬา อุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือ Big Bike รวมไปถึงผู้สูงอายุที่เวลาล้มจะใช้มือยันพื้นป้องกันตัว 2.ปัญหาที่เกิดจากการทำงาน เช่น เส้นเอ็นอักเสบ พังผืดเส้นประสาทที่ข้อมือ นิ้วล็อค(เกิดจากการใช้งานมากไป) การรักษามือจึงมีความซับซ้อนและความละเอียด หลักการรักษาแบ่งออกตามส่วนประกอบสำคัญของมือคือ กระดูกและข้อ ควรทำให้กระดูกแข็งแรงเพื่อให้เคลื่อนไหวได้เร็วที่สุด หากปล่อยไว้นานยิ่งเคลื่อนไหวช้า ข้อนิ้วก็จะยิ่งยึด(ข้อติด)ได้ง่าย แพทย์จะใส่เหล็กเล็กๆ เข้าไปเพื่อทำการยึดกระดูกมือให้ติดกันได้ไวที่สุด เส้นเอ็น ถ้าเอ็นขาดที่มือ หลักการต่อเส้นเอ็นมือคล้ายกันกับกระดูกคือ ต้องต่อให้แข็งแรง เพื่อให้เคลื่อนไหวได้เร็วที่สุด ถ้ายิ่งรักษาช้าก็จะทำให้เกิดแผลหรือผังผืดเป็นในเส้นเอ็น เนื่องมาจากช่องว่างในนิ้วมือค่อนข้างเล็ก หากเกิดแผลเป็นเส้นเอ็นจะเคลื่อนที่ลำบาก ข้อก็จะยิ่งยึดติดง่ายขึ้น เส้นเอ็นส่วนที่เกิดแผลเป็น ถ้ามีความหนาจากแผลเป็นจะทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่ดี เพราะฉะนั้นการต่อเส้นเอ็นต้องต่อให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดแผลหรือผังผืด การผ่าตัดต่อเส้นเอ็นในมือจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก การผ่าตัดมีความก้าวหน้าไปมากใช้วิธีการนำเอาเส้นเอ็นเส้นใหม่จากส่วนอื่นในร่างกายมาใช้ทดแทนส่วนที่เกิดปัญหา เช่น เส้นเอ็นจากส่วนขา ทำให้ไม่มีรอยต่อก็จะไม่มีแผลเป็น การผ่าตัดทางมือต้องใช้ศาสตร์ที่ครบเครื่องไม่ว่าจะเป็น กระดูก เส้นเอ็น เส้นเลือด แพทย์ที่ผ่าตัดมือต้องครบเครื่อง เปรียบได้กับ เป็นทั้งช่างทอง (ต่อเส้นเลือดเส้นเล็กๆ ผ่านกล้อง) และช่างไม้(ต่อกระดูก) เป็นต้น เส้นประสาท มือของคนเราต้องมีความรู้สึก ถ้ามีปัญหาเส้นประสาทขาดต้องทำการรักษาด้วยการต่อเส้นประสาท เนื่องจากเส้นประสาทมีขนาดที่เล็กมาก การต่อต้องใช้ความละเอียดโดยใช้ไหมเส้นเล็กๆ ยิ่งบริเวณส่วนปลายมือยิ่งมีขนาดเล็กต้องใช้กล้องที่เรียกว่า Microsurgery แม้จะมีเส้นเอ็นที่ดี มีกระดูกที่ดี แต่ถ้ามือไม่มีความรู้สึก การหยิบจับก็จะใช้การไม่ได้ เส้นเลือด ก็เช่นกันถ้าขาดก็ต้องทำการต่อ ซึ่งต้องอาศัยแพทย์ที่มีประสบการณ์เพื่อการรักษาได้อย่างตรงจุด แต่ถ้าขาดทั้งกระดูก เส้นเอ็น เส้นประสาททุกอย่างพร้อมกันก็ต้องต่อทุกอย่างทั้งหมดไปพร้อมๆ กัน วิธีการคือต่อกระดูกก่อนจากนั้นจึงทำการต่อเส้นเอ็น เส้นเลือด และเส้นประสาท ตามลำดับ อวัยวะที่ขาดควรเอาใส่ถุงที่สะอาด มัดปากถุงให้เรียบร้อยแล้วนำไปแช่ไว้ในน้ำแข็งเพื่อรักษาเซลล์ไม่ให้ตาย ไม่ควรนำอวัยวะแช่น้ำแข็งโดยตรงเพราะถ้าโดนน้ำเซลล์จะตายได้ และควรมาถึงรพ.ภายใน 6 ชม. นอกจากนี้ มือจะต้องมีการรับความรู้สึกจึงต้องมีผิวหนังที่ดี ผิวหนังที่มือเราอาจสังเกตได้ว่ามีความแตกต่างกับผิวหนังในส่วนอื่นของร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนังมือด้านฝ่ามือเป็นส่วนที่เราต้องใช้สัมผัส มีความหนาเป็นพิเศษ ที่อยู่ใต้ผิวหนังลงไป มีระบบเส้นประสาทรับความรู้สึกค่อนข้างมากจึงจะใช้งานได้ ฉะนั้น การใช้งานของมือจะต้องประกอบไปด้วยทุกสิ่งดังที่กล่าวมา มือจึงจะทำงานได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ


