MSN on December 11, 2017, 12:34:12 PM






ข่าวประชาสัมพันธ์ รมช.เกษตรฯ เปิดงานสรุปผล “รวมพลังตามรอยพ่อฯ” ปี 5 เชฟรอน-สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง-สจล. ผนึกภาคีทุกภาคส่วน ส่งต่อแรงบันดาลใจ ชวนคนเมืองตามรอยศาสตร์พระราชา

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีงานสรุปผลโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 5 โดยมี  บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พร้อมพันธมิตรทุกภาคส่วน จัดขึ้นเพื่อแถลงผลสำเร็จของโครงการฯ ภายใต้แนวคิด “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” ผ่านการจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี หรือ การลงแขกใน 4 พื้นที่เป้าหมาย เพื่อสร้างต้นแบบความสำเร็จในลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งมีสภาพภูมิสังคมที่แตกต่างกัน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำบทสรุปของโครงการตลอด 5 ปี มาร่วมแบ่งปันแรงบันดาลใจและส่งต่อองค์ความรู้ ให้คนเมืองได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหยุดท่วม หยุดแล้งอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า-คน ให้คงอยู่ต่อไป ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ 9 – 11 ธ.ค. นี้

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า “โครงการ ‘พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน’ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2556 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก จึงเกิดการร่วมมือกันของ 7 ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ภาคศาสนา และสื่อมวลชน เพื่อรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักแก่ประชาชนถึงความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาทั้งในเรื่องของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้แนวคิดโคก หนอง นา โมเดล ตามลักษณะภูมิสังคมและภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่การแก้ปัญหา หยุดท่วม-หยุดแล้งในลุ่มน้ำป่าสักอย่างยั่งยืน ทั้งมุ่งหวังให้ลุ่มน้ำป่าสักเป็น ‘ต้นแบบ’ ในการจัดการดิน น้ำ ป่า ให้เกิดการขยายผลไปยังลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งโครงการฯ ได้ดำเนินงานมาจนถึงปีที่ 5 จากที่มีเป้าหมายรวม 9 ปี เกิดผลสัมฤทธิ์ที่น่าพึงพอใจ สามารถรณรงค์เผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาออกไปตามพลวัตรการขับเคลื่อนของโครงการฯ สร้างคนมีใจ สร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง จนสามารถสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในหลายภูมิภาคมากขึ้นเรื่อยๆ จนขณะนี้โครงการฯ สามารถขยายเครือข่ายออกไปถึง 24 ลุ่มน้ำแล้ว เป้าหมายคือ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันผลักดันต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการหยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืนทั่วประเทศ”

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “โครงการฯ ในปีที่ 5 ดำเนินงานภายใต้แนวคิด ‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ โดยนำวิถีดั้งเดิม ‘เอามื้อสามัคคี’ หรือ ลงแขกตามประเพณีไทย ซึ่งเป็นการรวมพลังผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในพื้นที่ต่างๆ ทำให้ได้ทั้งแรงงานและการแลกเปลี่ยนความรู้ มีเป้าหมายจัดกิจกรรมตามแนวคิด ‘โคก หนอง นา’ โมเดล ใน 4 พื้นที่ 4 จังหวัด ก็เพราะต้องการให้แต่ละพื้นที่เป็นต้นแบบในแต่ละภาคและแต่ละภูมิสังคม อย่าง สจล. คือ ตัวแทนภาคกลาง ตัวอย่างการทำเกษตรในเมือง, ราชบุรี คือ ตัวแทนภาคตะวันตก เครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลอง คนเมืองหลวงที่หันเหไปทำการเกษตร, อุดรธานี คือ ตัวแทนภาคอีสาน เครือข่ายลุ่มน้ำชี เป็นพื้นที่ลูกรัง และเป็นเกษตรกรโดยสายเลือด, และเชียงใหม่ คือ ตัวแทนภาคเหนือ ในพื้นที่ภูเขาและมีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน  โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ของการดำเนินโครงการฯ เราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกปีว่าศาสตร์พระราชาช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม และทำให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เชฟรอนจึงยังคงมุ่งมั่นจะสืบสานพระราชปณิธานต่อไป
เพราะเหมาะสมกับบริบทสังคมไทยและตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน” 

