news on March 07, 2018, 03:09:04 PM
ก.วิทย์ฯ-สวทช. ผนึก กรมวิชาการเกษตร เมียนมาร์ สร้างเครือข่ายนักวิจัย พัฒนาพันธุ์ข้าวประเทศลุ่มน้ำโขง เพิ่มขีดความสามารถอาเซียน


ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ.สวทช. (ที่2จากขวา) และ นาย Naing Kyi Win อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เมียนมาร์ (ที่2จากซ้าย) ร่วมลงนามความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาการเกษตร



ความร่วมมือระหว่าง สวทช. และ กรมวิชาการเกษตร เมียนมาร์


ดร. สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผอ.ไบโอเทค สวทช. ชมพันธุ์ข้าวสายพันธุ์ต่างๆในธนาคารเมล็ดพันธุ์


(5 มีนาคม 2561) ที่กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ : ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และ นาย Naing Kyi Win อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (Director General, Department of Agricultural Research, DAR) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัย เพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนา สร้างขีดความสามารถ และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรของ 2 หน่วยงาน สืบเนื่องจากการดำเนินโครงการความร่วมมือของ สวทช. กับประชาคมลุ่มน้ำโขงในการใช้เทคโนโลยีชีวภาพและด้านจีโนม ในการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าวประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยมี ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดานักวิจัยอาวุโส หน่วยวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืช ไบโอเทค สวทช.และ นาย Thant Lwin Oo รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เมียนมาร์ ร่วมเป็นสักขีพยาน

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช.กล่าวว่า สืบเนื่องจากประเทศสมาชิกของอาเซียนยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการก้าวไปสู่ตลาดการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ดังนั้นสวทช. โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2544 เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านเทคโนโลยีชีวภาพสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงส่งเสริมการสร้างเครือข่ายนักวิจัยในภูมิภาค เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์ของภูมิภาคอาเซียนในปี 2563 ที่ต้องการขับเคลื่อนการแข่งขันทางเทคโนโลยี ทั้งในเชิงกลยุทธ์ และการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ เพื่อเสริมขีดความสามารถของประเทศเพื่อนบ้านให้ก้าวหน้าและเติบโตไปด้วยกัน


ตัวอย่างพันธุ์ข้าว


พันธุ์ข้าวสายพันธุ์ต่างๆ


พันธุ์ข้าวหลากหลายสายพันธุ์


“โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการที่ศูนย์ไบโอเทค สวทช. ผลักดันให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของภูมิภาค และช่วยสร้างความสามารถทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้กับภูมิภาคอาเซียน โดยการให้ทุนสำหรับนักวิจัยเพื่อทำวิจัยในห้องปฏิบัติการวิจัยของไบโอเทค สวทช. เป็นเวลา 3-6 เดือน หลักสูตรฝึกอบรมเน้นการให้ความรู้พื้นฐานทางเทคโนโลยีชีวภาพและการปฏิบัติจริง โดยมีนักวิจัยพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในการทำโครงการวิจัยกว่า 16 ปี มีนักวิจัยชาวต่างชาติได้ทุน 179 ทุน โดยจำนวนหนึ่งได้ทุนการศึกษาขั้นสูงเรียนต่อในประเทศต่างๆ นอกจากนั้นแล้วนักวิจัยที่จบการศึกษาแล้วกลับไปทำงานที่สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยต้นสังกัดในประเทศต่างๆ ยังสร้างความร่วมมือใหม่ๆ กับนักวิจัยไบโอเทค สวทช. อย่างต่อเนื่อง”

ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์ข้าวผ่านการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการที่มีการปฏิบัติงานระยะยาวโดยใช้โจทย์วิจัยของแต่ละประเทศเป็นหัวข้อในการฝึกอบรม การสนับสนุนทุนการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ทดสอบลักษณะสำคัญทางการเกษตรต่างๆ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวและได้รับการรับรองพันธุ์แล้ว จำนวน 3 พันธุ์ คือ 1.พันธุ์ตูก้าหมุย (ThuKha Hmwe) ได้จากการปรับปรุงพันธุ์มานอวตูก้า (Manawthukha) ให้มีคุณภาพการหุงต้มคล้ายพันธุ์บาสมาติ (Basmati) 2.พันธุ์ซ้อลท์ทอลซินทัวแลต (Saltol Sin Thwe Latt) ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ซินทัวแลต (Sin Thwe Latt) ให้ทนเค็ม และ 3.พันธุ์เย็มโยคคาน (Yemyokekhan-3) เป็นข้าวที่มีการปรับตัวต่อสภาพน้ำมากและน้ำน้อยได้ดี ให้มีความหอม และคุณภาพการหุงต้มที่ดีขึ้น

โดยปี 2560 ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ได้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ ประมาณ 2 ตัน เพื่อกระจายให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพให้กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในการบูรณาการทำงานร่วมกันทั้งการพัฒนาบุคลากรและการวิจัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็งด้านการเกษตรอย่างยั่งยืนร่วมกัน

สำหรับความสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัยของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ อาทิ ความร่วมมือในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีผลผลิตสูง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดให้ต้านทานโรคและมีคุณภาพดี การปรับปรุงพันธุ์ข้าวสาลีให้ต้านทานโรค โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือก (Marker Assisted Selection: MAS) เป็นต้น จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต่อไป

ด้าน นาย Naing Kyi Win อธิบดีกรมวิชาการเกษตร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า ด้วยสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์เป็นประเทศพื้นฐานด้านเกษตรกรรม จึงต้องการความช่วยเหลือ การส่งเสริม สนับสนุน และความร่วมมือทางด้านการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงการสร้างความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์พืช ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรได้
ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีลักษณะทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมและเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดกัน ซึ่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์และประเทศไทยมีความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่เด่นชัดมากขึ้นในภูมิภาคนี้ และเพื่อให้เกิดการขยายตัวในเรื่องการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยคำนึงการคุ้มครองสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นการแลกเปลี่ยนสินค้าทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศต้องเร่งเพิ่มการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม เพื่อให้ประเทศในภูมิภาคนี้มีความเข้มแข็งอย่างเป็นหนึ่งเดียวกันในระดับสากล

อธิบดีกรมวิชการเกษตร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวัตถุประสงค์ในความร่วมมือด้านวิชาการและงานวิจัยครั้งนี้ เพื่อร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือในการวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงการสร้างความสามารถของบุคลากรวิจัย (การฝึกอบรมระยะสั้นและระยาวสำหรับบุคลากรระดับปริญาโทและปริญญาเอก) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์พืช อีกทั้งเพื่อสร้างกรอบการทำงานและความร่วมมือในการเก็บรวบรวมและประเมินเชื้อพันธุกรรมของข้าว ข้าวโพด และพืชอื่นๆ โดยอาศัยการจำแนกสายพันธุ์ด้วยเทคโนโลยีฟีโนไทป์และจีโนไทป์ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกันในเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านการวิจัยและนวัตกรรมของทั้งสองประเทศ หรือโครงการต่างๆ ที่มีแผนว่าจะจัดทำขึ้นต่อไปในอนาคต



เยี่ยมชมธนาคารเมล็ดพันธุ์ของเมียนมาร์


เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการวิจัย และพบปะนักวิจัยเมียนมาร์
« Last Edit: March 07, 2018, 03:15:54 PM by news »