news on March 21, 2018, 03:57:39 PM
กสิกรไทย สวทช. สกว. เปิดมุมมองเอสเอ็มอี ไขความสำเร็จธุรกิจผลิตอาหาร


สัมมนา (ซ้ายไปขวา) รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์- น.ส.พีชยา จิระธรรมกิจกุล -นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา และนางวรัชยา จันจิตร



ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  ขอคำปรึกษาเจ้าหน้าที่โปรแกรม ITAP สวทช.


ผู้ประกอบเอสเอ็มอีให้ความสนใจรับฟังการสัมมนาจำนวนกว่า 500 คน


บรรยากาศการสัมมนา



กสิกรไทย จับมือ สวทช. และ สกว. หนุนเอสเอ็มอีใช้นวัตกรรมสร้างโอกาสทางธุรกิจ ร่วมจัดโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับธุรกิจผลิตอาหาร เฟ้น 50 ราย อัพความรู้โดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในแต่ละธุรกิจ อัพฝีมือในการอบรมเชิงลึก พร้อมโอกาสรับเงินรางวัล 100,000 บาท เงินทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม พร้อมเข้าถึงช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตอาหาร

(วันที่ 20 มีนาคม 2561) ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ (สุขุมวิท) ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกันเปิดงาน สัมมนา “เปิดมุมมองใหม่ ไขความสำเร็จธุรกิจผลิตอาหาร” โดยมี นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวต้อนรับและเปิดสัมมนา หัวข้อ “เปิดมุมมองใหม่ ไขความสำเร็จธุรกิจผลิตอาหาร” มีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นางสาวพีชยา จิระธรรมกิจกุล ผู้จัดการงานอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสุขภาพ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ITAP สวทช. นางวรัชยา จันจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิ่นเพชร จำกัด ผู้ประกอบการแปรรูปมะขาม แบรนด์ “ปิ่นเพชร” และ นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด (Wel-B) ผู้นำนวัตกรรมของทานเล่นเพื่อสุขภาพ ยอดขาย 100 ล้านบาทต่อปี งานสัมมนาดังกล่าวมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจเข้าร่วมสัมมนากว่า 500 คน


นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ประเทศไทยมีความเชี่ยวชาญสามารถผลิตส่งขายได้ทั่วโลก โดยในปี 2560 ธุรกิจผลิตอาหารมีมูลค่า 619,201 ล้านบาท และคาดว่าจะมีมูลค่า 653,267 ล้านบาท เติบโต 4.50-6.50% ในปี 2561 ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกสิกรไทย จึงร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับธุรกิจผลิตอาหาร เพื่อต้องการสนับสนุนให้ SMEs นำงานวิจัยและนวัตกรรมมาเพิ่มศักยภาพธุรกิจ โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ให้เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมได้จริง โดยในวันนี้เป็นการให้ความรู้เทรนด์และภาพรวมของธุรกิจผลิตอาหารจาก ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทช.) หลังจากนั้นในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม  2561 จะมีการการอบรมเชิงลึก 4 วัน โดยผู้เชี่ยวชาญตัวจริง และคัดเลือกผู้สมัครเพียง 50 รายเท่านั้น เพื่อเข้าร่วมการอบรม และการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทั้งนี้สำหรับ 5 ธุรกิจที่แกร่งที่สุด ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลรายละ 100,000 บาท เงินสนับสนุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม  รวมถึงโอกาสในการเข้าช่องทางจัดจำหน่าย โดยธนาคารกสิกรไทย คาดว่าโครงการดังกล่าว จะช่วยยกระดับและเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตอาหารของไทย ให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน


ด้านนางสาวพีชยา จิระธรรมกิจกุล ผู้จัดการงานอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และสุขภาพ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ITAP สวทช. กล่าวว่า การทำนวัตกรรมถือเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งหมด แต่หากผู้ประกอบการไม่สร้างความแตกต่างให้กับสินค้า ก็จะไม่เกิดความยั่งยืนในผลิตภัณฑ์นั้น ดังนั้นหากผู้ประกอบการลองศึกษาความต้องการของผู้บริโภค ก็น่าจะช่วยสร้างให้สินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

ทั้งนี้ สวทช. โดยโปรแกรม ITAP สวทช. มีพันธกิจหลักในด้านการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและสังคม และมีภารกิจหนึ่งในการถ่ายทอดและบริหารจัดการเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพรวมทั้งมีความพร้อมทางด้านบุคลากรในการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือให้ภาคอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้เพิ่มผลิตภาพ คุณภาพ พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าที่ผ่านมา SMEs ไทย มีโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมยังไม่มากนัก จากปัญหานี้ สวทช. จึงพยายามช่วยเหลือและผลักดันผ่านโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา ITAP ได้ช่วยเหลือ SMEs ไปแล้วกว่า 7,000 โครงการ

สำหรับโครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสำหรับธุรกิจผลิตอาหาร เป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงองค์ความรู้ที่จะสามารถนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรม และช่วยเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นในด้านต่างๆ และยังสามารถเข้าถึงแหล่งสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเชิงนวัตกรรม  นอกจากนี้โปรแกรม ITAP ยังมีการสนับสนุนผู้ประกอบการแบบย้อนหลัง โดยผู้ประกอบการที่ใช้เงินค่าใช้จ่ายในการวิจัย 100 เปอร์เซ็นต์ ตามวงเงินสนับสนุนที่กำหนดไว้ สามารถมาเบิกเงินคืนย้อนหลัง 50 เปอร์เซ็นต์ จากโปรแกรม ITAP สวทช. ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถริเริ่มงานวิจัยและผลิตสินค้านวัตกรรมให้รวดเร็วขึ้นและเกิดการเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีแนวโน้มการทำวิจัยพัฒนาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่  โครงการนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเข้าถึงนวัตกรรมได้มากขึ้น โดยทั้ง 3 หน่วยงานร่วมเป็นภาคีในการสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างครบวงจร ทั้งงบประมาณวิจัย การวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การให้ความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงช่องทางการขายสินค้า และร่วมกันคัดเลือกผู้ประกอบการ โดยกระบวนการคัดเลือกจะมีเกณฑ์กำหนด เช่น การมีแนวคิดและความตั้งใจในการสร้างสินค้านวัตกรรม มีความกระตือรือร้นในการประกอบธุรกิจ มีมุมมองทางการตลาดและกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เป็นต้น ทาง สกว. หวังว่าโครงการนี้จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ SMEs ที่จะได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เกิดการขายได้จริงในเชิงพาณิชย์  อันก่อให้เกิดรายได้เพิ่มกับผู้ประกอบการ


นายณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด (Wel-B) ผู้นำนวัตกรรมของทานเล่นเพื่อสุขภาพ ยอดขาย 100 ล้านบาทต่อปี กล่าวว่า มีแรงบันดาลใจ การทำโยเกิรต์กรอบ หรือ จากการที่ลูกขับถ่ายยาก จึงพยายามป้อนโยเกิรต์ให้ลูกเพื่อให้การขับถ่ายง่ายขึ้น จนกระทั่งเอาโยเกิรต์ไปแช่ฟรีดราย์ และนำมาทุบๆ ให้เป็นเม็ดๆ แล้วพบว่าลูกหยิบทานได้เองโดยไม่ต้องป้อน จึงผุดไอเดียว่าน่าจะทำเป็นของทานเล่นที่มีประโยชน์ได้

ปัจจุบัน โยเกิร์ตกรอบ” ซึ่งพัฒนาโดย ITAP สวทช. และบริษัท โจลี่-แฟมิลี่ จำกัด คือ ขนมทานเล่นที่ทั้งอร่อยและมีคุณค่าทางสารอาหาร ซึ่งผลิตจากเทคโนโลยีอบแห้งแบบแช่แข็งสุญญากาศ เทคโนโลยีที่ช่วยถนอมผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติและคุณภาพใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากที่สุด โดยโยเกิร์ตจะถูกทำให้เย็นจนแข็ง และอยู่ในบรรยากาศที่มีความชื้นต่ำ เกิดสภาวะน้ำแข็งระเหิด โดยไม่มีการละลาย จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเคมีและกายภาพ รวมทั้งยังสามารถรักษาจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตกรอบรสชาติดี และเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการ เหมาะสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 12 เดือนขึ้นไป

นางวรัชยา จันจิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปิ่นเพชร จำกัด ผู้ประกอบการแปรรูปมะขาม แบรนด์ “ปิ่นเพชร” ที่วิจัยและสร้างมูลค่าเมล็ดมะขามจนเพิ่มมูลค่าการส่งออกเท่าตัว เปิดเผยว่า จากอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่ทำมะขามคลุกขาย จนมีเมล็ดมะขามเหลือทิ้งปีละ 100 ตัน แต่ปรากฎว่าบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย มารับซื้อเมล็ดมะขามกิโลลกรัมละ 5-6 บาท อย่างต่อเนื่อง จนเกิดความสงสัยและเริ่มศึกษาประโยชน์ของเมล็ดมะขาม พบว่า คุณสมบัติของเมล็ดมะขามช่วยต้านอนุมูลอิสระได้ ทำให้ผิวเนียบเรียบสดใส จนกระทั่งมาทำงานวิจัยร่วมกับ สกว. และนำมาสกัดเป็นแป้งมะขามหรือ “เจลโลส” ขายกิโลละ 5,000-10,000 บาท เพื่อใช้ทดแทนเพคตินในผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งขณะนี้กำลังขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นับเป็นอีกตัวอย่างของธุรกิจผลิตอาหารที่นำของเหลือทิ้งด้านการเกษตร มาเพิ่มมูลค่าได้ดี

ทั้งนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยดูรายละเอียดโครงการและสมัครได้ที่ www.ksmegoodtogreat.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ K BIZ Contact Center โทร. 02 888 8822
« Last Edit: March 22, 2018, 01:57:24 PM by news »