“นอกจากนี้ เชฟรอนและพันธมิตรโครงการฯ ยังคงทำงานตลอดทั้งปี เพื่อขับเคลื่อนขยายผลโครงการฯ และเผยแพร่องค์ความรู้ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ในอีก 2 โครงการหลักๆ คือ โครงการ ‘ฟื้นฟูลุ่มน้ำป่าสักตามรอยพ่อ’ โดยร่วมมือกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ความรู้แก่ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยการจัดอบรมวิทยากรและพัฒนาแกนนำ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่ให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ในเรื่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการฝึกอาชีพเสริม พร้อมทั้งสนับสนุนการสร้างอาคารเรียนและหอพักให้กับโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ส่วนอีกโครงการ คือ จัดทำ ‘โครงการวิจัยการออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย การติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม’ โดยร่วมมือกับศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. (ITOKmitl) เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่ได้มีการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ตามศาสตร์พระราชาด้านการจัดการดิน น้ำ และป่า ใน 3 พื้นที่ คือ จังหวัดลำปาง จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดตาก รวม 300 ไร่ ให้เป็นไปอย่างมีระบบและได้มาตรฐานทางวิชาการ สามารถนำฐานข้อมูลมาประมวลผลได้ครบทุกมิติ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม และมิติทางสภาพแวดล้อม” นายอาทิตย์กล่าวเสริม

ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. หนึ่งในภาคีเครือข่ายภาควิชาการ กล่าวว่า “การไปเอามื้อสามัคคีใน 4 พื้นที่ จะเห็นได้ว่า แต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันกันอย่างชัดเจน ทั้งด้านสภาพดิน น้ำ อากาศ และสภาพภูมิสังคมโดยรอบ รวมถึงเจ้าของพื้นที่ต้นแบบเองก็มีอาชีพ และพื้นฐานทางการเกษตรที่แตกต่างกัน แต่ทุกๆ พื้นที่สามารถใช้ศาสตร์พระราชาเข้าไปประยุกต์ เพื่อแก้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เริ่มจากเป้าหมายแรกที่กรุงเทพฯ ณ แปลงเกษตรสาธิต สจล. โดยมี ผศ.ดร.มลฑล แก่นมณี คณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. เป็นแกนนำด้วยแนวคิด  ‘เพลิน แอเรีย’ มาจากคำว่า PLAY+ LEARN คือ เล่นให้สนุกหรือทำกิจกรรมต่างๆ และเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับการทำเกษตรในเมืองตามศาสตร์พระราชาแก่ประชาชน โดยอนาคตจะให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยของ สจล. และจัดอบรมระยะสั้นๆ ด้วย ส่วนเป้าหมายที่ 2 คือ ไร่สุขกลางใจ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ของครูชัย - สุขะชัย ศุภศิริ ออกแบบโดยใช้แนวคิด ‘คนเบื่อเมือง สู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ’ เนื่องจากกลุ่มลุ่มน้ำแม่กลองเป็นคนที่ทำมาหากินอยู่ในเมือง แต่เบื่อเมืองและอยากจะกลับสู่วิถีธรรมชาติ ครูสุขะชัยก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง โดยพื้นที่นี้ส่วนใหญ่เป็นดินทราย แต่แปลงด้านล่างมีป่ากักเก็บน้ำดี จึงออกแบบดึงน้ำจากป่ากลับไปบนที่สูง นอกจากนั้น จะพิสูจน์ด้วยการสร้างแหล่งอาหารในพื้นที่ดินทราย โดยฟื้นที่นาปลูกข้าวด้วยการหมักดองดิน ถ้าเราทำพื้นที่ตรงนี้ให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ ที่อื่นก็ฟื้นได้ และการที่เป็นครูทำให้มีทักษะถ่ายทอดความรู้ได้ดี สามารถสอนคนอื่นในแง่การฟื้นฟูพื้นที่ที่เสื่อมโทรมได้”

“เป้าหมายที่ 3 คือที่นาข้าวดินปนหินของลุงแสวง ศรีธรรมบุตร หรือลุงแสวงผู้มั่งคั่ง  เครือข่ายสภาคริสตจักรนาเรียง ต.ตาดทอง อ.ศรีธาตุ จ.อุดรธานี ใช้แนวคิด ‘การสร้างต้นแบบชาวบ้าน สู่ความร่วมมือ 7 ภาคี ด้วยพลังเอามื้อสามัคคี’ ซึ่งกลุ่มคริสตจักรนาเรียงมีความเข้มแข็งร่วมกันต่อสู้กับความแห้งแล้งของธรรมชาติ ด้วยศาสตร์พระราชาในการจัดการน้ำ จนพื้นที่เกษตรที่เขียวชอุ่มอุดมสมบูรณ์ และเป็นการนำเสนอ ‘คนต้นแบบ’ ในลุ่มน้ำชี ซึ่งการปลูกเกษตรเชิงเดี่ยวในพื้นที่นาเรียง ก็เป็นปัญหาส่วนใหญ่ ของอีสาน จึงออกแบบเพื่อเปลี่ยนกระบวนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ให้เป็นโคก หนอง นา โมเดล ด้วยทำเกษตรเชิงเดี่ยวแบบผสมผสาน พิสูจน์ให้เห็นว่า ผลผลิตที่ได้จากไร่นาผสมผสานกลับมากกว่ากว่าพืชเชิงเดี่ยวเสียอีก ตรงนี้ก็จะค่อยๆ แก้ปัญหาได้ และ เป้าหมายสุดท้าย คือ ที่ศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราช ดำริ(บวร.) นำโดย พระวีระยุทธ์ อภิวีโร (ครูบาจ๊อก) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม บ.อมลอง ต.แม่สาบ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ผู้นำหลักแนวความคิด “บวร” ของพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาใช้ มีแนวคิด ‘การต่อยอดสร้างพื้นที่ต้นแบบหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง คนอยู่  ป่ายัง อย่างยั่งยืน’ โดยสร้างต้นแบบบนพื้นที่สูงขนาด 5 ไร่ เพราะเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวปกาเกอะญอ ใช้พื้นที่หลายแปลงในการทำไร่หมุนเวียน แต่ปัจจุบันถูกจำกัดให้มีพื้นที่เหลือเพียงแปลงเดียว จึงต้องออกแบบเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าบนพื้นที่จำกัดก็สามารถทำให้ครอบครัวพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน และแก้ปัญหารุกล้ำพื้นที่ป่า ทั้งนี้ การออกแบบพื้นที่โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. ต้องคำนึงถึงความพร้อมของเจ้าของพื้นที่ ต้องมีความมุ่งมั่นทำตามศาสตร์พระราชาอย่างไม่ย่อท้อ มีความคิดริเริ่มและลงมือทำด้วยตนเองโดยไม่รอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความยากลำบากแตกต่างกัน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาได้จริง และการนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จในพื้นที่ต่างๆ นี้ จะทำให้เกิดการรับรู้และขยายผลมากยิ่งขึ้น” ผศ.พิเชฐ กล่าวเพิ่มเติม

