news on December 07, 2017, 03:22:00 PM
กูรูโลกชู 5 เทรนด์ช่วยปลดล็อกกับดักธุรกิจ ติวผู้ประกอบการมองหาโอกาสจากช่องว่างของการเปลี่ยนแปลง

จับกระแส Global Trends ปลดล็อคกับดักธุรกิจ สองกูรูระดับโลกด้านเทรนด์ชู “DRIVE framework” ติดจีพีเอสนำทางธุรกิจ มอง 5 เทรนด์สำคัญเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ สังคมผู้สูงวัย, ทรัพยากรที่มีจำกัด, ความไม่เท่าเทียมทางสังคม,ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และธุรกิจกำลังจะเปลี่ยนแปลง แนะหาโอกาสจากช่องว่างให้เจอเพื่อปรับแผนรับการเปลี่ยนแปลง


ดร.ศิริรัตน์ โกศการิกา ผู้อำนวยการหลักสูตร “แบรนด์ผู้นำ” BrandKU EXT  คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความผันผวนที่อาจคาดไม่ถึง และทำให้สถานการณ์ในอนาคตยากที่จะคาดการณ์ได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ดังนั้น การที่จะทำให้ธุรกิจก้าวไปอยู่ในระดับแนวหน้าและปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ทันกระแสของการเปลี่ยนแปลง หรือ “เทรนด์” ล่วงหน้า เพื่อที่จะสามารถเลือกหยิบฉวยโอกาสต่างๆ มาปรับแผนธุรกิจ

หลักสูตร BrandKU มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, SCB SME, ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ได้ให้ความสำคัญเรื่องเทรนด์อย่างมาก จึงร่วมมือกันจัดงานสัมมนา “Growth Strategies: How to DRIVE your business through Global Trend” จับกระแส Global Trends ปลดล็อคกับดักธุรกิจ โดย Mark Esposito, Ph.D. Professor จาก Harvard University ผู้ที่ได้รับเลือกเป็น 1 ใน 30 อันดับนักคิดทางธุรกิจผู้ทรงอิทธิพล จากการจัดอันดับของThinkers 50 Radar และ Associate Professor Terence Tse นักวิชาการจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเชี่ยวชาญด้าน Global Trends

จากการทำงานร่วมกันของ Mark Esposito และ Terence Tse ได้ก่อตั้งแนวคิด "Fast Expanding Markets" รวมทั้งเครื่องมือ “DRIVE framework” ที่เปรียบเสมือน GPS นำทาง ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เดินทางลัดไปถึงยังจุดหมายปลายทางได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ Global Trends เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่ง DRIVE Framework ประกอบไปด้วย D คือ Demographic การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร, R คือ Resources ทรัพยากรที่มีจำกัด, I คือ Inequalities ความไม่เท่าเทียมทางสังคม, V คือ Volatility of IT ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ E คือ Enterprising Dynamics ธุรกิจกำลังจะเปลี่ยนแปลง




ดร. มาร์ค เอสโพสิโต กล่าวว่า แนวคิด Fast Expanding Markets เป็นวิธีคิดที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ต้องการให้มองโลกเป็นก้อนเดียวกัน ไม่ให้มองแยกส่วนเพื่อให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตเต็มที่ โดยเป็นการหยิบเอากระบวนการทางสังคม หรือปรากฎการณ์ทางสังคมขณะนี้มาเป็นฐานหลัก ต่างจากก่อนหน้าที่ยึดข้อมูลของหน่วยธุรกิจต่างๆ หรือมุ่งเน้นในเรื่อง ดาต้า ที่มาจากคนไม่กี่กลุ่มเป็นหลัก โดยลืมความเป็นจริงว่าสังคมเผชิญอยู่กับอะไร ความต้องการของผู้บริโภคคืออะไร ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้ละเลยเรื่องดาต้า แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือพื้นฐานของสถานการณ์ในขณะนั้น

จากจุดนั้นก็นำมาสู่ DRIVE framework ซึ่งเป็นการนำเรื่องพื้นฐานหลักที่โลกเผชิญอยู่ 5 เรื่องหลักมาอยู่ใน framework นั่นคือ DRIVE โดยไม่เอาเรื่องศาสนาและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากมีความอ่อนไหวและแตกต่างกันมากเกินไป แม้จะมีผลกระทบและเป็นเรื่องที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญ เรื่องแรกคือ D คือ Demographic การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เพราะโลกของเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการเติบโตในครั้งนี้จะสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ ทำให้เกิดการขยายตัวของความเป็นเมือง (urbanization) ซึ่งลูกค้าเหล่านี้เป็นที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจ

ปัจจัยต่อมาเป็นเรื่อง R คือ Resources ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด จากจำนวนประชากรที่มากขึ้นและการเติบโตของเศรษฐกิจ จึงต้องพึ่งพาทรัพยากรมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น ต้องใช้แนวทาง "take-make-dispose"  เพื่อให้ใช้ของร่วมกันและเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะต้องลดการใช้แล้วทิ้งเลย ต้องมีการนำกลับมาใช้ใหม่ จนไม่เกิดคำว่า “ทิ้ง” หรือ waste แนวคิดในการผลิตจะเปลี่ยนให้สิ่งของทุกอย่างใช้ได้นานขึ้น โดยทรัพยากรสำคัญคือ น้ำและอาหาร เพราะทุกอุตสาหกรรมต้องใช้น้ำ ขณะที่อาหารเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์

