sianbun on January 15, 2010, 12:56:46 PM
รายงาน IBM Next 5 in 5 -รายละเอียดเจาะลึกของการคาดการณ์แนวโน้มแต่ละเรื่อง

ไอบีเอ็มเผย 5 นวัตกรรมที่จะเปลี่ยนแปลงเมืองทั่วโลกใน 5 ปีข้างหน้า


กรุงเทพฯ  8 มกราคม 2553: ไอบีเอ็ม เปิดเผยรายงานประจำปี “Next 5 in 5” ฉบับที่ 4 ซึ่งมีการคาดการณ์แนวโน้มทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่จะมีผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองต่างๆ ทั่วโลกในช่วง 5-10 ปีข้างหน้าดังต่อไปนี้ 


เทคโนโลยีจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในเมืองต่าง ๆ แข็งแรงยิ่งขึ้น
อาคาร ‘อัจฉริยะ’ จะสามารถรับรู้และตอบสนองมนุษย์ได้เหมือนสิ่งมีชีวิต
รถยนต์และรถประจำทางจะไม่ใช้น้ำมันและก๊าซอีกต่อไป
ระบบอัจฉริยะจะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำและช่วยประหยัดพลังงานในเมืองใหญ่
เมืองต่างๆ จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที แม้กระทั่งก่อนที่จะได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุ
 

ทุกวันนี้ ด้วยแนวโน้มในการย้ายถิ่นฐานของประชากรในแต่ละปีทั่วโลก  มีประชากรราว 60 ล้านคน หรือกว่า 1 ล้านคนในแต่ละสัปดาห์ที่ย้ายถิ่นฐานจากชนบทเข้าสู่เมืองใหญ่ จากรายงานประจำปี “Next 5 in 5” ล่าสุด ซึ่งเป็นฉบับที่ 4 ของไอบีเอ็ม ได้ให้ความสนใจกับประเด็นดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวโน้มการย้ายถิ่นฐานของประชากรเข้าสู่เมืองใหญ่ (Urbanization) มีมากอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีปี 2552 ที่ผ่านมานี้เอง มีการประเมินกันว่าประชากรส่วนใหญ่ของโลกในปัจจุบันอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าชนบท ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก


นอกจากนั้นแล้ว  ในรายงานดังกล่าว ยังให้ความสำคัญกับแนวโน้มของเทคโนโลยีที่มีผลกระทบและเกี่ยวโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาและความท้าทายที่เมืองต่าง ๆ ต้องรับมือในอนาคตอันใกล้ เช่น ปัญหาการบริหารจัดการเมืองเพื่อรับมือกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น หรือการจัดการกับปัญหาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมลง เป็นต้น 


ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้มีโอกาสทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลในหลาย ๆ เมืองทั่วโลกในการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในเมืองเหล่านั้น ‘ฉลาดขึ้น’ หรือมีประสิทธิภาพในการทำงานดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมืองนั้น ๆ นั่นเอง 


ในช่วง  5 ปีข้างหน้านี้ ไอบีเอ็มคาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่สำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้ 


  เทคโนโลยีจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในเมืองต่าง ๆ แข็งแรงยิ่งขึ้น
ด้วยประชากรจำนวนมากที่ย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองใหญ่ มีผลทำให้เมืองเหล่านี้กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคไปพร้อม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีจะมีบทบาทมากขึ้น โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดโรคระบาดขึ้นเมื่อใด ที่ใด อย่างไร และมีพื้นที่ใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบหลังจากเกิดโรคระบาดนั้น ๆ ขึ้น นอกจากนั้นแล้ว นักวิทยาศาสตร์จะสามารถพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐฯ หรือโรงพยาบาล สถานศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถปรับปรุงการตรวจสอบ ติดตาม หรือเพิ่มมาตรการในการเตรียมพร้อมรับมือ และป้องกันโรคติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็น ไวรัส H1N1 หรือโรคระบาดอื่น ๆ เป็นต้น 


ยิ่งไปกว่านั้น  ในอนาคตอันใกล้ เราจะได้เห็น “อินเทอร์เน็ตเพื่อสุขภาพ” เกิดขึ้น ซึ่งระบบดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้ข้อมูลทางการแพทย์ที่อยู่ในเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ นำไปถูกใช้งานร่วมกันอย่างปลอดภัย เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด และเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น  ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ หลายแห่งทั่วโลก เช่น โครงการริเริ่มด้านสุขภาพและความปลอดภัยของโลก (Global Health and Security Initiative) ของ Nuclear Threat Initiative (NTI) และกลุ่มความร่วมมือแห่งตะวันออกกลางเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อ (Middle East Consortium on Infectious Disease Surveillance - MECIDS) โดยไอบีเอ็มช่วยพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งจะเป็นมาตรฐานเพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพและการวิเคราะห์การระบาดของโรคติดต่อ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนในอนาคต 


  อาคาร ‘อัจฉริยะ’ จะสามารถรับรู้และตอบสนองมนุษย์ได้เหมือนสิ่งมีชีวิต
ในอนาคตอันใกล้ ด้วยแนวโน้มที่ผู้คนจะเข้าไปอาศัยและทำงานตามอาคารต่าง ๆ ในเมืองใหญ่มากขึ้น ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะก็จะช่วยทำให้ระบบต่าง ๆ ในตึกและอาคารสมัยใหม่ ‘ฉลาดขึ้น’ ไปพร้อม ๆ กัน โดยเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาให้ทำหน้าที่จัดการดูแลอาคารสถานที่ต่าง ๆ ให้ทำงานได้ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถรับรู้และตอบสนองมนุษย์ได้อย่างฉับไว เช่น อาคารสมัยใหม่ในอนาคต จะมีอุปกรณ์ตรวจจับหรือเซ็นเซอร์หลายพันตัวที่ติดตั้งตามจุดต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวและอุณหภูมิ ไปจนถึงความชื้น การเข้าใช้พื้นที่ แสงสว่าง เป็นต้น 


นอกจากนั้นแล้ว  ในอาคารหลายแห่ง ซึ่งปัจจุบันมักประกอบไปด้วยระบบต่างๆ ที่ถูกบริหารจัดการแบบแยกส่วนและไม่ทำงานเชื่อมโยงประสานกัน เช่น ระบบปรับอากาศ ประปา ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้า ฯลฯ เป็นต้น ในอนาคต ระบบต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ เพื่อทำให้การบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด


ยิ่งไปกว่านั้น  ระบบอัจฉริยะต่าง ๆ จะมีบทบาทมากขึ้นในหลาย ๆ ด้าน เช่น ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยหรือใช้บริการในอาคารนั้น ๆ ช่วยอาคารประหยัดการใช้ทรัพยากร หรือช่วยลดปัญหาโลกร้อน เช่น ช่วยตรวจสอบระดับการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในแบบเรียลไทม์ หรือในกรณีที่มีปัญหาอุปกรณ์บางชิ้นอาจไม่ทำงานหรือชำรุดเสียหาย ระบบอัจฉริยะนี้จะช่วยจัดการซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนที่อุปกรณ์นั้นจะหยุดทำงาน เป็นต้น 