ทพ.ชัยณรงค์ โกศลศุภศิริชัย

                     ทพ.ชัยณรงค์ โกศลศุภศิริชัย ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกขากรรไกรและใบหน้า กล่าวถึง ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา โดยมากมักเป็นผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า เช่น รถชน รถล้ม หรือ ถูกทำร้ายร่างกาย การตกจากที่สูง เป็นต้น ปกติแล้วการรักษากระดูกหักถ้ารีบมาเข้ารับการรักษาโดยเร็ว โอกาสทำแล้วประสบผลสำเร็จและได้ผลดีจะมีมากกว่ากรณีที่มาเข้ารับการรักษาช้า สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุที่บริเวณใบหน้ามักมีอาการบาดเจ็บของสมองร่วมด้วย ซี่งทีมแพทย์ได้มีการประสานกับศัลยแพทย์ระบบประสาท เพื่อประเมินสภาวะของสมองว่าเหมาะสมสำหรับการผ่าตัดหรือไม่ ถ้าได้ก็ต้องรีบทำการรักษาโดยเร็วที่สุด โดยการผ่าตัดรักษาบริเวณใบหน้าและขากรรไกร (Maxillofacial Surgery) เป็นการผ่าตัดรักษาโดยทีมแพทย์สหสาขาประกอบไปด้วย ศัลยแพทย์ตกแต่ง จักษุแพทย์เฉพาะทางโรคของเปลือกตา ท่อน้ำตา และเบ้าตา (Occuloplastic) ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกขากรรไกรและใบหน้า (Maxillofacial) เข้าร่วมดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการบาดเจ็บที่เกี่ยวกับการบดเคี้ยว ก็จะมีทีมทันตแทพย์เข้าไปดูแล เพราะทุกส่วนของใบหน้ามีความสำคัญทั้งหมด เพียงแต่ความยากจะเกิดในผู้ป่วยที่มีการหักของกระดูกหลายๆ ชิ้น ที่ต้องใช้ประสบการณ์ความชำนาญและทีมแพทย์ที่มีความพร้อมในการรักษา ในอดีตปัญหาที่พบบ่อยคือ ผู้ป่วยไม่สามารถกัดฟันได้เหมือนเดิม หรือมองเห็นภาพซ้อนหลังการรักษา แต่ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ลดลงไป แต่ที่พบบ่อยจะเป็นเรื่องที่คนไข้มาเข้ารับการรักษาช้าในกรณีที่บาดเจ็บไม่มากและคิดว่าจะหายเองได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการเริ่มแสดง เช่น เห็นภาพซ้อน กัดฟันไม่ได้ หายใจไม่สะดวก เจ็บหู ฯลฯ จึงค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งค่อนข้างอันตราย อีกกรณีหนึ่งคือ หากเกิดอุบัติเหตุแล้วฟันแท้หลุด รีบหาฟันให้เจอแล้วจับบริเวณตัวฟัน อย่าจับตรงรากฟัน ล้างด้วยน้ำสะอาดเพื่อเอาเศษสิ่งสกปรกออก รีบแช่ฟันไว้ในนมจืดเย็น จากนั้นรีบไปพบแพทย์โดยทันที สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด ผู้ป่วยอาจถูกมัดฟันเพื่อเข้าเฝือกขากรรไกรไว้ ระยะนี้ผู้ป่วยต้องรับประทานอาหารเหลวเป็นระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยแพทย์จะนัดติดตามอาการเป็นระยะๆ เช่น 1 สัปดาห์ 2 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน และ 6 เดือน จุดสำคัญบริเวณใบหน้า เช่น การมองเห็น การบดเคี้ยว สำหรับแพทย์แล้วคือต้องทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้งานได้ใกล้เคียงแบบเดิมให้มากที่สุด แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการป้องกัน เช่น การสวมหมวกนิรภัย(แบบเต็มใบ)ในผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และ การคาดเข็มขัดนิรภัย เป็นการดูแลตัวเองเบื้องต้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้

                     การเฝ้าระวังเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 7 วันอันตราย อาจเกิดอุบัติเหตุที่ไม่มีใครคาดคิด ศูนย์อุบัติเหตุกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ มีทีมแพทย์เฉพาะทางสหสาขาที่มีประสบการณ์ประจำโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุหนัก ฉุกเฉิน จะได้รับการรักษาที่เหมาะสมและมีผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ พร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย ทั้งก่อนการรักษา หรือผู้ป่วยที่ได้รับการรักษามาแล้ว โดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อความปลอดภัย เพราะแต่ละวินาทีที่ผ่านไปอาจหมายถึงชีวิต หรือความพิการของผู้บาดเจ็บ หากเกิดอุบัติเหตุ หรือต้องการคำปรึกษาทางการแพทย์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ศูนย์กลางการประสานงานและอำนวยความสะดวกในการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รวมทั้งการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยทั้งทางบกและทางอากาศ สามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงที่เบอร์โทร.1724 ศูนย์แจ้งเหตุฉุกเฉิน BDMS Alarm Centerและเบอร์สายด่วนโทร 1669 สำหรับการโทรแจ้งอุบัติเหตุและขอความช่วยเหลือ พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.)