ปัจจัยที่สามเป็น I คือ Inequalities ความไม่เท่าเทียมทางสังคม เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก แม้จะมีการเรียกร้องในเรื่องนี้ แต่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง เพราะความเหลื่อมล้ำมีแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น อายุ หรือ ความมั่งคั่ง ซึ่งค่อนข้างชัดเจนมากที่คนรวยมีโอกาสเยอะกว่า สามารถทำให้เงินงอกเงยได้มากกว่า ส่วนคนมีรายได้น้อยก็แค่มีเงินหมุนเวียนเท่าที่ต้องการใช้จ่าย ไม่มีโอกาสนำไปต่อยอดให้เพิ่มพูน ทำให้เกิดช่องว่างมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มชั้นกลาง ที่มองกันว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในความจริงอาจมีรายได้ลดลงมากกว่า จากการที่มีเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่คนกลุ่มนี้

“โดยเฉพาะพวกมนุษย์เงินเดือน เช่น พนักงานธนาคาร ที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่ดิจิทัลแบงกิ้ง ใช้เทคโนโลยีทำงานแทน คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มแย่ลง ส่วนคนชั้นแรงงานที่เครื่องจักรมาแทนที่ได้ก็จะหายไป จึงต้องดูว่าคุณภาพชีวิตเหล่านี้จะเป็นอย่างไร แต่อาจมีแรงงานบางส่วนที่ยังอยู่รอด เช่น พนักงานทำความสะอาดในโรงแรม เทคโนโลยีอาจแทนที่ได้ยาก เราสามารถพิจารณาได้เลยว่าในอนาคตอะไรจะอยู่ อะไรจะหายไป ซึ่งไม่เสมอไปว่าคนที่มีการศึกษาสูงแล้วงานจะยังคงอยู่ ดูเลยว่างานไหนเครื่องจักรแทนได้ก็จะหายไป หรือบางครั้งเครื่องจักรแทนได้แต่ต้องลงทุนสูงมีราคาแพง งานเหล่านั้นจะยังคงอยู่ด้วยเรื่องของความคุ้มค่า”

เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการทำงาน V คือ Volatility of IT จึงเป็นปัจจัยอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ โดยปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมีการเติบโตอย่างมาก ทำให้โลกสามารถเชื่อมถึงกันได้อย่างรวดเร็ว เช่นปัจจุบันนี้ เทคโนโลยี AI หรือ Artificial intelligence (ปัญญาประดิษฐ์) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มาแรงที่สุดในตอนนี้ คงต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คือเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในหลายๆ ธุรกิจเเละด้านอุตสาหกรรม

สำหรับปัจจัยเรื่องสุดท้าย E คือ Enterprising Dynamics ธุรกิจกำลังจะเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเทคโนโลยีไม่ได้เปลี่ยนแค่การดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน แต่ยังส่งผลกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจอีกด้วย ซึ่งบริษัทจะต้องต้องปรับตัวให้ทัน โดยโมเดลของธุรกิจในอนาคตก็จะเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วจนตามแทบไม่ทัน ดังนั้น ทฤษฎีทางธุรกิจ หรือการตลาดต่างๆ จะอยู่ไม่นาน แต่สิ่งที่ยั่งยืนคือ DRIVE framework เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นภาวะของมนุษย์ เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้น

“เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ต้องมองภาพให้ออก และมองถึงโอกาสที่เปลี่ยนไปให้ได้ อย่ายึดติดกับสูตรทางธุรกิจ เพราะมันจะเปลี่ยนไปตลอด แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือ ให้กลับมามองตลาดจากพื้นฐานของความจริงว่าเป็นอย่างไร ต้องนำปัจจัยตาม DRIVE framework มาคิดนำเสนอบริการ หรือผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ปัจจัยภายในที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้คือ เรื่องมนุษย์ เรื่องทรัพยากรที่มีจำกัด ส่วนปัจจัยภายนอกคือ ความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม เทคโนโลยีที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ”

ส่วนการทำธุรกิจ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจะขับเคลื่อนทุกอย่างให้เปลี่ยนไปพร้อมๆ กัน มีหลายคนพูดว่าเอสเอ็มอีจะปรับตัวได้ดีกว่าองค์กรใหญ่ แต่ในความเป็นจริงที่เจอมาไม่ใช่เลย ปรากฎว่าองค์กรใหญ่เปลี่ยนเร็วกว่าองค์กรเล็ก เพราะมีความพร้อมมากกว่า มีระบบที่ทำให้ทุกคนพลิกไปอย่างรวดเร็ว อย่างในประเทศจีนเปลี่ยนเร็วมาก ตอนนี้ข้อได้เปรียบของจีนไม่ใช่เรื่องรวยกว่า แต่มีการปรับตัวได้เร็วกว่ายุโรป มีความเข้าใจเทคโนโลยีมากกว่ายุโรป
« Last Edit: December 07, 2017, 03:24:40 PM by news »