MSN on January 30, 2018, 03:28:14 PM
KTAMตั้งเป้าปี61AUMโต8.38แสนล้านปลื้มKTEFครองที่1ผลงาน5ปีทั้งAIMC-Morningstar



นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2560 บริษัทมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2560 อยู่ที่ 714,247 ล้านบาท ลดลง 4.7% หรือประมาณ 35,121 ล้านบาท จากปี 2559 เนื่องจากการยกเลิกโครงการ 3 กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ กองทุน TRIF TCIF และ THIF แต่กำไรของบริษัทสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ และครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในอันดับ 4 ของอุตสาหกรรม

ในปี 2560 กองทุนรวมมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 61,000 ล้านบาทหรือ14% จากการเติบโตของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ( Short Term Fund ) และกองทุนรวมต่างประเทศ ด้านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 1ของอุตสาหกรรม โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ล้านบาท หรือ 32% จากการบริหารกองทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น มูลค่าสินทรัพย์สุทธิของกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท  ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2560 ประกอบด้วย กองทุนรวม 498,192 ล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 86,107 ล้านบาท กองทุนอสังหาริมทรัพย์  83,915 ล้านบาท และกองทุนส่วนบุคคล 46,033  ล้านบาท

ในปีที่ผ่านมา บริษัทประสบความสำเร็จในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนในหลายกองทุน เช่น กองทุนเปิดกรุงไทยสมาร์ทอิควิตี้ ( KTEF ) กองทุนระดับ 5 ดาวจาก Morningstar และเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลังอยู่ในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง สิ้นสุด ณ วันที่ 29  ธันวาคม 2560 ได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 จาก AIMC กลุ่ม Equity General และ Morningstar กลุ่ม Thailand EQ Equity Large-Cap โดยผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี อยู่ที่ 79.32% สูงกว่า Benchmark ซึ่งอยู่ที่ 30.02% ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานของกองทุน

นอกจากนี้  กองทุนต่างประเทศที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปี   ติดอันดับ1ใน3 ของอุตสาหกรรม จากการจัดอันดับของ Morningstar ได้แก่ KT-India  อันดับ1 ของกลุ่ม  Thailand QE Asia Pacific ex-Japan  อยู่ที่ 43.87% ,  KT-Euro  อันดับ1  ของกลุ่ม  Thailand QE  Europe Equity   อยู่ที่ 22.92%   และ KT-GMO อันดับ3 ของกลุ่ม Thailand  QE Global  Allocation  อยู่ที่ 15.72 %   ส่วนกองทุน KT-China  นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน(30มี.ค.60)  อยู่ที่ 20.52%   กองทุน KT-CLMVT   ได้รับการจัดอันดับจาก Morningstar ให้เป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานย้อนหลัง3 เดือน และ6 เดือนอยู่ในอันดับหนึ่งของกลุ่มหุ้นในเอเซีย แปซิฟิก  ยกเว้น ญี่ปุ่น โดย3 เดือนอยู่ที่ 14.76%  และ6 เดือนอยู่ที่ 23.74%  กองทุนนี้สามารถจ่ายปันผลได้อย่างต่อเนื่องทุกเดือน จำนวน 3 ครั้งติดต่อกัน ในอัตราครั้งละ 0.50  บาทต่อหน่วย ซึ่งแต่ละกองทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุน  และได้รับความไว้งวางใจในการให้บริษัทบริหารเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าหมายมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้น 838,000 ล้านบาท หรือประมาณ 18% โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทมีแผนที่จะเปิดจำหน่าย 7 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนที่การจัดสรรรน้ำหนักการลงทุน ( Asset Allocation ) จำนวน 4 กองทุน  ภายใต้ชื่อกองทุน มั่งคั่ง  มีทรัพย์  ศรีศิริ  สุขใจ (มั่งมีศรีสุข)  และ  กองทุนต่างประเทศประเภท Unit Link  จำนวน 3  กองทุน ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขออนุมัติจัดตั้งกองทุนกับก.ล.ต. และยังมีแผนที่จะเปิดจำหน่ายกองทุนอื่นๆอีกมากมาย  โดยบริษัทกำลังดูความเหมาะสม และจังหวะในการเปิดจำหน่าย ซึ่งบริษัทจะคำนึงถึงโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุน ในเดือนแรกของปีนี้ บริษัทประสบความสำเร็จในการเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดเคแทม โกลบอล เครดิต อินคัม ฟันด์ ( KT-GCINCOME) โดยสามารถจำหน่ายกองทุนได้ตามเป้าหมายเต็มมูลค่าโครงการที่กำหนดไว้ 5,000 บาท โดยใช้ระยะเวลาเพียง3วัน

นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทจะเน้นเรื่องการให้นักลงทุนได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น ผ่านช่องทาง Social media เช่น Mobile App ในการซื้อขายหน่วยลงทุน และ Website ใหม่ เป็นต้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้รับการสนับสนุนที่ดีจากธนาคารกรุงไทย มีการทำงานกันอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้กองทุนรวมมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและในปีนี้จะมีการพัฒนาระบบ IT ร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนในการเข้าถึงข้อมูลมากยิ่งขึ้น

แนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( IMF) ได้ปรับประมาณการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3.9% จากเดิมที่ 3.7% โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับประมาณการขึ้นของกลุ่มประเทศที่พัฒนา (DM) แล้ว จากกฎหมายการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ, การฟื้นตัวของอุปสงค์ในยูโรโซน และการกระตุ้นด้านการคลังของญี่ปุ่น ขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (EM) ยังคงมีการเติบโตในระดับสูงเช่นเดิม ทั้งนี้ การที่หลายๆ ประเทศเติบโตขึ้นพร้อมๆ กันเช่นนี้ (Synchronized Growth) ทำให้เกิดประโยชน์จากการเอื้อหนุนซึ่งกันและกัน และยิ่งทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความแข็งแกร่ง ส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ และน่าจะทำให้เงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ ของโลกมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น แต่คาดว่าการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนั้นจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป  และไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ส่วนเศรษฐกิจไทย ยังคงมีโมเมนตัมของการเติบโตที่ดี เป็นผลจากจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก, การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลดีจากวงเงินงบประมาณกลางปีที่เพิ่มขึ้น 1.5 แสนล้านบาท และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ 4.0% ในปีนี้ เป็นการขยายตัวในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา การบริโภคภาคเอกชนน่าจะกลับมาดีขึ้น การใช้จ่ายภาครัฐน่ากลับมาเป็นตัวยืนสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้ออาจจะยังปรับขึ้นไม่มากนัก และปัจจัยกดดันที่สำคัญน่าจะมาจากค่าเงินบาท ซึ่งคาดว่าน่าจะแข็งค่าขึ้นอีกประมาณ 5% ในปีนี้ สู่ระดับ 30.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นปี ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทและอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำนี้ จะกดดันทำให้อัตราดอกเบี้ยทรงตัวที่ 1.5% ตลอดทั้งปี 2561 นี้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นก็ตาม

ตลาดหุ้นยังคงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการลงทุนในปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญที่สนับสนุน ได้แก่ สภาพคล่องในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับที่สูงและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่สินทรัพย์เพื่อการลงทุนอื่น ภาพรวมเศรษฐกิจต่างประเทศและเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ ได้แก่ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ความผันผวนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันดิบ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ โดยภาพรวมของการลงทุนในตลาดหุ้น น่าจะมีความผันผวนมากกว่าปีที่ผ่านมา ภายหลังจากที่ตลาดหุ้นสำคัญๆ มีการปรับขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระยะสั้นก็อาจมีการปรับฐานหรือเกิดแรงขายทำกำไร ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนในปีนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น โดยปรับพอร์ตการลงทุนให้มีการลงทุนที่กระจายตัวทั้งจำนวนหุ้นและกระจายรายกลุ่มอุตสาหกรรม

ดัชนีหุ้นไทยนับตั้งแต่ช่วงปลายเดือนส.ค. 2560 เป็นต้นมา จากระดับ 1560 จุด มีการปรับขึ้นกว่า 250 จุด ในระยะเวลาไม่ถึง 5 เดือน  โดยคาดว่า Downside risk ไม่น่าจะมากนัก แถวๆ1760 จุด แม้ว่าระดับดัชนีฯ ในปัจจุบัน จะอยู่ใกล้กับระดับดัชนีฯ เป้าหมายของ KTAM ที่ประมาณการณ์ไว้ที่ 1900 จุด (PBV 2.1x, PEG1.5x, PE 17.5x ) กลยุทธ์การลงทุนจะเน้นการลงทุนในหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การบริโภค (Domestic play) และการลงทุนภายในประเทศ (การฟื้นตัวของวัฎจักรการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน) เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพาณิชย์ กลุ่มสื่อ และกลุ่มยานยนต์ ในขณะที่หุ้นในกลุ่มพลังงาน และกลุ่มปิโตรเคมีฯ ที่ได้รับประโยชน์การแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งหุ้นในกลุ่มดังกล่าวราคาหุ้นมักจะมีความเคลื่อนไหวผันผวนตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ก็อาจใช้โอกาสจากความผันผวนดังกล่าวเป็นการ Trading ในระยะสั้นได้ โดยหลีกเลี่ยงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบในด้านลบจากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังหลีกเลี่ยง หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศฯ (ICT) โดยเฉพาะที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

ในปี 2561 มองว่าตลาดตราสารหนี้ในภาพรวมมีแนวโน้มที่จะมีความผันผวนเพิ่มขึ้นจากการที่อัตราผลตอบแทนในหลายๆ ประเทศได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในขณะที่ธนาคารกลางหลักๆ ของโลกเริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความเข้มงวดดังกล่าวจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น และสภาพคล่องส่วนเกินที่ยังเหลืออยู่ในระบบจำนวนมาก ทำให้มองว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนน่าจะเป็นไปอย่างจำกัด

ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ไทย คาดว่าอัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจรวมถึงทิศทางดอกเบี้ยโลก ท่ามกลางความผันผวนของการไหลเข้าออกของเงินลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินเฟ้อในประเทศที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า สภาพคล่องส่วนเกินที่ยังอยู่ในระดับสูง และแนวโน้มการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะทำให้มองว่าอัตราผลตอบแทนน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้จะเน้นการวางพอร์ตให้มีการกระจายน้ำหนักไปในตราสารแต่ละช่วงอายุโดยให้มีอายุเฉลี่ยของพอร์ต (Portfolio Duration) อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มตลาดในแต่ละขณะ รวมถึงจะมีการปรับพอร์ตระหว่างตราสารรุ่นที่มีราคาถูกและมีราคาแพงเป็นระยะๆ และลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่ผู้ออกตราสารมีแนวโน้มที่จะได้รับการปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดี