happy on January 28, 2018, 05:50:25 PM
สุชาดาเผย ธุรกิจหนังสือปีจอปรับตัว เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ โซเชียลช่วยผลักดันหนังสือสู่ผู้อ่าน
กลุ่มเด็ก-เยาวชน อ่านเยอะที่สุด วางนโยบายสนับสนุนการอ่านและธุรกิจหนังสืออย่างยั่งยืน


นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)

                    นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยถึงภาพรวมของธุรกิจหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คในปี 2561 ว่า เป็นปีที่ธุรกิจหนังสือจะต้องมีการปรับตัวอย่างชัดเจน โดยเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณการผลิต ซึ่งปัจจุบันกลุ่มผู้อ่านกลุ่มใหญ่คือเด็กและเยาวชน และโซเชียลมีเดียสามารถช่วยผลักดันยอดขายหนังสือให้เติบโตได้อย่างชัดเจน

                    “ภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์จะมีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด สำนักพิมพ์จะพิมพ์งานที่ตนเองถนัดและรู้จักผู้อ่านของตัวเองมากขึ้น โดยเน้นเรื่องของคุณภาพเป็นหลัก มีการรีเสิร์ชวิจัยข้อมูลก่อนการผลิต เมื่อความแม่นยำมากขึ้นความสูญเปล่าก็ลดลง บางสำนักพิมพ์มีการสร้างชุมชนการอ่านหรือแฟนหนังสือของตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่แค่อยากทำอะไรก็ทำ คิดในมุมกลับโดยเอาคนอ่านเป็นหลักว่าอยากอ่านอะไร มีสำนักพิมพ์เกิดใหม่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่เข้าใจคนอ่านของตัวเองและใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียได้ดี หลายสำนักพิมพ์มีการโยนหินถามทางด้วยวิธีการพรีออเดอร์ ในส่วนของสำนักพิมพ์ใหญ่ๆอาจลดสเกลลง แต่มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะฉะนั้นแม้ว่าปริมาณการผลิตจะลดลง แต่คุณภาพของหนังสือจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

                    ที่ผ่านมาธุรกิจหนังสืออยู่ในสภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ซึ่งเกิดจากการผลิตหนังสือตามๆกัน คือหนังสือประเภทไหนขายดีก็จะผลิตตามกัน ทำให้ดีมานด์กับซัพพลายไม่สมดุลกัน ซึ่งจากสถานการณ์ปัจจุบันเชื่อมั่นว่ามีความระวังตัวมากขึ้นและทำในสิ่งที่ถนัดเป็นหลัก ทำให้การโอเวอร์สต็อกลดลง ในส่วนของร้านหนังสือนั้นมีการปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะร้านเชนสโตร์ที่มีหลายสาขา มีการปรับให้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น และในส่วนของการขายหนังสือออนไลน์นั้น ในปีที่ผ่านมายอดขายของหลายสำนักพิมพ์มีการเติบโตเกินร้อยเปอร์เซนต์ จากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้อ่าน ยอดขายหนังสือโดยรวมจึงไม่ได้ลดลง เพียงแต่ไปอยู่ในการขายออนไลน์มากขึ้น

                    เด็กและเยาวชนคือกลุ่มผู้อ่านกลุ่มใหญ่ที่สุด พวกเขาอ่านนวนิยาย มังงะ กราฟฟิคโนเวล ไลท์โนเวล ซึ่งการอ่านก็จะเติบโตไปเรื่อยๆตามช่วงวัย มีเด็กๆที่ตามไปอ่านวรรณกรรมคลาสสิคจากการอ่านไลท์โนเวล ซึ่งโซเชียลมีเดียมีพลังในการสร้างการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก เพราะเป็นพลังในการบอกต่อ”

                    นางสุชาดายังเปิดเผยด้วยว่า ในปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯได้วางแผนการทำงานเพื่อพัฒนาภาพรวมของวงการหนังสือโดยรวม ทั้งในแง่ของธุรกิจและการสร้างการอ่าน






