อพท. จับมือ ธวพ. พัฒนาชุมชน - ผู้ประกอบการ
อพท. จับมือ ธวพ. สนองนโยบายรัฐบาล 4.0 ใช้องค์ความรู้พัฒนาชุมชนเพิ่มรายได้ ตอบโจทย์ “ทำน้อยแต่ได้มาก” เตรียมเดินสายพบชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่นยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ พร้อมปูพื้นฐานความรู้ด้านการจัดทำบัญชีและการเงินทั้งในพื้นที่พิเศษและเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 9 คลัสเตอร์ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และ นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน และสำนักสื่อสารองค์กร เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการทำงานร่วมกับ นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และผู้แทนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธวพ.) ณ ห้องประชุมทับทิม ชั้น 11 อาคาร SME Bank Tower ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ร่วมกับกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธวพ.) หรือ SME Development Bank บูรณาการความร่วมมือพัฒนาศักยภาพชุมชนในพื้นที่พิเศษ และชุมชนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 9 คลัสเตอร์ ในความร่วมมือนี้ ธวพ.จะใช้ศักยภาพด้านความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเงิน การจัดทำบัญชี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด ถ่ายทอดให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ อพท. ให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเสริมศักยภาพเศรษฐกิขชุมชนให้เข้มแข็ง และเปิดโอกาสให้ชุมชนและผู้ประกอบการ SMEs มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนอันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพได้อย่างจริงจัง โดย ธวพ. จะเข้ามาส่งเสริมเรื่องการทำระบบบัญชี และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่แล้วของชุมชนและผู้ประกอบการ ด้วยการยกระดับมาตรฐานให้กับสินค้าและบริการเหล่านั้น ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่ต้องการให้ชุมชนใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้เข้ามาพัฒนาสินค้าและบริการของตัวเอง เพื่อจะได้ “ทำน้อยแต่ได้มาก” ไม่ใช่ “ทำมากแต่ได้น้อย” เหมือนเช่นในอดีต และจุดแข็งของ ธวพ. อีกอย่างหนึ่งคือ มีเงินทุนสนับสนุนที่ชุมชนหรือผู้ประกอบการสามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเริ่มต้นที่ 3% ให้ชุมชนและเอกชนได้มีเงินทุนไปขยายและปรับปรุงกิจการ นางสาววัชรี ชูรักษา ทางด้าน นางสาววัชรี ชูรักษา ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. กล่าวว่า นอกจาก 14 ชุมชนในพื้นที่พิเศษ ที่ อพท. พัฒนาศักยภาพเป็นชุมชนด้านการท่องเที่ยวได้แล้วนั้น จากการลงพื้นที่ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 9 คลัสเตอร์ อพท. ได้ประเมินชุมชนออกเป็น 3 เกรด ตามขีดความสามารถ เพื่อง่ายต่อการวางแผนเข้าไปพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council หรือ GSTC) “จากการลงพื้นที่ใน 9 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว อพท. ใช้เกณฑ์ GSTC ประเมินศักยภาพและความพร้อมให้กับ 120 ชุมชน แบ่งเป็น 3 เกรด เอ บี และซี ตามศักยภาพ โดยพบว่ามีชุมชนเกรดเอ จำนวน 50 ชุมชน ที่มีความพร้อมที่จะเข้าไปต่อยอดการทำตลาด ส่วนชุมชนเกรด บี อพท. และ เอสเอ็มอีแบงก์ ต้องเข้าไปพัฒนาเพิ่มเติม ส่วนเกรดซี คงต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนา ดังนั้นในชุมชนเกรด เอ และ บี น่าจะเป็นเป้าหมายให้ทาง ธวพ. เข้าไปต่อยอดให้ความรู้ด้านการเงินและการตลาด” ทั้งนี้สิ่งที่ ธวพ. จะต้องทำความเข้าใจกับชุมชน คือเรื่องประโยชน์ของการเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ว่าในระยะยาวแล้วชุมชนจะได้ประโยชน์อะไร เพราะในการทำงานด้านการพัฒนาชุมชนของ อพท. จะเน้นย้ำเสมอว่า การทำท่องเที่ยวชุมชนเป็นอาชีพเสริมเท่านั้น แต่ชุมชนจะต้องคงอาชีพและวิถีชีวิตหลักไว้ เพราะถือเป็นอัตลักษณ์ที่มีเสน่ห์การท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่อาชีพเสริมนั้นหากมีการจัดการที่ดีก็มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้มากกว่าอาชีพหลัก อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา อพท. ได้จัดทำโครงการจับคู่ธุรกิจให้ชุมชนกับผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว โดยดำเนินการผ่านสมาคมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย และสมาคมท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ซึ่งทั้ง 2 สมาคมผู้ประกอบการก็เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่อาจต้องการเงินทุนเช่นกัน