ที่ผ่านมา มีอาคารหลายแห่งในปัจจุบัน ที่ติดตั้งระบบอัจฉริยะเพื่อช่วยบริหารจัดการระบบงานหลายประเภทแล้ว เช่น ช่วยลดการใช้พลังงาน ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หรือเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้พื้นที่ภายในอาคาร ตัวอย่างเช่น โรงแรมไชน่า หังโจว ดราก้อน (China Hangzhou Dragon Hotel) ในประเทศจีน ที่เปิดโอกาสให้ไอบีเอ็มช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการโรงแรมที่ทำให้อุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ สามารถทำงานเชื่อมโยงถึงกันได้แบบอัจฉริยะ ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้เอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปรับปรุงของโรงแรมสู่การเป็น“โรงแรมอัจฉริยะ” เป็นต้น


  รถยนต์และรถประจำทางจะไม่ใช้น้ำมันและก๊าซอีกต่อไป
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์  ที่ตัวอักษร “E” บนมาตรวัดน้ำมันในรถยนต์ จะหมายถึง “Enough” หรือ “เพียงพอ” เพราะในอนาคตอันใกล้ รถยนต์และรถประจำทางจะไม่ต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิล เช่น น้ำมันและก๊าซ อีกต่อไป นั่นหมายถึง ในอนาคต รถยนต์จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ชนิดใหม่ซึ่งรองรับการใช้งานได้นานหลายวันหรือหลายเดือนก่อนที่จะมีการชาร์จไฟอีกครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้ใช้งานรถคันนั้นบ่อยแค่ไหน  ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มและองค์กรพันธมิตรหลายแห่ง ได้ร่วมมือกันพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่ทำให้รถยนต์วิ่งได้ไกลถึง 300 ถึง 500 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่วิ่งได้เพียง 50 ถึง 100 ไมล์ นอกจากนี้ โครงข่ายระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ตามเมืองใหญ่หลายแห่งจะเปิดโอกาสให้รถยนต์สามารถชาร์จไฟในที่สาธารณะได้ อีกทั้งช่วยให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้พลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (Renewable Energy) เช่น พลังงานลม เป็นต้น เพื่อช่วยชาร์จแบตเตอรี่ โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากถ่านหินอีกต่อไป  ด้วยวิธีการเหล่านี้เอง จะช่วยให้เมืองต่าง ๆ หลายแห่งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศควบคู่ไปกับการช่วยลดมลภาวะทางเสียงไปในเวลาเดียวกัน   


หนึ่งในตัวอย่างของพันธมิตรที่ร่วมมือกับไอบีเอ็มในโครงการดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มความร่วมมือด้านการวิจัย ‘เอดิสัน’ ของประเทศเดนมาร์ก (EDISON Research Consortium) ซึ่งทำงานร่วมกับไอบีเอ็มในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ เพื่อรองรับการใช้รถไฟฟ้าจำนวนมากที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางเลือกอย่างยั่งยืน (sustainable energy) 


  ระบบอัจฉริยะจะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำและการประหยัดพลังงานในเมืองใหญ่
ปัจจุบัน  ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำถือเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของโลก เนื่องจาก ทุกวันนี้ ประชากร 1 ใน 5 ของโลกไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยได้ ในขณะเดียวกัน หน่วยงานของรัฐฯ ในหลาย ๆ เมืองทั่วโลกมีปัญหาการสูญเสียน้ำอย่างไม่จำเป็น โดยราว 50 เปอร์เซ็นต์ของปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุมาจากการใช้อุปกรณ์จัดเก็บน้ำที่ไม่ได้มาตรฐานหรือชำรุด ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการคาดการณ์กันว่าความต้องการน้ำของมนุษย์จะเพิ่มขึ้น 6 เท่าในอีก 50 ปีข้างหน้าซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่โลกต้องรับมือในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมกับปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันเมืองต่างๆ ได้มีการติดตั้งระบบประปา ‘อัจฉริยะ’ ซึ่งทำหน้าที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์  นอกจากนั้น ที่ผ่านมาในหลาย ๆ เมืองทั่วโลก ได้มีการใช้ระบบท่อระบายน้ำ ‘อัจฉริยะ’ ที่นอกจากจะช่วยป้องกันการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองแล้ว ยังช่วยกรองน้ำให้สะอาดจนสามารถดื่มได้อีกด้วย  เทคโนโลยี ‘อัจฉริยะ’ สำหรับการกรองน้ำดังกล่าวนี้ช่วยให้เมืองต่างๆ สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ภายในชุมชน ซึ่งจะช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการขนส่งน้ำลงได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์   


ยิ่งไปกว่านั้น  ในอนาคตอันใกล้จะมีความพยายามผนวกรวมเครื่องตรวจวัดแบบ ‘อัจฉริยะ’ หรือมิเตอร์แบบอินเทอร์แอคทีฟและเซนเซอร์เข้ากับระบบประปาและไฟฟ้า ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวทำขึ้นเพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลอย่างแม่นยำแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับการใช้น้ำและไฟฟ้าของผู้ใช้ตามบ้าน เพื่อทำให้ผู้ใช้เองสามารถบริหารจัดการการใช้น้ำและไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณหรือเวลา 


  เมืองต่างๆ จะตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุ
ในอนาคตอันใกล้  เมืองต่าง ๆ จะมีความสามารถในการลดและป้องกันเหตุฉุกเฉิน เช่น อาชญากรรมและภัยพิบัติ ได้ดีกว่าในปัจจุบันด้วยการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและระบบอัจฉริยะ 


ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ทำงานร่วมมือกับหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกต้องอย่างฉับไว เพื่อให้การดำเนินมาตรการเชิงรุกในการป้องปรามอาชญากรรมทำได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น ล่าสุด ไอบีเอ็มได้ร่วมงานกับหน่วยดับเพลิงแห่งนครนิวยอร์ก (Fire Department of the City of New York) ที่ได้ให้ความไว้วางใจไอบีเอ็มในการพัฒนาระบบที่ทันสมัย เพื่อช่วยเก็บรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพในแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ที่อาจเกิดขึ้น และช่วยคุ้มครองเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไปในเวลาเดียวกัน 


รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงาน IBM Next 5 in 5 สามารถเข้าไปที่ ibm.com/smartercities

ชมวีดิโอคลิปเกี่ยวกับรายงาน Next 5 in 5 ดังกล่าวผ่านยูทิวป์ สามารถเข้าไปที่ http://www.youtube.com/watch?v=2m7ticc7jnE

รูป hi-res เพื่อประกอบบทความ สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ http://www.flickr.com/photos/43542185@N04/sets/72157623151059474/

หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมฉบับภาษาไทยแบบเจาะลึกเกี่ยวกับการคาดการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่งใน 5 เรื่องนี้ หรือต้องการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เพื่อให้ความรู้หรือรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานดังกล่าว รบกวนติดต่อผมหรือคุณภาสกร โทร 02 273 4164 หรือที่อีเมล์ ccompats@th.ibm.com
« Last Edit: January 16, 2010, 04:28:42 PM by sianbun »

sianbun on January 16, 2010, 04:29:10 PM
ระบบอัจฉริยะจะทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำและประหยัดพลังงานในเมืองใหญ่


