happy on December 05, 2017, 05:58:01 PM
“ศิลปะ” ที่มากกว่าการเรียนเพื่อรู้



                    “Wonderful Days: เมื่อได้พบกันและวันอัศจรรย์ของเรา” ผลงานจากกระบวนการเรียนรู้ศิลปะ ของ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เน้นกระบวนการเรียนศิลปะผ่านการปฏิบัติ




รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี (ที่ 2 จากซ้ายมือ) คณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมชมและให้กำลังใจ

                    เสน่ห์ของละคร คือ การเป็นสื่อสดที่มนุษย์ได้สื่อสารและส่งผ่านพลังงานถึงกันระหว่างผู้ชมกับนักแสดง ณ เวลานั้น ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน การแสดงละครแต่ละครั้งจึงต้องมีการซักซ้อมและเตรียมตัวอย่างหนัก ซึ่งเรามักเห็นในระดับมหาวิทยาลัย หรือ ผู้ที่มีความสนใจเฉพาะกลุ่ม และแน่นอนว่าปกติแล้วไม่ได้อยู่ในบทเรียนทั่วไปของนักเรียนระดับมัธยม แต่ละครเวที “Wonderful Days: เมื่อได้พบกันและวันอัศจรรย์ของเรา” ใน "เทศกาลละครกรุงเทพ 2560 (BTF 2017)" นั้นกลับเป็นผลงานที่น้องๆ ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำความรู้จากกระบวนการเรียนรู้กลุ่มประสบการณ์ฯสุนทรียะทางศิลปะ (Appreciation of Arts) มาประยุกต์ใช้จริง บนเวทีจริง สร้างความแปลกใหม่ต่อกระบวนการเรียนรู้ศิลปะในโรงเรียนมัธยม

                    เพราะศิลปะไม่ได้เรียนเพื่อรู้เนื้อหาเพียงอย่างเดียว การเรียนศิลปะของ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปกครองคุ้นเคย กลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้สุนทรียะทางศิลปะ จึงออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ศิลปะปฏิบัติ เป็น 4 ประสบการณ์ ได้แก่ 1)ศิลปะการแสดงและการละคร 2)ดนตรีและจังหวะ 3)ทัศนศิลป์ และ 4)การออกแบบและนวัตศิลป์ เพื่อให้ศิลปะทั้ง 4 ศาสตร์ นำพาผู้เรียนไปค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง ผ่านโจทย์ที่เอื้อโอกาสให้ผู้เรียนได้ค้นหา ทดลอง สร้างสรรค์ และนำเสนอผลงานเพื่อการพัฒนาต่อยอดในชั้นเรียน ฝึกฝนกระบวนคิดและพัฒนาทักษะในการสร้างงานศิลปะ เน้นทำความเข้าใจผ่านการลงมือปฏิบัติจริงมากกว่าการท่องจำ

                    ความน่าสนใจ คือ รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มประสบการณ์ฯ ศิลปะ ผู้เรียนแต่ละห้อง (มีนักเรียน 4 ห้อง) จะปฏิบัติการศิลปะต่างศาสตร์กัน แต่จะได้เรียนรู้จนครบทั้ง 4 ศาสตร์ในกลุ่มประสบการณ์ฯ ศิลปะ ภายใน 1 ปี การศึกษา


อาจารย์นิธิ จันทรธนู (ครูแอม)

                    อาจารย์นิธิ จันทรธนู (ครูแอม) ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่ายและผู้ปกครองสัมพันธ์ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกหนึ่งบทบาท คือ ครูผู้สอนวิชาศิลปะการแสดงและการละคร ของกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้สุนทรียะทางศิลปะ ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ส่วนตัวเชื่อว่าการสอนศิลปะไม่ว่าจะศาสตร์ใดก็ตาม มันอาจจะมีแค่ “แนวคิด” และ “เป้าหมาย” ส่วนวิธีการที่พาไปก็เป็นเครื่องมือของครูคนนั้นๆ แต่ระหว่างทางสิ่งสำคัญคือ เราต้องอยู่กับปรากฏการณ์ปัจจุบันที่เด็กเป็น และประเมินการเรียนรู้ที่เขาสะท้อนออกมา ว่าแต่ละคนโดดเด่นในเรื่องใด การที่เราไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด หรือทำเท่านี้ได้ถึงจะดี แต่บอกเขาว่าให้ลองทำดู ค้นหาดูจากโจทย์ที่ครูจะพาไป เมื่อถึงจุดนั้นเด็กจะทำได้หรือไม่ได้ เขาก็จะได้เห็นตัวเองมากขึ้น ความท้าทายสำคัญจึงตกอยู่กับครูผู้สอนว่าจะต้องทำอย่างไรให้กระบวนการจัดการเรียนรู้ของแต่ละคนออกมาสัมพันธ์กัน