อนึ่ง งานสรุปผลโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”ปี 5 เปิดโอกาสให้คนเมืองได้เข้าร่วมกิจกรรมฟรี ในระหว่างวันเสาร์ที่ 9 – วันจันทร์ที่ 11 ธันวาคม 2560 เวลา 10.00 – 22.00 น.  ณ แกรนด์ ฮอลล์ ชั้น G ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ พร้อมชมนิทรรศการตัวอย่างความสำเร็จของบุคคลต้นแบบ และร่วมสนุกกับกิจกรรมสาธิตในวิถีเกษตรอินทรีย์และการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อการพึ่งตนเอง  นอกจากนั้น ยังมีผลิตผลจากเครือข่ายเกษตรกรในโครงการกว่า 40 ร้านค้า ทั้งข้าว ผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน มาให้ชิม และช้อป สินค้าอุปโภคในครัวเรือนจากวัตถุดิบธรรมชาติ สินค้าเกษตร ต้นกล้า เมล็ดพันธุ์ ชุดเพาะผัก สินค้าหัตถกรรม มากมาย  ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน”
































« Last Edit: December 11, 2017, 02:15:42 PM by MSN »

MSN on December 11, 2017, 12:34:49 PM
รมช.เกษตรฯ เปิดงานสรุปผล “รวมพลังตามรอยพ่อฯ” ปี 5 เชฟรอน-สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง-สจล. ผนึกภาคีทุกภาคส่วน ส่งต่อแรงบันดาลใจ ชวนคนเมืองตามรอยศาสตร์พระราชา



ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร(ที่ 4 จากซ้าย) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีงานสรุปผลโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 5 โดยมี นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ (ที่ 4 จากขวา) ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นแกนหลักในการผนึกกำลังเครือข่ายทุกภาคส่วน จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ใน 4 พื้นที่เป้าหมาย เพื่อสร้างต้นแบบความสำเร็จในลุ่มน้ำต่างๆ ตามแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยนำบทสรุปของโครงการตลอด 5 ปี มาแบ่งปันแรงบันดาลใจและส่งต่อองค์ความรู้ ให้คนเมืองได้ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหยุดท่วม หยุดแล้งอย่างยั่งยืน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ด้านการจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า-คน ให้คงอยู่ต่อไป นอกจากนั้น ยังมี ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล (ที่ 3 จากซ้าย) อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และบุคคลต้นแบบใน 4 พื้นที่ ได้แก่ พระวีระยุทธ์ อภิวีโร(ครูบาจ๊อก) (นั่งกลาง) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม จ. เชียงใหม่ ผศ.ดร. มลฑล แก่นมณี (ที่ 2 จากซ้าย) คณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. นายแสวง ศรีธรรมบุตร เครือข่ายสภาคริสตจักรนาเรียง จ. อุดรธานี (ที่ 2 จากขวา) และ อ.สุขะชัย ศุภศิริ เจ้าของไร่สุขกลางใจ จ. ราชบุรี เครือข่ายลุ่มน้ำแม่กลอง (ขาวสุด) พร้อมด้วย พลเอก ธนศักดิ์ เก่งถนอมม้า (ที่ 3 จากขวา) ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และ ดู๋-สัญญา คุณากร (ซ้ายสุด) ร่วมในงาน ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ เมื่อเร็วๆนี้
« Last Edit: December 11, 2017, 12:42:58 PM by MSN »