ปัจจุบัน หลายๆ เมืองทั่วโลกกำลังพยายามจัดการกับภัยแล้ง ภาวะขาดแคลนน้ำ และมลภาวะอย่างใหญ่หลวง ในขณะเดียวกันยังมีปัญหาอีกมากมายที่หลายคนยังไม่ทราบ เช่น ปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านประปา ซึ่งต้องใช้มากกว่าการสร้างและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้าถึง 3 เท่า นอกจากนั้น ด้วยการที่ท่อส่งน้ำส่วนใหญ่ในหลายเมืองในโลกอยู่ใต้ดิน มีส่วนทำให้เกิดการละเลยการบำรุงรักษาระบบประปา ซึ่งนำไปสู่การเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อไปอีกมากมาย


ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับน้ำดื่มน้ำใช้ในปัจจุบัน

ทุกวันนี้ เทศบาลเมืองต่างๆ ต้องสูญเสียน้ำประปาโดยเปล่าประโยชน์มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ อันเนื่องมาจากโครงสร้างพื้นฐานในระบบประปาที่มีการชำรุดรั่วไหล
ประชาชน 1 ใน 5 ของโลก ในปัจจุบัน ไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาดปลอดภัยได้
ปัจจุบัน มีเพียงแค่ 2 เปอร์เซ็นต์ของน้ำจากทั่วโลกที่สามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ และคาดว่าความต้องการน้ำของมนุษย์จะเพิ่มขึ้น 6 เท่าในอีก 50 ปีข้างหน้า
ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้น้ำทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรที่เพิ่มมากกว่านั้นหลายเท่าตัว
องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงภายในปีพ.ศ. 2623
จากผลการศึกษาล่าสุดที่ดำเนินการโดยสถาบันเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ (Institute for Business Value) ของไอบีเอ็ม ระบุว่า ปัญหาเรื่องน้ำมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นทั้งต่อองค์กรธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐ  ผลการศึกษาดังกล่าว ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 100 คน ชี้ให้เห็นว่าผู้บริหาร 71% คาดว่าประเด็นเรื่องน้ำจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า แต่กระนั้น 63% ระบุว่าองค์กรของตนยังขาดแคลนระบบที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับปัญหาเรื่องน้ำที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
 

ในอนาคต

ในอนาคตอันใกล้ เมืองต่างๆ จะติดตั้งระบบประปาแบบอัจฉริยะ ซึ่งจะช่วยลดการสิ้นเปลืองอันเนื่องมาจากปัญหาระบบประปาชำรุดเสียหายได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์  โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับการกรองน้ำ เพื่อให้สามารถนำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ (รีไซเคิล) ภายในชุมชน ซึ่งจะช่วยลดพลังงานที่ใช้ในการขนส่งน้ำได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์


การตรวจจับการรั่วไหลและการซ่อมแซมท่อประปาโดยอัตโนมัติจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบูรณะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่ล้าสมัยสำหรับระบบจัดส่งน้ำ  ในอดีต เราจะตรวจพบการแตกร้าวและรั่วซึมก็ต่อเมื่อมีน้ำรั่วไหลออกจากท่อและทะลักเข้าสู่ถนนแล้วเท่านั้น  แต่จากการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ  จะช่วยให้การค้นหาและซ่อมแซมรูรั่วในระบบท่อประปาสามารถทำได้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น


ทุกวันนี้ มีท่อส่งน้ำที่ยาวหลายล้านไมล์ทั่วโลก ซึ่งท่อประปาเหล่านี้ส่วนมากถูกใช้งานมานานกว่า 100 ปี แต่ด้วยการวางแผนที่รอบคอบและการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การบำรุงรักษาและการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบประปาอาจพัฒนาก้าวไกลได้อย่างรวดเร็ว  และในท้ายที่สุดแล้ว ระบบอัจฉริยะสำหรับการจัดการสาธารณูปโภคทั้งในส่วนของไฟฟ้าและน้ำประปาอย่างครบวงจรจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับการอนุรักษ์ทรัพยากรทั้งสองชนิดนี้ให้กับมวลมนุษยชาติ


ตัวอย่างของระบบน้ำประปาอัจฉริยะที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ได้แก่: 


โครงการที่ไอบีเอ็มกำลังทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาลในเมืองเสิ่นหยาง ประเทศจีน เพื่อนำโซลูชั่นด้านการจัดการน้ำจากศูนย์วิจัยของไอบีเอ็ม ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้รับจากระบบน้ำภายในเมืองดังกล่าว เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณภาพของน้ำ พลังงานที่ใช้สำหรับการจัดการน้ำ และอื่นๆ ในแบบเรียลไทม์ ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าว ผู้บริหารของเมืองเสิ่นหยางจะสามารถทำการตัดสินใจการทำงานในเชิงรุกเกี่ยวกับน้ำ ช่วยหาวิธีลดค่าใช้จ่ายและการใช้พลังงานที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการน้ำ และทำให้การรักษาคุณภาพน้ำสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

ที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อลดมลภาวะในแหล่งน้ำที่ล้อมรอบเมืองทั้ง 3 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านอ่าวซานฟรานซิสโก หรือฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก  โดยหน่วยงานของรัฐในนครซานฟรานซิสโกได้ใช้ซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มเพื่อเพิ่มความชาญฉลาดของระบบอัจฉริยะและปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดการระบบท่อระบายน้ำที่ยาวถึง 1,000 ไมล์ รวมถึงโรงบำบัดน้ำเสีย 3 แห่งให้ดียิ่งขึ้น
 

เมืองหนึ่งทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำ ได้หันมาใช้ซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็มเพื่อบริหารจัดการโรงบำบัดน้ำเสีย วิธีการจัดการก็คือ ให้น้ำเสียมีการกรองผ่านระบบกรองน้ำที่ทันสมัย ซึ่งจะช่วยขจัดแบคทีเรีย ไวรัส สารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ฮอร์โมน สารเคมี โลหะหนักที่เป็นพิษ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และยารักษาโรค หลังจากนั้นนำที่ผ่านการกรองจะถูกจัดเก็บภายในแหล่งน้ำที่อยู่ภายใต้การควบคุมภายในท้องถิ่น ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ช่วยป้องกันภาวะภัยแล้งในเขตพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากไม่จำเป็นต้องขนส่งน้ำดีมาจากแหล่งอื่น ซึ่งเป็นการช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมาก
 

ในประเทศมอลต้า ไอบีเอ็มได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วยมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปาแบบอินเทอร์แอคทีฟจำนวน 250,000 เครื่อง รวมถึงเซนเซอร์หลายพันตัวที่ติดตั้งไว้บนโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าและระบบน้ำประปา ทั้งนี้เพื่อช่วยรองรับการบริหารจัดการ และการคาดการณ์ล่วงหน้าต่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงการจัดส่งน้ำและพลังงานไฟฟ้าควบคู่กันไป นอกจากนั้นแล้ว ระบบดังกล่าวยังช่วยให้ประชาชนมีข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้น้ำและพลังงาน ซึ่งจะช่วยปรับปรุงวิธีการและรูปแบบการใช้ทรัพยากรให้ทำได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

sianbun on January 16, 2010, 04:29:36 PM
รถยนต์และรถประจำทางจะไม่ใช้น้ำมันและก๊าซอีกต่อไป


ภายใน 2 ทศวรรษข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าจะมีรถยนต์บนท้องถนนทั่วโลกมากกว่า 2,000 ล้านคัน ในขณะเดียวกันรถยนต์รุ่นประหยัดพลังงานและรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฮบริดก็จะมีใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่รองรับระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าก็จะมีการพัฒนาอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน


อย่างไรก็ตาม  ในส่วนของการใช้พลังงาน ในอีก 5 ปีข้างหน้า รถยนต์และรถประจำทางจะไม่ต้องพึ่งพาการใช้พลังงานจากน้ำมันและก๊าซ อีกต่อไป กล่าวคือ รถยนต์จะใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ชนิดใหม่ซึ่งรองรับการใช้งานได้นานหลายวันหรือหลายเดือนก่อนที่จะมีการชาร์จไฟอีกครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคุณขับรถบ่อยแค่ไหน  นักวิทยาศาสตร์กำลังออกแบบแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่ทำให้รถยนต์วิ่งได้ไกลถึง 300 ถึง 500 ไมล์ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่วิ่งได้ 50 ถึง 100 ไมล์


โครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ตามเมืองใหญ่จะช่วยให้รถยนต์สามารถชาร์จไฟในที่สาธารณะ และแม้กระทั่งใช้พลังงานทางเลือกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น พลังงานลม เพื่อชาร์จแบตเตอรี่ โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากถ่านหินอีกต่อไป  วิธีนี้จะช่วยให้แต่ละเมืองสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศควบคู่ไปกับการลดมลภาวะทางเสียง


แบตเตอรี่ชนิดใหม่สำหรับรถไฟฟ้าที่วิ่งได้ไกล

ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่ใช้ให้พลังงานกับคอมพิวเตอร์ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างมากทุก 1-2 ปี แต่กำลังความสามารถของแบตเตอรี่ เมื่อเทียบกับน้ำหนักของแบตเตอรี่ ได้ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยเฉลี่ยเพียงแค่ 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ของไอบีเอ็มและองค์กรพันธมิตรกำลังทำงานร่วมกันเพื่อปรับปรุงแบตเตอรี่ให้ดีขึ้น โดยเน้นหนักที่เทคโนโลยีลิเธียมแอร์ (Lithium Air) เพื่อให้แบตเตอรี่ที่ใช้ขับเคลื่อนรถยนต์และรถประจำทางสามารถเพิ่มความหนาแน่นของพลังงานได้มากถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนซึ่งใช้ในรถไฟฟ้าและรถไฮบริดในปัจจุบัน
เนื่องจากแบตเตอรี่รุ่นใหม่นี้จะมีน้ำหนักเบากว่า ปลอดภัยกว่า และราคาถูกกว่า ดังนั้นเราจึงอาจเห็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 4 ที่นั่งสามารถวิ่งได้หลายร้อยไมล์ต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง  และแทนที่จะต้องเติมน้ำมันที่ปั๊มน้ำมัน รถยนต์เหล่านี้จะสามารถชาร์จไฟที่บ้านโดยใช้เต้าเสียบปลั๊กไฟรุ่นใหม่
ความพยายามต่อเรื่องดังกล่าวต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของไอบีเอ็มและองค์กรพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านวัสดุศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี เคมีสีเขียว (Green Chemistry) และซูเปอร์คอมพิวติ้ง เป็นต้น
 

พลังงานลมและพลังงานทางเลือกอื่นๆ  จะช่วยขับเคลื่อนรถยนต์ของคุณ

ในอีก 5 ปีข้างหน้า รถไฟฟ้าจะเริ่มใช้พลังงานทางเลือกอื่น ๆ เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อขับเคลื่อนรถยนต์และรถประจำทางแทนการใช้ก๊าซ  นั่นหมายถึง รถยนต์ทุกคันภายในเมือง ตั้งแต่รถประจำทางไปจนถึงรถเก็บขยะ สามารถใช้ “เชื้อเพลิง” จากพลังงานส่วนเกินที่ได้มาจากแผงโซลาร์เซลล์ หรือพลังงานลมได้
ล่าสุด ไอบีเอ็มและทีมงานที่ร่วมมือด้านการวิจัย ‘เอดิสัน’ ของประเทศเดนมาร์ก (EDISON Research Consortium) กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ เพื่อรองรับการใช้รถไฟฟ้าจำนวนมากที่ใช้พลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน
ปัจจุบัน ในเกาะบอร์นโฮล์ม (Bornholm) ของประเทศเดนมาร์ก มีการใช้งานพลังงานลมด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่ใช้พลังงานลมเป็นส่วนใหญ่ โดยทีมงานได้สร้างระบบทดสอบเพื่อศึกษาว่าระบบพลังงานดังกล่าวจะทำงานอย่างไรเมื่อรถไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนั้น นักวิจัยจากไอบีเอ็ม เดนมาร์ก และจากศูนย์วิจัยของไอบีเอ็มที่เมืองซูริค กำลังประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีอัจฉริยะที่เชื่อมโยงการชาร์จไฟสำหรับรถไฟฟ้าเข้ากับส่วนของพลังงานลมภายในโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้าเช่นเดียวกัน

sianbun on January 16, 2010, 04:30:03 PM
เมืองต่างๆ  จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงยิ่งขึ้น
 


เมืองต่างๆ  จะยังคงเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่ติดต่อถึงกันได้ แต่ในอนาคต เมื่อโรคติดต่อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ แสดงสัญญาณการระบาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะสามารถป้องกันไม่ให้โรคไข้หวัดใหญ่หรือโรคระบาดอื่น ๆ มีโอกาสแพร่เข้าสู่โรงเรียน สถานที่ทำงาน หรือระบบขนส่งสาธารณะได้ 


ปัจจุบัน กฎหมายในหลาย ๆ ประเทศกำหนดให้การรายงานเรื่องการแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่มีความสำคัญ ๆ กับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การรายงานเรื่องโรคระบาดที่ทำกันส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มักทำโดยผ่านโทรสาร ตารางสเปรดชีต หรือโทรศัพท์ ขณะที่ระบบสาธารณสุขต้องการข้อมูลที่เกือบเรียลไทม์เพื่อตอบสนองต่อการเกิดโรคติดต่ออย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้วิธีรายงานข้อมูลในปัจจุบันยังถือว่าเชื่องช้าและขาดประสิทธิภาพมาก และในหลายๆ กรณีแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเลยก็ว่าได้ 


คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีจะช่วยให้เมืองต่างๆ ติดตามและต่อสู้กับโรคร้ายได้ดียิ่งขึ้น

ในอนาคต เจ้าหน้าที่ของเมืองต่างๆ จะใช้ประโยชน์จากนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ในการตรวจหาโรคระบาดที่เกิดขึ้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ H1N1 เพื่อวางแผนเตรียมพร้อมการปฏิบัติงานในหลาย ๆ ด้าน โดยเทคโนโลยีจะช่วยให้รัฐบาล โรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ หาแนวโน้มและรูปแบบของการระบาด เพื่อรองรับการตัดสินใจว่าบริเวณที่อยู่อาศัยแต่ละจุดจะมีแนวโน้มการติดเชื้อสูงสุด ณ เวลาใด และนำเอา “ข้อมูลเชิงลึกทางการแพทย์” นั้นไปใช้ปรับปรุงระบบสาธารณสุข ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่จะสามารถวางแผนว่าต้องใช้แพทย์กี่คนในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง และจำเป็นต้องสำรองยาไว้มากน้อยแค่ไหน หรือต้องจัดเตรียมบุคลากรและเครื่องมือมากน้อยเพียงใดสำหรับรองรับผู้ป่วยที่มีอาการเข้าขั้นวิกฤต เป็นต้น 


การถือกำเนิด  “อินเทอร์เน็ตเพื่อสุขภาพ”

ปัจจุบัน ถึงแม้จะมีเครื่องมือในการตรวจสอบติดตามโรคติดต่อ แต่เรากำลังจะได้เห็น “อินเทอร์เน็ตเพื่อสุขภาพ” เกิดขึ้น โดยข้อมูลทางการแพทย์ที่อยู่ในเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ จะเชื่อมโยงประสานกันระหว่างโรงพยาบาล องค์กรเวชภัณฑ์ บริษัทที่มีการใช้แรงงาน ชุมชน และหน่วยงานราชการ เพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อ และช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันเจ้าหน้าที่ของรัฐจะใช้ศักยภาพและความสามารถด้านการวิเคราะห์ ควบคู่ไปกับนโยบายการปกป้องความเป็นส่วนตัวและข้อมูลเฉพาะของผู้ป่วย เพื่อสร้างระบบสาธารณสุขที่ฉลาดและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ระบบที่ว่านี้จะสามารถคาดการณ์วิธีการระบาดของโรค ระดับของการดูแลรักษาที่จำเป็น และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต
 


“การสร้างแบบจำลอง” ของโรคเพื่อขจัดการแพร่ระบาด

เช่นเดียวกับระบบการบอกพิกัดหรือระบบ GPS ในปัจจุบัน ที่ช่วยให้คุณค้นหาโรงภาพยนตร์หรือร้านหนังสือที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ ในอนาคตอันใกล้ “โปรแกรมสร้างแบบจำลอง” ของโรคติดต่อจะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนกลางจากเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ แผนที่เส้นทาง ที่ตั้งสนามบิน รูปแบบการเดินทาง หรือแม้กระทั่งเส้นทางการอพยพของนก เพื่อคาดการณ์การระบาดของโรคติดต่อในมนุษย์ สัตว์ หรือแม้แต่โรคที่เกิดจากอาหาร หนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในเรื่องดังกล่าว คือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์อันทรงพลังเพื่อทำให้การวิเคราะห์นี้สามารถคาดการณ์ว่าโรคจะระบาดอย่างไรในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ หรือการระบาดจะเชื่อมโยงกับการระบาดใดในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งช่วยให้คาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าประชากรกลุ่มใดจะมีความเสี่ยงมากที่สุด นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังจะสามารถทราบล่วงหน้าได้อีกว่า วิธีการที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ในช่วงระยะเวลาเท่าใด ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวนี้เอง ยังช่วยให้บริษัทยาสามารถคาดการณ์เกี่ยวกับความต้องการยาและวัคซีนในอนาคตต่อไปได้อีกด้วย


ข้อมูลวิเคราะห์ดังกล่าว ช่วยให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสาธารณสุขสามารถสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อกำหนดมาตรการสำหรับรับมือกับโรคระบาด ช่วยวิเคราะห์หาวัคซีนหรือยาปฏิชีวนะที่ใช้กับกลุ่มคนในวัยต่างๆ ดูแนวโน้มว่าควรจะปิดโรงเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่ระบาดเร็วขึ้นหรือไม่ หรือว่าเราควรจะควบคุมการเข้าออกของประชากรในช่วงเวลาใดภายในเมือง นอกจากนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่จะสามารถใช้แผนที่ดิจิตอลเพื่อติดตามโรคที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ โดยอ้างอิงข้อมูลที่ไม่เปิดเผยชื่อที่อยู่ในเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกด้วย 


ในปัจจุบัน  มีความร่วมมือในหลาย ๆ ด้าน ผ่านโครงการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 


กลุ่มความร่วมมือแห่งตะวันออกกลางเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อ

ไอบีเอ็มร่วมมือกับโครงการริเริ่มด้านสุขภาพและความปลอดภัยของโลก (Global Health and Security Initiative) ของ Nuclear Threat Initiative (NTI) และกลุ่มความร่วมมือแห่งตะวันออกกลางเพื่อการเฝ้าระวังโรคติดต่อ (Middle East Consortium on Infectious Disease Surveillance - MECIDS) พัฒนาเทคโนโลยีที่จะใช้เป็นมาตรฐานเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ และทำให้การวิเคราะห์การระบาดของโรคติดต่อทำได้ผ่านระบบอัตโนมัติ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้การควบคุมโรคสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
ระบบพอร์ทัลบนเว็บ Public Health Information Affinity Domain (PHIAD) ที่มีความปลอดภัยได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในตะวันออกกลางเป็นแห่งแรก และขณะนี้องค์กรต่าง ๆ ที่ร่วมงานในโครงการดังกล่าวพกำลังผลักดันให้มีการนำระบบนี้ไปใช้อย่างแพร่หลายในระดับสากล
เทคโนโลยีช่วยจัดหาเครื่องมือที่ช่วยรองรับการตัดสินใจอย่างเหมาะสม เพื่อช่วยให้องค์กรสาธารณสุขสามารถรับมือการระบาดของโรคติดเชื้ออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดข้ามพรมแดนทางภูมิศาสตร์หรือระหว่างประเทศก็ตาม ล่าสุด ระบบ PHIAD จะใช้ข้อมูลที่เกือบเรียลไทม์ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับมือกับสถานการณ์ และเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศทำได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของคนไข้ให้สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาเดียวกัน
ด้วยระบบ PHIAD นี้เอง นักวิจัยของไอบีเอ็มในศูนย์วิจัยที่อัลมาเดนและไฮฟา จะลดงานที่ยุ่งยากและต้องใช้เวลานาน โดยการสร้างแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถให้ความสำคัญกับงานสำคัญๆ เช่น การตรวจหาแนวโน้มทางด้านสาธารณสุขที่จะเกิดขึ้น การระบุแนวโน้มการระบาดของโรคติดต่อ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อน เป็นต้น
มาตรการริเริ่มด้านสุขภาพและความปลอดภัยของโลกของ NTI จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดเชื้อในตะวันออกกลาง รวมถึงอิสราเอล จอร์แดน และปาเลสไตน์ การร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการนี้เกิดขึ้นและดำเนินอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคดังกล่าวเมื่อมีการตรวจพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในอดีตเป็นครั้งแรก MECIDS ช่วยให้การสื่อสารและการประสานงานเพื่อควบคุมการระบาดของโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นแล้ว ความร่วมมือในด้านดังกล่าวยังคงดำเนินและขยายตัวต่อไป ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองในบริเวณดังกล่าว MECIDS มีส่วนร่วมในการพัฒนา PHIAD และจะเป็นผู้ปรับใช้เทคโนโลยีนี้เป็นกลุ่มแรก
การเปลี่ยนไปใช้รูปแบบมาตรฐานสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัย ซึ่งผสานรวมกับการรายงานด้านสาธารณสุขเข้ากับการสร้างบันทึกข้อมูลด้านการรักษาพยาบาล จะทำให้สมาชิกสามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญเพื่อติดตามตรวจสอบและตอบสนองต่อแนวโน้มการระบาด นอกจากนั้น ข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้จะถูกป้อนเข้าสู่ Spatio Temporal Epidemiological Modeler ซึ่งเป็นระบบการสร้างแบบจำลองการระบาดของโรคที่ไอบีเอ็มได้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถกำหนดกลยุทธ์การป้องกันการแพร่ระบาดและสร้างแบบจำลองสำหรับการคาดการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

ระบบสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยดุ๊ค (Duke University Health System)

