MSN on December 08, 2017, 09:57:11 PM




ข่าวประชาสัมพันธ์ ACT เปิดเสวนาฯ “ตามหาคน (โกง) หาย” แนะเร่งปลุกพลังสังคมกดดันรัฐ ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม ป้องกันอภิสิทธิ์ชนใช้เงินและเส้นสายลบความผิด 


ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)



บนเวที


ภาพบรรยากาศผู้ฟัง

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดเสวนาหัวข้อ “ตามหาคน (โกง) หาย” ระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อหาแนวทางในการจับคนทุจริตมาลงโทษ แนะลดอิทธิพลทางการเมืองเพื่อไม่ให้ครอบงำกระบวนการยุติธรรมไทย 



นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “ตามหาคน (โกง) หาย” ที่จัดขึ้นโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ว่า ที่ผ่านมาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ได้รณรงค์ต่อต้านการทุจริตในไทยมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการนำคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดการหลบหนีเหมือนเช่นที่ผ่านมา   

ทั้งนี้ กระบวนการยุติธรรมของไทยที่ผ่านมามีความล่าช้า เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนของตำรวจจนถึงชั้นศาล  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อยกระดับในการดำเนินคดีให้รวดเร็วที่สุด จากปัจจุบันที่ใช้เวลานานมาก 10 ถึง 20 ปี

“การบังคับใช้กฎหมายของไทยไม่เข้มข้น มีบุคคลบางคนสามารถหลบหนีคดีได้ เพราะมีเงินและมีสิทธิพิเศษต่างๆ ซึ่งจะต้องหาวิธีและแนวทางในการปรับปรุงและแก้ไข เพื่อให้เกิดกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยเกิดความศักดิ์สิทธิ์” นายประมนต์ กล่าว



ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ประเทศไทยจะต้องมีกระบวนการคิดใหม่ เพราะที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมของไทยยังมีช่องโหว่ให้กับคนทุจริต เพราะระบบงานยุติธรรมของไทยเป็นรูปแบบใยแมงมุมที่ดักได้แต่แมลงตัวเล็กตัวน้อย

ส่วนของเรื่องการไปจับคนบริสุทธิ์มาดำเนินคดีทางอาญานั้น พบว่าทำได้กับคนจนคนไม่มีเงิน  เพราะบุคคลเหล่านี้ไม่มีกำลังแม้จะต่อสู้ หรือหาหลักฐานมาพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งผิดกับบุคคลที่มีหน้ามีตาหรือมีอำนาจหน้าที่และการเงิน

ทั้งนี้ กฎหมายใหม่ได้บัญญัติไว้ว่า กรณีผู้กระทำผิดหลบหนีคดีจะไม่มีการขาดอายุความ เพราะอายุความจะหยุดลง และสามารถพิจารณาคดีได้หลังผู้กระทำผิดมอบตัวหรือถูกจับ หากไม่มารับโทษคดีก็จะติดตัวตลอดชีวิต ซึ่งแนวทางนี้ไม่ได้เป็นการลุกลามสิทธิส่วนบุคคล

สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือเรื่องของอาชญากรในเครื่องแบบที่อยู่ในเสื้อครุย เพราะบุคคลเหล่านี้จะอาศัยอำนาจและหน้าที่ทางกฎหมายในการก่ออาชญากรรม ซึ่งสังคมไทยไม่อาจจะรับรู้ได้อีกทั้งยังปราบปรามได้ องค์กรภาคเอกชนน่าจะช่วยได้เป็นอย่างดี ประกอบกับภาครัฐหากเราได้เบอร์หนึ่ง อาทิ นายกรัฐมนตรี ประธานศาล ประธานรัฐสภา หันมาเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ มีความรักแผ่นดิน สังคม ประชาชน และมีความเมตตาสังคมมากกว่าเมตตาลูกน้องตัวเอง เชื่อว่าสังคมไทยจะดีขึ้น

เรื่องของการปล่อยตัวชั่วคราว ที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับหลักประกัน เจ้าหน้าที่จะต้องทำให้ถูกหลักและ  กฎกติกา ยกตัวอย่างเช่น คดีคนขับซาเล้งขายซีดีถูกเรียกเงินประกันหลักแสนบาท ผู้กระทำผิดเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาไม่มีเงินทอง จะไปหาหลักประกันที่ไหนมาให้ ขณะที่คดีชาวต่างชาติกระทำละเมิดทางเพศเด็กเรียกเงินประกันเพียงหลักแสนบาทซึ่งนับว่าน้อยมาก