                    ครูแอม เล่าว่า ก่อนเริ่มกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มประสบการณ์ เทอมนี้เราตั้งใจใช้โจทย์ละครเวทีเป็นแก่น เพราะมองว่าศิลปะการละครเป็นศาสตร์ที่บูรณาการศิลปะทุกแขนงมาใช้ โดยเลือกเรื่องราวของสัตว์ 4 ทิศ (กระทิง เหยี่ยว หมี และหนู) ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ศิลปะผ่านการรู้จักตัวตนด้วยกลไกของสัตว์ 4 ทิศ ให้เขาเห็นตัวเอง เห็นคนอื่น เห็นเอกลักษณ์และความต่างของคน แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้หมายความว่าเห็นตัวเองเป็นอย่างไร แล้วจะนำสิ่งนั้นมาเป็นข้ออ้างในการทำสิ่งไม่ดี แต่ต้องให้เด็กรู้ว่านี่คือสิ่งสมมติที่ทำให้เราเข้าใจกันและกัน และเราเป็นมนุษย์ไม่ใช่สัตว์ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความยั้งคิดเวลาทำงานกับเพื่อนๆ ฝึกสังเกตจังหวะของชีวิตของคนอื่น ต่อยอดสู่การมีศิลปะในการใช้ชีวิตเพื่อสันติ ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญของกระบวนการนี้ ดังนั้นเรื่องราวนี้จะถูกนำไปออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใน 4 ศาสตร์ ของกลุ่มประสบการณ์ซึ่งจะมีมิติความลึกแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เด็กได้ฝึกทักษะและเข้าใจเอกลักษณ์ของสัตว์ทั้ง 4 ชนิด เช่น เด็กที่เรียนละครก็จะถูกทำกระบวนการให้เข้าใจสัตว์ทั้ง 4 ทิศ เด็กที่เรียนดนตรีก็จะถูกทำความเข้าใจด้วยการออกแบบเสียงให้เป็นไปตามสัญญะของสัตว์ 4 ทิศ ส่วนเด็กที่เรียนทัศนศิลป์ก็จะได้ออกแบบหน้ากาก และเด็กที่เรียนการออกแบบจะได้ทำของที่ระลึกและนำไปขายในเทศกาล การมีส่วนร่วมในทุกส่วนของเด็กๆ ทำให้เขารู้ว่าไม่มีใครสำคัญกว่าใคร เพียงแต่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ให้ดีที่สุด และต้องรู้จักให้เกียรติกันและกัน ซึ่งทุกคนก็ภูมิใจที่สามารถทำออกมาให้ผู้ชมทุกคนประทับใจได้ แม้หลายคนก่อนขึ้นเวทีจะมีอาการตื่นเต้นก็ตาม

                    แม้จะผ่านไปเพียง 1 เทอม แต่ระหว่างกระบวนการจัดการเรียนรู้ศิลปะรูปแบบนี้ทำให้พบว่า “ศิลปะทำให้พวกเรารู้จักและยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย” เพราะแต่ละคนมีความคิด ความรู้สึก และการแสดงออกต่อสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน “ศิลปะทำให้พวกเราได้รู้จักตัวเอง” จากความสุขและความสนุกเมื่อได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ความรักทำให้จิตใจละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะสัมผัสความงามซึ่งนำพาให้เกิดความรู้สึกกระทบใจ เพิ่มพูนเป็นความรู้ที่ทำให้เห็นความจริงของมนุษย์ ดังนั้น “สุนทรียะทางศิลปะ” อาจไม่ได้เป็นเพียงวิชาเรียน แต่เป็นศาสตร์ที่ทำให้เรามีโอกาสสัมผัสความจริงเล็กๆในชีวิต คุณภาพของความรู้สึก ซึ่งนำไปสู่คุณภาพของการมีชีวิตที่เป็นสุข


ช่วยกันตัดเย็บเครื่องแต่งกายให้นักแสดง


ร่วมกันออกแบบฉากละครเวที


การแสดงละครเวที Wonderful Days เมื่อได้พบกันและวันอัศจรรย์ของเรา


การแสดงละครเวที Wonderful Days เมื่อได้พบกันและวันอัศจรรย์ของเรา


การแสดงละครเวที Wonderful Days เมื่อได้พบกันและวันอัศจรรย์ของเรา