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อมีภาวะขาดแคลนวัคซีน H1N1 เกิดขึ้น การค้นหาว่าคนกลุ่มใดต้องการวัคซีนมากที่สุด แม้แต่ภายในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงนับเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้วนี้เอง ระบบสาธารณสุขของมหาวิทยาดุ๊คได้ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ของไอบีเอ็มเพื่อคัดกรองเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วย 20 ล้านคน และคัดเลือกผู้ป่วยโดยอ้างอิงจากประวัติการรักษาพยาบาลและการเจ็บป่วยเรื้อรัง และค้นหาผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กที่มีภาวะหายใจลำบาก หรือสตรีมีครรภ์ ให้เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการฉีดวัคซีนก่อน
การใช้อีเมลที่รวบรวมในพอร์ทัลผู้ป่วยของมหาวิทยาลัยดุ๊ค ทำให้ทางมหาวิทยาลัยสามารถแจ้งเตือนผู้ป่วยได้ทันทีเมื่อวัคซีน H1N1 มีความพร้อมต่อการใช้งาน
เนื่องจากการระบาดของไข้หวัดตามฤดูกาล มหาวิทยาลัยดุ๊คได้ใช้พอร์ทัลผู้ป่วยในการติดต่อกับผู้ป่วยกว่า 250,000 คนด้วยอีเมลที่จัดทำขึ้นเฉพาะบุคคล เพื่อให้ข้อมูลและคำปรึกษาในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัด เช่น การให้ข้อมูลในการพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นไข้หวัดหรือไม่ หรือการเผยแพร่ข้อพึงปฏิบัติในการรับมือกับไข้หวัด และการให้ข้อมูลเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับไข้หวัดอื่น ๆ เป็นต้น
ช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยดุ๊คยังใช้พอร์ทัลดังกล่าวเพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนการนัดหมายถึงผู้ป่วยกว่า 2.5 ล้านครั้ง ซึ่งช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่ไม่มาพบแพทย์ตามนัด และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก
 

การรับส่งข้อความช่วยชีวิตผู้คนจากการระบาดของโรคมาเลเรียในแอฟริกา

แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโรคมาเลเรียมากกว่า 1 ล้านคนในแอฟริกา ขณะที่ภาครัฐและองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ ใช้จ่ายเงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายยาต้านมาเลเรียที่มีประสิทธิภาพให้แก่ศูนย์สาธารณสุขท้องถิ่น แต่บ่อยครั้งความพยายามเหล่านี้ล้มเหลว มีผลทำให้สตรีมีครรภ์และเด็กเล็กเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งบั่นทอนศักยภาพการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจในแอฟริกา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเสียชีวิตจากโรคมาเลเรียมากที่สุดในโลก
ปัจจุบัน การรับส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือกำลังช่วยชีวิตผู้คนจากการระบาดของโรคมาเลเรียผ่านโครงการใหม่ที่ชื่อว่า “SMS เพื่อชีวิต” (SMS for Life) ที่ริเริ่มโดยไอบีเอ็ม, โนวาร์ทิส และโวดาโฟน ซึ่งร่วมมือกับหน่วยงานกลุ่มความร่วมมือ Roll Back Malaria Partnership โครงการนี้ใช้ประโยชน์จากการผสมผสานเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ การรับส่งข้อความ และเว็บไซต์ ในการติดตามและจัดการเกี่ยวกับการจัดหายาต้านมาเลเรีย เพื่อปรับปรุงการบริหารสต็อกยาเพื่อรักษาชีวิต โดยโซลูชั่นที่เกี่ยวข้องกับการรับส่งข้อความ SMS และการจัดทำแผนที่อิเล็กทรอนิกส์ ถูกนำมาใช้เพื่อจัดส่ง ติดตาม ตรวจสอบย้อนกลับ และจัดการกับระบบซัพพลายของยาในเขตตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานในหมู่บ้าน 135 แห่งในแทนซาเนีย ได้รับข้อความ SMS ที่แจ้งเตือนให้ตรวจสอบสต็อกยาต้านมาเลเรียที่เหลืออยู่ในแต่ละสัปดาห์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใช้หมายเลขโทรฟรีส่งข้อความตอบกลับเกี่ยวกับสต็อกยาปัจจุบันผ่าน SMS และจะมีการจัดส่งยาให้ ก่อนที่ยาในศูนย์สาธารณสุขท้องถิ่นจะหมด ผลปรากฏว่าระหว่างช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของโครงการนี้ จำนวนคลินิกสุขภาพที่ขาดแคลนยาลดลงถึง 75%

sianbun on January 16, 2010, 04:30:27 PM
เมืองต่างๆ  จะตอบสนองต่อวิกฤตการณ์ได้อย่างทันท่วงที  ก่อนที่จะได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน


ในอีก 5 ปีข้างหน้า เมืองต่างๆ จะสามารถป้องกันอาชญากรรมและภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ด้วยประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในการตรวจจับและคาดการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามและเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น: 


การรักษาความสงบเรียบร้อยโดยอาศัยการคาดการณ์ล่วงหน้า

ปัจจุบัน กรมตำรวจประจำเมืองเอ็ดมอนตัน ประเทศแคนาดา (Edmonton Police Services) ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจของไอบีเอ็ม เพื่อช่วยลดจำนวนอาชญากรรม เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน และความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับไอบีเอ็ม หน่วยงานดังกล่าวฯ ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อดูข้อมูลที่ใกล้เคียงเวลาจริงหรือเกือบจะเป็นข้อมูลเรียลไทม์ และส่งข้อมูลเรื่องอาชญากรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่กำลังออกตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อยโดยตรง หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อระบุปัญหา แนวโน้มที่เกี่ยวข้อง และสถานที่เกิดอาชญากรรม เพื่อหาวิธีรับมือและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ หน่วยงานดังกล่าวยังสามารถประเมินผลและตรวจสอบระยะเวลาในการตอบสนองเมื่อได้รับการแจ้งเหตุ เช่น ความล่าช้าในการจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปยังสถานที่เกิดเหตุ และระยะเวลาเดินทาง เพื่อระบุปัญหาที่มีผลกระทบต่อเวลาที่ใช้การตอบสนองโดยรวม  ด้วยเทคโนโลยีดังกล่าวนี้ จะช่วยให้ตำรวจสามารถประเมินผลการปฏิบัติงานในระยะยาว รวมถึงผลการปฏิบัติงานในแต่ละวันเพื่อหาทางปรับปรุงการทำงานให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพดีขึ้นอีกด้วย
โซลูชั่นการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยอาศัยการคาดการณ์ล่วงหน้า (Predictive Policing) เช่น ระบบวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรม ได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก เพราะเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยให้ผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่หน่วยลาดตระเวนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลประวัติที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น การกระทำความผิด การจับกุม และบันทึกการแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย เพื่อระบุแบบแผนและอัตราการเกิดอาชญากรรมได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น การเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็วนี้เอง ช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น และทำการตัดสินใจได้อย่างทันท่วงทีเพื่อรับมือกับอาชญากรรมทุกรูปแบบ
ระบบวิเคราะห์ข้อมูลอาชญากรรมของไอบีเอ็มช่วยให้หน่วยงานตำรวจได้รับข้อมูลที่ถูกต้องภายในเวลาที่เหมาะสม แม้กระทั่งก่อนที่จะมีการก่ออาชญากรรมเสียอีก ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาในพื้นที่สามารถดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือกับแนวโน้มและปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่การก่ออาชญากรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 