ขณะที่โทษปรับในบ้านเราใช้หลักความเสมอภาคไม่ว่าจะคดีเล็กหรือคดีใหญ่ แนวทางแก้ไขจะต้องคำนึงเป็นคดีๆ เพราะความยุติธรรมไม่เท่ากัน ที่ผ่านมาได้เสนอให้มีการปรับเป็นรายได้ หรือประมาณ 10% ของรายได้ก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งจะต้องปรับจากฐานของฐานะทางเศรษฐกิจ

กรณีกฎหมายใหม่ที่ว่าด้วยในเรื่องริบทรัพย์ตามมูลค่า ซึ่งจะต้องขยายมาใช้กับคดีอาชญากรรมซึ่งปัจจุบันมีใช้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่เรื่องของขั้นตอนการสอบสวนจะต้องบันทึกเป็นขั้นตอน เพื่อให้ศาลอุทธรณ์จะต้องทำให้เสร็จภายในหนึ่งปี ศาลฎีกาจะต้องเสร็จภายในหกเดือน

ทั้งนี้ จะต้องปรับอำนาจทางการเมือง โดยไม่ครอบงำระบบยุติธรรมทางอาญาทุกขั้นตอน โดยเฉพาะตำรวจซึ่งเหมือนกับยักษ์ในตะเกียงวิเศษ ทำให้กลไกอำนาจทางอาญาล้ำเกินเหตุเกินผล อำนาจที่สอง คือ เงิน สามารถใช้ผีนวดแป้งได้ มีความซับซ้อนยิ่งกว่าอำนาจทางการเมือง ขณะที่เรื่องของอำนาจเถื่อนในไทยไม่ค่อยปรากฎ 


นายนิวัติ แก้วล้วน อดีตเลขาธิการ สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาของความยุติธรรมไทย คือเรื่องของการอภัยโทษ จากโทษประหารเหลือติดคุกตลอดชีวิต หรือจากติดคุกตลอดชีวิตเหลือเพียง 15 ปี เราจะต้องปรับกระบวนการลงโทษของไทย จะต้องมีการกำหนดการลงโทษของไทยให้มีมาตรฐานตายตัว โทษประหารติดคุกไม่เกิน 17 ปี

ทั้งนี้ มองว่าศาลคอร์รัปชันมีข้อดีคือ เพิ่มระบบริบทรัพย์ของคดีทุจริต โดยศาลหรืออัยการเป็นคนบังคับได้เอง ทั้งนี้ หากไม่มีตัวทรัพย์สินที่ทุจริตไป ศาลก็อาจประเมินราคาและบังคับเอากับทรัพย์อื่นที่จำเลยมี โดย ป.ป.ช. หรืออัยการเป็นคนบังคับคดีได้เอง

ที่ผ่านมาโทษจากการหลบหนี จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท ขณะที่กฎหมายใหม่หากหลบหนีจะต้องได้รับโทษทางอาญา ส่วนการริบทรัพย์จากกฎหมายใหม่ ศาลสามารถริบทรัพย์ได้ หากทรัพย์ไปอยู่กับผู้อื่น ศาลสามารถริบทรัพย์ได้จากบุคคลเหล่านั้น เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น


นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า มีความเชื่อว่าเรื่องสิทธิพิเศษในเรือนจำยังมีอยู่ ซึ่งแต่ละแดนจะมีสภาพการเป็นอยู่ไม่เหมือนกันคนที่มีชื่อเสียงจะอยู่แดนที่ 1 เป็นแดนที่มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าแดนอื่นๆ หรืออยู่ในหน้าแดน ไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกับนักโทษคนอื่นๆ

ขณะที่การเข้ารักษาในสถานพยาบาลในเรือนจำ ปัจจุบันพบว่าเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากมีผู้เข้ารักษาเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยสภาพการเป็นอยู่ในเรือนจำที่มีความยากลำบาก ขณะที่การที่ได้เข้าไปอยู่ในสถานพยาบาลจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทุกคนจึงอยากเข้าไปอยู่ในพื้นที่พิเศษ โดยทั้งคนรวยและคนที่มีเส้นสายที่ไม่ได้ป่วยจริงจะพยายามใช้สิทธิ์นี้เช่นกัน

“ไทยมีนักโทษมากกว่าศักยภาพของเรือนจำที่จะรองรับได้ 2 เท่า มีประชากรในเรือนจำสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก ทำให้คนมีเงินต้องใช้เงินเพราะถูกถ่วงเรื่องไว้จึงต้องยอมจ่าย” นายยิ่งชีพ กล่าว[/size]
« Last Edit: December 08, 2017, 10:07:01 PM by MSN »