news on April 05, 2018, 03:29:46 PM
กสอ. เร่งดัน SMEs 1,400 ราย เข้าสู่แพลฟอร์ม T-GoodTech หวังเจาะตลาดธุรกิจออนไลน์ไทย-ญี่ปุ่น เชื่อมโยงสู่ตลาดโลกกรุงเทพฯ 5 เมษายน 2561- กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยตามโครงการ Digital Value Chain ผ่านแพลทฟอร์ม T-GoodTech (Thailand Good Technology) จับคู่ธุรกิจออนไลน์แบบธุรกิจกับธุรกิจ (Business to Business : B2B) ตั้งเป้าปีนี้ ดึงผู้ประกอบการทุกสาขาอุตสาหกรรมเข้าร่วมโครงการ 1,400 ราย เล็งเชื่อมโยงไปยัง J-GoodTech ซึ่งเป็นตลาดการค้าออนไลน์รายใหญ่ของญี่ปุ่น พร้อมเผยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการไทยเข้าไปทำธุรกิจใน J-GoodTech แล้วกว่า 1,300 ราย
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวและพัฒนาจึงจะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายอื่นได้ ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs หลายรายได้หันมาใช้เทคโนโลยีในด้านการผลิตมากขึ้น ทั้งนำระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) การทำงานโดยระบบหุ่นยนต์ (Robot) ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบออนไลน์ (e-Commerce) และสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) มาช่วยด้านการตลาดและการค้าขายด้วย ซึ่งจากการคาดการณ์ภาพรวมมูลค่า e-Commerce ปี 2560 ในประเทศไทย ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ระบุว่ามีมูลค่าธุรกรรมทางการค้ารวมทั้งสิ้น 2,812,592.03 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นจากปี 2559 คิดเป็นร้อยละ 9.86 โดยจำแนกออกเป็น 3 แบบ ดังนี้ 1. แบบ B2B (Business to Business) มีจำนวน 1,675,182.23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 59.56 ของมูลค่า e-Commerce ปี 2560 2. แบบ B2C มีจำนวน 812,612.68 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28.89 และ 3. B2G (Business to Government) มีจำนวน 324,797.12 ล้านบาท หรือ คิดเป็นร้อยละ 11.55
“เราได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่ารวมถึงพฤติกรรมในการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ เห็นได้ชัดจากการจับจ่ายใช้สอยจากร้านค้าสู่ตลาดออนไลน์ ทำให้ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce เติบโตและเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกจับตามองมากที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถือเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ดังนั้น การจัดทำเว็บไซต์และระบบฐานข้อมูลจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (T-GoodTech) ภายใต้โครงการ Digital Value Chain ก็คือการเพิ่มขีดความสามารถและการปรับเปลี่ยนธุรกิจ (Capacity Upgrading and Transforming) โดยเฉพาะการผลักดันผู้ประกอบการ SMEs สู่ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chain) ผ่านการสร้างแพลทฟอร์ม T-GoodTech ของไทย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทย สามารถมีช่องทางในการจับคู่ธุรกิจระหว่างกัน
อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า การพัฒนาแพลทฟอร์ม T-GoodTech และการเชื่อมต่อสู่แพลทฟอร์ม J-GoodTech ของญี่ปุ่นนั้น กรมฯ ได้ประสานความร่วมมือกับองค์การเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรมภูมิภาคแห่งประเทศญี่ปุ่น (SMRJ) เพื่อผลักดันผู้ประกอบการ SMEs เข้าสู่ตลาด Online โดยการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นมาประจำที่กรมฯ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรของกรมฯ เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริม SMEs และความช่วยเหลือในการพัฒนา แพลทฟอร์ม T-GoodTech ให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ผู้ประกอบการญี่ปุ่นและผู้ประกอบการไทยใช้เป็นเครื่องมือในการจับคู่ธุรกิจ รวมถึงการเชื่อมโยง ไปยัง J-GoodTech ในอนาคต ซึ่งขณะนี้กรมฯ ได้พัฒนาเว็บไซต์ T-GoodTech พร้อมให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้ว และได้มอบหมายให้กองต่าง ๆ และศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ คัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยล่าสุดมีกว่า 300 ราย และตั้งเป้าว่าจะเพิ่มเป็น 1,400 ราย ให้ได้ภายในปีนี้”
“ก่อนหน้านี้เราได้เข้าร่วมกับ SMRJ อยู่แล้ว โดยส่งผู้ประกอบการ SMEs ของไทย เข้าไปทำการค้าในเว็บไซต์ J-GoodTech ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีลงทะเบียนไว้กว่า 17,000 ราย ประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ ได้แก่ อเมริกา เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เป็นต้น ในจำนวนนี้มีผู้ประกอบการไทยรวมอยู่ด้วยถึง 1,365 ราย ดังนั้น เมื่อเราปรับมาเป็น T-GoodTech แล้ว เราก็จะขอความร่วมมือกับ SMEs ญี่ปุ่น ให้เข้ามาลงทะเบียนร่วมกัน โดยหวังว่าในอนาคตจะเกิดการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ หรือการรับจ้างผลิตเพิ่มตลาดให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแผนใช้ T-GoodTech เชื่อมโยงไปยัง HKTDC ของฮ่องกง และ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงเครือข่ายในภูมิภาคและระดับสากลต่อไปด้วย” นายกอบชัย กล่าวทิ้งท้าย
« Last Edit: April 06, 2018, 12:58:04 PM by news »
Logged