ระบบดับเพลิงอัจฉริยะ  - FDNY

หน่วยดับเพลิงแห่งนครนิวยอร์ก (Fire Department of the City of New York - FDNY) ได้ไว้วางใจให้ไอบีเอ็มช่วยพัฒนาระบบที่ทันสมัยสำหรับการเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลร่วมกันในแบบเรียลไทม์ เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ และคุ้มครองเจ้าหน้าที่ดับเพลิง รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยอื่นๆ เมื่อมีเหตุเพลิงไหม้เกิดขึ้น
ระบบวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบอาคาร (Coordinated Building Inspection and Data Analysis System - CBIDAS) ของ FDNY จะใช้เทคโนโลยีบิสซิเนส อินเทลลิเจนซ์ (Business Intelligence) รวมถึงการสร้างแบบจำลองการคาดการณ์ และระบบวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เพื่อคาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับความเสี่ยงของอัคคีภัย และช่วยวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยปรับปรุงกระบวนการที่ช่วยลดความเสี่ยง เช่น การเก็บรวบรวมและการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจสอบอาคาร ใบอนุญาต และการทำผิดกฏหมายในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
โครงการนี้ ช่วยปรับปรุงการติดต่อสื่อสาร การใช้ข้อมูลร่วมกัน และการประสานงานเกี่ยวกับการตรวจสอบเพลิงไหม้ และข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างอาคาร/สถานที่เกิดเหตุ ภายในแผนกต่างๆ ของ FDNY รวมทั้งระหว่าง FDNY กับหน่วยงานอื่นๆ ในนครนิวยอร์ก เช่น หน่วยงานโยธา หน่วยงานผังเมือง และหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และผู้รับเหมาก่อสร้าง เป็นต้น
โครงการปฏิรูปหน่วยงาน FDNY จะช่วยปรับปรุงความสามารถในการป้องกันอัคคีภัย โดยอาศัยการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับอาคารสถานที่อย่างครบวงจร การปรับปรุงการใช้ทรัพยากรเพื่อการตรวจสอบ การวิเคราะห์เกี่ยวกับการจัดการและการวางแผนเกี่ยวกับความพร้อม รวมถึงระบบตรวจสอบความเสี่ยงสำหรับการตรวจสอบในภาคสนาม
 

ระบบดับเพลิงอัจฉริยะ – การรับมือกับไฟป่า (Smart Firefighting – Forest Fires)

ศูนย์ประสานงานด้านอัคคีภัยแห่งชาติของสหรัฐฯ (U.S. National Interagency Fire Center) ระบุว่า ไฟป่าเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายอย่างมากต่ออาคารพาณิชย์ บ้านพักอาศัย และประชาชน  เฉพาะในปี 2552 ที่ผ่านมา มีไฟป่าเกิดขึ้นกว่า 76,000 ครั้ง และเผาผลาญพื้นที่ป่าไปประมาณ 5.8 ล้านเอเคอร์
รายงานตรวจสอบอัคคีภัยประจำปี 2552 ของหน่วยงานดังกล่าวชี้ว่า ภัยคุกคามจากไฟป่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสภาวะที่แห้งแล้งมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น
ไอบีเอ็มทำงานร่วมกับนักวิจัยของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อประมวลผลข้อมูลสำหรับการคาดการณ์ทางด้านไฟป่า โดยลดการถ่วงเวลา (Delay) จากเดิมที่มีการประมวลผลทุกๆ 6 ชั่วโมง ให้สามารถประมวลผลได้ในแบบเรียลไทม์ในปัจจุบัน ซึ่งความสามารถดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังช่วยปรับปรุงการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการอพยพประชาชนและการแจ้งเตือนเรื่องสุขภาพได้อีกด้วย
นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ บัลติมอร์ เคาน์ตี้ (University of Maryland, Baltimore County - UMBC) ใช้เทคโนโลยีของไอบีเอ็มเพื่อวิเคราะห์รูปแบบของควันไฟในระหว่างที่เกิดไฟไหม้ป่า  เป้าหมายของงานวิจัยนี้ทำขึ้นคือ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงและหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยสามารถประเมินเหตุเพลิงไหม้ได้ในแบบเรียลไทม์ และช่วยให้การตัดสินใจทำได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการอพยพประชาชนและการแจ้งเตือนเรื่องสุขภาพ
นอกจากนี้ ไอบีเอ็มยังได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาระบบที่ใช้ในการวางแผนรับมืออัคคีภัย การจัดสรรงบประมาณสำหรับหน่วยงาน 5 แห่งที่ดูแลเรื่องไฟป่าทั่วประเทศ  โครงการวิเคราะห์ข้อมูลไฟป่า (Fire Program Analysis - FPA) ดังกล่าวนี้ช่วยให้กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตร, สำนักงานจัดการที่ดิน กระทรวงมหาดไทย, กรมอุทยานแห่งชาติ, กรมประมงและสัตว์ป่า และสำนักงานกิจการของชนเผ่าอินเดียนแดง มีระบบที่ใช้งานร่วมกันสำหรับการวิเคราะห์ วางแผน และจัดสรรงบประมาณเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับไฟป่า
ระบบใหม่นี้ช่วยแสดงทางเลือกในการใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด (เช่น รถดับเพลิง เรือดับเพลิง เฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ) สำหรับการดับไฟป่า รวมถึงการคำนวณจำนวนพื้นที่ที่สามารถคุ้มครองหรือปรับปรุงที่มีผลจากไฟป่า ภายใต้งบประมาณที่แตกต่างกันได้อีกด้วย
 

ระบบควบคุมอุทกภัยแบบอัจฉริยะ (Smart Flood Control)

ความเสียหายจากอุทกภัยในปัจจุบันจะกลายเป็นอดีต เพราะเมืองต่างๆ ในอนาคตจะพัฒนาระบบตรวจสอบและแจ้งเตือนเกี่ยวกับเขื่อนเพื่อกันน้ำท่วม ซึ่งครอบคลุมระบบที่ทำงานระยะไกลในแบบเรียลไทม์
เซนเซอร์อัจฉริยะจะถูกติดตั้งบนเขื่อนกันน้ำท่วมตลอดแนวชายฝั่งและแม่น้ำลำคลอง เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลสำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยในการคาดการณ์และป้องกันก่อนที่อุทกภัยจะเกิดขึ้น
กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลและที่ราบลุ่มแม่น้ำมีความเสี่ยงสูงที่จะประสบเหตุอุทกภัยกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภายใน เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน  ทั้งนี้ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เช่น 40 สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และจีน ในปัจจุบัน ต้องรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นจากคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge), น้ำล้นตลิ่ง และช่วงเวลาที่มีฝนตกหนัก
ศูนย์จัดการน้ำระดับโลก (Global Center for Water Management) ของไอบีเอ็ม ซึ่งตั้งอยู่ที่นครอัมสเตอร์ดัม กำลังบุกเบิกการใช้เซนเซอร์เพื่อตรวจสอบสภาวะของเขื่อนกันน้ำท่วมในแบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในโลกที่มีการดำเนินโครงการในลักษณะดังกล่าว
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ในโครงการดังกล่าว มีการทดลองโดยการพังเขื่อนกันน้ำภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อวัดค่าในด้านต่าง ๆ ถึง 32 ล้านรายการ โดยกิจกรรมดังกล่าวทำขึ้นโดยครอบคลุมการวัดแรงดันน้ำ อุณหภูมิ และความเคลื่อนไหว และช่วยเพิ่มความสามารถในการคาดการณ์ว่าเขื่อนกันน้ำท่วมจะสามารถรับแรงดันได้มากเท่าใดก่อนที่จะพังทลาย ซี่งประโยชน์ที่ได้จากการทดลองดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดหรือป้องกันความเสียหายจากเหตุอุทกภัยในอนาคตได้

sianbun on January 16, 2010, 04:31:01 PM
อาคารต่างๆ  จะสามารถรับรู้และตอบสนองได้เหมือนกับสิ่งมีชีวิต
 