                    “ในงานหนังสือที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯจัดในต่างจังหวัดนั้น จะมีการขยายสเกลเป็นงานระดับภาค และมีการเชื่อมโยงกับประเทศใกล้เคียงในแต่ละภูมิภาค อีกทั้งยังคงสานต่อโครงการ ๑ อ่านล้านตื่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้ซื้อหนังสือเพื่อบริจาค เพื่อสร้างให้เด็กไทยรักการอ่าน จากการได้อ่านหนังสือที่เขาอยากอ่าน ไม่ใช่หนังสือที่ถูกบริจาคมาโดยไม่ได้ตรงกับความต้องการของผู้อ่านอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างมากในการส่งเสริมการอ่าน เพราะหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยและตรงใจผู้อ่านเท่านั้น ที่จะส่งผลต่อการอ่านอย่างมีคุณภาพ  แต่หนังสือที่มาถึงพื้นที่ด้อยโอกาสส่วนใหญ่ มักได้มาจากการรับบริจาคหนังสือ ซึ่งจากสถิติของหน่วยงานที่ได้รับบริจาคหนังสือพบว่ากว่า 70 % เป็นหนังสือที่ไม่มีคุณภาพ ล้าสมัย ต้องคัดทิ้ง ไม่สามารถนำมาจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านได้ 

                    นอกจากนี้ยังมีโครงการใหม่คือ โครงการหนังสือคัดสรร SELECTED BOOKS ที่ร่วมกับสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย  ชมรมบรรณาธิการ และชมรมนักออกแบบภาพประกอบ โดยเป็นการส่งเสริมการอ่านด้วยการคัดสรรหนังสือจากทุกสำนักพิมพ์ เพื่อขยายขอบเขตการอ่านให้หลากหลาย และผู้ผลิตจะได้สร้างสรรค์หนังสือคุณภาพให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม ซึ่งจะส่งผลในทางสร้างสรรค์แก่การวงหนังสืออย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นทางเลือกให้กับห้องสมุดในการจัดหาหนังสือคุณภาพได้หลากหลายมากขึ้น โดยแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆคือ หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน, วรรณกรรม (Fiction), สารคดี (Non-Fiction), เรื่องแปล และนิยายภาพ (Graphic Novel) และในส่วนของต่างประเทศจะมีการก่อตั้งศูนย์ Thai Right Center ขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อระหว่างสำนักพิมพ์กับเอเจนซี่ในการซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ

                    อีกโครงการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ โครงการพวงหรีด 4.0 (หนังสือ 4 ขยะ 0) ซึ่งเป็นงานพัฒนาต้นแบบการรณรงค์การใช้พวงหรีดหนังสือเพื่อสิ่งแวดล้อมและปัญญา โดยเป็นความร่วมมือระหว่างสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯและกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯจะจัดประกวดการออกแบบพวงหรีดหนังสือ เพื่อเป็นต้นแบบให้กับร้านจำหน่ายพวงหรีด โดยในพวงหรีดจะมีหนังสือใหม่สำหรับทุกช่วงวัยที่มีคุณภาพบรรจุอยู่ 4 เล่ม พร้อมกันนั้นก็ประสานงานหาวัดและโรงเรียนที่มีความพร้อมเข้าร่วมโครงการ โดยวัดที่ได้รับพวงหรีดหนังสือจะบริจาคหนังสือนี้ให้แก่โรงเรียนของวัด และโรงเรียนที่ได้รับหนังสือบริจาคก็นำหนังสือนั้นไปจัดมุมหนังสือในห้องเรียนทุกห้องเพื่อให้เด็กสามารถเข้าถึงหนังสือได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วที่สุด ซึ่งถ้าคิดว่าวัดจะได้รับพวงหรีดหนังสือคืนละ 4 พวง โรงเรียนจะได้รับหนังสือใหม่อย่างดีวันละ 8 เล่ม หรือเท่ากับเดือนละ 240 เล่ม หรือปีละ 2,880 เล่ม มากกว่าการจัดซื้อโดยงบประมาณที่ได้จากรัฐหลายเท่า” นางสุชาดากล่าว
« Last Edit: January 30, 2018, 04:01:47 PM by happy »