ด้วยจำนวนผู้คนที่เข้าพักอาศัยและทำงานตามอาคารสูงๆ ในเมืองใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ การสร้างและพัฒนาระบบให้กับอาคารต่างๆ จึงเกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่ชาญฉลาด ปัจจุบันระบบต่างๆที่อยู่ภายตัวอาคาร เช่น ระบบปรับอากาศ ระบบประปา ระบบท่อระบายน้ำ ระบบไฟฟ้า ฯลฯ ต่างทำงานแยกส่วนจากกัน นอกเหนือจากนั้นในแต่ละปี อาคารเหล่านี้ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่บรรยากาศมากกว่ารถยนต์เสียอีก


ในอนาคต ระบบต่าง ๆ ภายในอาคารจะทำงานเชื่อมโยงประสานกันแบบรวมศูนย์ เทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการสำนักงาน อพาร์ทเมนต์ บ้าน คลังสินค้า และโรงงานทุกประเภท จะทำงานได้ราวกับเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถรับรู้และตอบสนองมนุษย์ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อปกป้องผู้คนที่พักอาศัยหรือทำงานภายในอาคารให้มีความปลอดภัย อีกทั้งยังช่วยประหยัดทรัพยากร และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย


นอกจากนั้นแล้ว

ในอนาคต อาคารเก่าที่มีมาอยู่แต่เดิมจะได้รับการบูรณะปรับปรุง ในขณะที่อาคารสมัยใหม่ จะได้รับการพัฒนาด้วยระบบประหยัดพลังงานที่เชื่อมโยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำงานเชื่อมโยงร่วมกันได้อย่างชาญฉลาด
ทุกสิ่งภายในอาคาร ตั้งแต่เรื่องของอุณหภูมิ ไฟฟ้า การระบายอากาศ ไปจนถึงการจัดการระบบน้ำ การจัดการขยะ ระบบโทรคมนาคม และระบบรักษาความปลอดภัย จะมีการผนวกรวมเข้าด้วยกันเพื่อการบริหารจัดการและควบคุมที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
เซนเซอร์หลายพันตัวภายในอาคารจะควบคุมตรวจสอบทุกสิ่งภายในอาคาร ตั้งแต่ความเคลื่อนไหวและอุณหภูมิ ไปจนถึงความชื้น การเข้าใช้พื้นที่ และแสงสว่าง
อาคารต่างๆ จะไม่ได้เพียงอยู่ร่วมและทำงานเกี่ยวโยงกับธรรมชาติ แต่จะมีการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเหมาะสมอีกด้วย
ระบบอัจฉริยะภายในอาคารจะช่วยเตือนให้การซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่างๆ สามารถทำได้ก่อนที่จะเกิดการชำรุดเสียหาย นอกจากนั้น ระบบดังกล่าว ยังช่วยให้หน่วยฉุกเฉินสามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างฉับไว อีกทั้งเจ้าของและผู้ใช้งานภายในอาคารยังสามารถตรวจสอบระดับการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอาคารได้ในแบบเรียลไทม์ และดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงที
 

ปัจจุบัน อาคารบางแห่งได้มีการใช้ระบบอัจฉริยะบ้างแล้ว ด้วยการใช้ระบบที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้พื้นที่ภายในอาคาร ตัวอย่างเช่น: 


โรงแรมไชน่า หังโจว ดราก้อน (China Hangzhou Dragon Hotel) ที่ได้ไว้วางใจให้ไอบีเอ็มพัฒนาระบบจัดการโรงแรมที่เชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันอย่างอัจฉริยะ โดยการพัฒนาระบบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการปฏิรูปโรงแรมให้โรงแรมกลายเป็น “โรงแรมอัจฉริยะ”  ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ไอบีเอ็มจะผนวกรวมระบบสำคัญๆ ของทางโรงแรม เช่น ระบบบริหารจัดการโรงแรม ระบบสื่อสาร และศูนย์บริการแบบครบวงจร ซึ่งครอบคลุมอุปกรณ์พีดีเอ, ตู้บริการเช็คอิน, โทรทัศน์แบบอินเทอร์แอคทีฟ, ระบบป้ายระบุโดยใช้คลื่นความถี่วิทยุ (Radio Frequency Identification - RFID), โทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต, ระบบโทรศัพท์มือถือ และระบบควบคุมห้องพัก ให้ทำงานอย่างประสานกัน 


อาคารเซเว่น เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (7 World Trade Center) ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งหมด 52 ชั้นและเปิดใช้งานเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมา และได้รับการยอมรับจากหน่วยงานปกป้องสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการ ”อาคารสีเขียว” ของสหรัฐฯ และหน่วยงานอื่นๆ  ว่าเป็น ”อาคารสีเขียว” แห่งแรกของนิวยอร์กซิตี้ อาคารแห่งนี้มีระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ภายในอาคารมากมาย เช่น ระบบการปรับอุณหภูมิภายในอาคารด้วยคอมพิวเตอร์ ระบบท่อประปาที่มีประสิทธิภาพสูง ระบบกรองอากาศสำหรับปรับปรุงคุณภาพของอากาศภายในอาคาร ระบบอนุรักษ์น้ำสำหรับกักเก็บน้ำฝนเพื่อใช้ในการระบายความร้อนและรดน้ำต้นไม้  อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระบบควบคุมปริมาณแสงไฟ พัดลมที่ปรับความเร็วแบบแปรผัน และเครื่องปั่นไฟจากไอน้ำ เป็นต้น ซึ่งระบบต่าง ๆ นี้เอง ช่วยให้อาคารสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้อย่างมาก   


ตัวอย่างอีกประการหนึ่งของการปรับปรุงอาคารที่มีอยู่แล้วก็คือ อาคารเพอร์รี่ อเวนิว (Perry Avenue Building) ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์อุตสาหกรรมสีเขียวแบบหลายชั้นหลังแรกๆ ของสหรัฐฯ โดยตั้งอยู่ที่เขตบรู๊คลิน นาวาล ยาร์ด (Brooklyn Naval Yard) และเปิดใช้งานเมื่อปี 2552  อาคารแห่งนี้ประกอบด้วยกังหันลมสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไว้บนหลังคา และวัสดุปูหลังคาแบบสะท้อนแสงซึ่งช่วยลดอุณหภูมิที่พื้นผิว  นอกจากนี้ยังมีการนำเอาน้ำฝนไปใช้ในห้องน้ำ และมีที่จอดรถพิเศษสำหรับรถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำกว่ารถยนต์ทั่วไป และฟังก์ชั่นการทำงานทั้งหมดภายในอาคารแห่งนี้ได้รับการผนวกรวม จัดการ และตรวจสอบดูแลโดยใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เป็นต้น